น้องปลา

น้องปลา

ถ้าอยู่ดีๆ มีปลาแซลมอนขนาดใหญ่ จำนวนมากมายถึงเกือบ 1 ล้านตัว ถูกปล่อยลงไปในท้องทะเลพร้อมๆกัน คุณว่าสถานการณ์ จะเป็นเช่นใด

เหตุการณ์เช่นนั้น เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศชิลี่ ประเทศซึ่งเราพูดถึงกันบ่อยๆในช่วงวิกฤตถ้ำหลวงนั่นแหละครับ แต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องคนติดอยู่ในเหมืองใต้ดิน กลายเป็นเรื่องปลาราคาแพง ขนาดใหญ่ใกล้รับประทาน น้ำหนักเฉลี่ยถึงตัวละ 3.4 กิโลกรัม ถูกปล่อยให้เป็นอิสระจำนวนมากมาย

ปลาเหล่านี้คือปลาแซลมอน ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มของบริษัทระดับโลกแห่งหนึ่ง บริเวณชายฝั่งทะเลของชิลี่ พวกมันถูกพายุรุนแรงและฝนที่ตกลงมามากมาย กวาดออกจากฟาร์ม ว่ายลงไปในท้องทะเลพร้อมๆกัน

ข่าวที่ออกมาช่วงแรก บอกว่ามีจำนวนรวมกันถึง 900,000 ตัว และบริษัทเจ้าของฟาร์มรีบจับกลับมาได้ 250,000 ตัว แต่ผ่านไปหนึ่งเดือน ตัวเลขใหม่บอกว่า พวกมันไหลออกสู่ท้องทะเล 650,000 ตัว และจับขึ้นมาได้เพียง 40,000 ตัว หรือ 5% เท่านั้น

ใครที่อ่านถึงตรงนี้ คงคิดว่าหวานหมูพวกเราชาวประชาแล้วละ ที่อยู่ดีๆก็มีปลาราคาแพง ให้จับมาบริโภคได้ฟรีๆ หรือไม่ก็ซื้อหาจากชาวประมงมาบริโภคได้ ในราคาถูก เพราะปลามีจำนวนมากมายให้จับได้ง่ายๆ

แต่เหตุการณ์มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะนี่คือปลาแซลมอนเลี้ยง ที่อยู่ในระหว่างการฉีดยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการเลี้ยง และการฉีดยายังไม่ครบคอร์ส ดังนั้นปลาเหล่านี้จึงยังมีสารปฏิชีวนะอยู่ในร่างกาย ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และระบบนิเวศ

ปลาที่สูญหายไปจำนวนมหาศาลขนาดนั้น จะมีมูลค่ารวมกันเป็นจำนวนเท่าใด รายงานไม่ได้ระบุไว้ แต่แน่นอนว่าบริษัทได้ทำประกันภัยไว้ และจะได้รับชดใช้ความเสียหายส่วนหนึ่งจากบริษัทประกัน

รายงานข่าวช่วงหลังบอกว่า ปลาที่หายไปในท้องทะเล ซึ่งเป็นปลาที่ฉีดยาปฏิชีวนะยังไม่ครบคอร์ส และยังไม่ถึงจุดปลอดภัยสำหรับการบริโภค ยังคงเวียนว่ายกันอยู่มากถึง 463,000 ตัว

และยังมีรายงานข่าวระบุว่า มีการแอบซื้อขายปลาแซลมอนกันอย่างผิดกฏหมาย จำนวนมากในช่วงเวลานี้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง ต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่วนคนขี้สงสัย ก็อาจสงสัยได้ว่าปลาเหล่านี้บางส่วน จะถูกจับและแอบส่งออกไปขายให้ประเทศต่างๆแถวเอเชียบ้างหรือไม่นะ

นอกจากยาปฎิชีวนะแล้ว ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของระบบนิเวศ คนที่ไม่มีความรู้อย่างพวกเรา คงคิดว่าปลาที่ว่ายลงไปในทะเล จำนวนมาก แล้วจะเกิดความเสียหายอะไร เพราะท้องทะเลก็ออกกว้างใหญ่ และปลาก็เป็นสัตว์น้ำอยู่แล้ว ถึงแม้ในตัวมันจะมียาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่ก็ตาม ถ้ามนุษย์ไม่นำไปบริโภค ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

