Internet of Things (IoT)

Internet of Things (IoT)

กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์

และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) คือ 1 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ ประเทศไทย 4.0”  รัฐบาลไทยได้ผลักดันแนวความคิดเศรษฐกิจดิจิทัลโดยการใช้ประโยชน์จากการสื่อสาร การเก็บวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อช่วยพัฒนาและสนับสนุนภาคส่วนอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย เพื่อรองรับการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) อินเตอร์เน็ตอุตสาหกรรม (Industrial Internet) และการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming)

เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “อินเตอร์เน็ต” กันก่อน

อินเตอร์เน็ตคือ โครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลข่าวสารอันประกอบขึ้นจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มาเชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมากจากทั่วโลก โดยเครือข่ายแห่งสาย (network of networks) ที่ว่านี้จะอาศัยภาษาคอมพิวเตอร์กลางร่วมกัน มีมาตรฐานกลาง (standard protocol) ในการรับส่งข้อมูลร่วมกัน ทำให้คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ในเครือข่ายสามารถสื่อสารกันได้ อันจะทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของอินเตอร์เน็ตขึ้น เช่น ทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน และอำนาจในการควบคุมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารใด ๆ นั้นอยู่ในมือของผู้ใช้ (user) มากที่สุด

เมื่ออินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมากตามไปด้วย โดยจะเห็นได้จากการใช้คำว่า “smart” เช่น smart home, smart network หรือ smart device เป็นต้น กล่าวได้ว่าสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในปัจจุบันสามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านการสื่อสารทั้งแบบไร้สายและใช้สาย หรือพูดง่าย ๆ ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถสื่อสารพูดคุยกันเองได้ โดยใช้ศัพท์คำว่า “Things” แทนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นั่นเอง

เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) หรือ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง หมายถึงการที่สิ่งต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมการใช้งานและสั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การสั่งเปิด-ปิดรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องมือทางการเกษตร อาคารบ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เป็นต้น จากการคาดการณ์ ในปี ค.ศ. 2020 สิ่งต่างๆ กว่าแสนล้านชิ้นจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยระบบ IoT ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วไปจะเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมสิ่งของต่าง ๆ ทั้งจากในบ้านและสำนักงานหรือจากที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ก็สามารถก่อให้เกิดทั้งประโยชน์และความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน เพราะหากระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ดีพอจะทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามากระทำการที่ไม่พึงประสงค์ต่ออุปกรณ์ข้อมูลสารสนเทศหรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลได้ ดังนั้น การพัฒนาไปสู่ Internet of Things จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนามาตรการและเทคนิคในการรักษาความปลอดภัยไอทีควบคู่กันไปด้วย

จะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยี IoT ไปใช้ในการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 นั้นทุกภาคส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดแนวทางที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น โดยจำเป็นต้องจัดการคลื่นความถี่ (Radio Spectrum) ที่มากขึ้นเพื่อรองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ให้ความสำคัญในด้านอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังต้องมีการจัดการด้านความมั่นคงของระบบไซเบอร์ (cyber security) และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน (privacy) ตลอดจนการกำกับดูแลที่รองรับกิจการในรูปแบบใหม่ ๆ อีกด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ได้ประกาศให้มีการใช้งานคลื่นความถี่ 920-925 เมกะเฮิรตซ์ ในแบบ unlicensed ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อรองรับเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทย เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นย่านความถี่ที่ได้รับความนิยมสูงสำหรับการใช้งาน IoT ในต่างประเทศ จึงคาดว่าจะช่วยทำให้เกิดการประยุกต์ใช้งาน IoT อย่างกว้างขวางและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ได้ ในขณะเดียวกันนั้น กสทช เองก็ควรทำการศึกษาด้านความมั่นคงของระบบไซเบอร์ (Cyber security) ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดใช้กับการกำหนดทิศทางของการกำกับดูแลด้านความมั่นคงของระบบไซเบอร์ของอุปกรณ์ IoT ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อีกทั้งเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงาน กสทช. ควรคำนึงถึงการพัฒนาทางด้านการให้ความรู้และความเข้าใจกับผู้ที่มีโอกาสใช้งานโครงข่าย IoT รวมถึงการชี้ให้ประชาชนทั่วไปเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดจาก IoT ควบคู่ไปกับแนวทางการกำหนดทิศทางการกำกับดูแลด้านความมั่นคงของระบบอุปกรณ์ IoT ต่อไป

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์