แต่กลุ่มกรีนพีสของชิลี่บอกว่า ปลาแซลมอนที่หลุดไปจำนวนมาก ในที่สุดก็คงตายไปในท้องทะเล และจะไปเพิ่มปริมาณแอมโมเนีย ซึ่งก่อให้เกิด “สาหร่ายทะเล” เพิ่มขึ้นมากมาย นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังไม่เห็นด้วย ที่บริษัทผู้เลี้ยงบอกว่ามันเป็นปลาสายพันธ์จากมหาสมุทรแอตแลนติก เติบโตในฟาร์มด้วยการเลี้ยงอาหารจนเคยชิน และออกหาอาหารเองแทบไม่เป็นแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ปลาเหล่านี้จะต้องออกหาเหยื่อเพื่อความอยู่รอด และอ้างว่า ปลาแซลมอน ที่ถูกกวาดลงไปในทะเล ในช่วงปี 1995-1997 นั้น พบว่าประมาณ 20% ของปลาเหล่านั้น มีเศษอาหารที่เป็น “ปลาท้องถิ่น” ติดอยู่ในกระเพาะของพวกมัน พวกเขาบอกว่า ตรงนี้ทำให้กระทบระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของท้องทะเลชิลี่แน่นอน

กฏหมายชิลี่ระบุว่า ภายใน 30 วัน บริษัทผู้เลี้ยง จะต้องจับปลากลับคืนมาให้ได้ อย่างน้อย 10% ถ้าไม่ได้จำนวนดังกล่าว รัฐบาลก็จะประกาศว่าได้เกิด “การทำลายสภาพแวดล้อม” ขึ้นแล้ว ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะทำให้บริษัทเสียหายหนักยิ่งขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงประกาศให้รางวัลชาวประมง ใครจับได้ จ่ายตัวละ 350 บาท

แต่จนถึงบัดนี้ เกิน 30 วันแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นรายงานเพิ่มเติมว่าบริษัทจับปลากลับคืนมาได้เกิน 10% หรือไม่ เข้าใจว่าน่าจะไม่ถึงจำนวนดังกล่าว ซึ่งบริษัทก็คงได้รับผลกระทบทางการเงินแน่นอน

สำหรับคนไทยเรา เวลาไปทานอาหารบุฟเฟ่ ตามโรงแรมต่างๆ ผมสังเกตว่าคนจำนวนมาก รวมทั้งตัวผมเองด้วย เริ่มต้นก็มักจะไปมะรุมมะตุ้ม เข้าแถวกันตรงอาหารญี่ปุ่นนั่นแหละ เพราะเดี๋ยวนี้รสนิยมของพวกเราคนไทย ต่างคุ้นเคยสนิทสนม และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปลาดิบชนิดต่างๆไปแล้ว และปลาดิบที่พนักงานต้องนำมาเติมบ่อยๆ ก็คือเจ้าแซลมอนเรานี่แหละ

แต่ระยะหลังๆ เพื่อนฝูงหลายคนรวมทั้งผมเอง ค่อนข้างจะไม่กล้าเสี่ยง เพราะเห็นคลิปแพทย์ผ่าตัดเอาพยาธิมากมายออกมาจากลำใส้คนทานอาหารดิบ ดูแล้วเสียววูบ ไม่แน่ใจว่าปลาดิบที่เราเห็นว่าน่ารับประทานนั้น ถึงแม้มันจะดูสด แต่การเก็บรักษา และความเย็น รวมทั้งความสะอาดของคนที่จับต้อง ฯลฯ เป็นเช่นใด เพราะทำงานแบบไทยๆ บางทีบางรายก็ไม่ค่อยครบมาตรฐานนัก

ประกอบกับมีรายงานออกมาบ่อยๆว่า ปลาแซลมอนเลี้ยงของฟาร์มจากประเทศต่างๆทั่วโลก ก็ไม่น่าไว้วางใจเช่นกัน ตรงนี้จึงต้องตัดสินใจกันเอาเองว่า ความเสี่ยงในการรับประทาน จะมีมากน้อยเพียงใด เพราะทุกอย่างก็มีความเสี่ยงกันทั้งนั้นแหละครับ

เรื่องอาหารอร่อยนั้นเป็นความภาคภูมิใจของไทยอยู่แล้ว แต่เรื่องความปลอดภัยของอาหาร กลับเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเรายังละเลยอยู่มาก ผู้บริโภคยังต้องเสี่ยงอันตรายกันมากมาย และมีโอกาสป้องกันตนเองได้น้อยมาก เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องเข้มข้นในเรื่องนี้อีกหลายเท่าเลยทีเดียว

มาถึงตรงนี้ ผมจะสรุปอย่างไรดีล่ะ ก็ได้เล่าเรื่องพายุฝนรุนแรง เล่าว่าเมื่อน้ำมา เลยกวาดปลาลงทะเลไปมากมาย แล้วปัญหาต่างๆก็ตามมา งั้นคงต้องสรุปกันง่ายๆว่าเรื่องของ น้องน้ำ และน้องปลา มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะ

แต่ถ้าเป็นเรื่อง น้องปู ที่ท่านนายกฯไปดูมา ผมก็ไม่รู้ว่ายากหรือง่ายนะคร้าบ