ทำไมอเมริกาใต้เลิกยึดอำนาจกันแล้ว

ทำไมอเมริกาใต้เลิกยึดอำนาจกันแล้ว

ละตินอเมริกา เคยมีการเมืองที่คล้ายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายอย่าง โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นแทบจะถอดแบบกันมาเลย

 เช่น ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ประเทศไม่เจริญ โกงกินทุกหย่อมหญ้า ต้องมีการปฏิวัติยึดอำนาจบ่อยๆ แต่ปัจจุบันไม่มีอีกแล้วแบบนี้ ถึงปัจจัยจะยังเอื้อให้มีคนอ้างก่อเหตุเอาระบอบอื่น แต่ประชาธิปไตยได้ปักหลักอย่างเหนียวแน่นในทวีปอเมริกาใต้แล้ว วุ่นวายขนาดไหนก็ไปเลือกตั้งอยู่ดี องค์ประกอบที่เอื้อให้ประชาธิปไตยปักธงในภูมิภาคนี้อย่างเข้มแข็งและไม่กลับไปน้ำเน่าอย่างเดิมอีกคือ การตระหนักของประชาชน การผู้นำมีอำนาจมากขึ้นแต่มีระบบตรวจสอบชัดเจน และฝ่ายตุลาการทำหน้าที่อย่างยุติธรรม แต่การที่จะเกิดองค์ประกอบอย่างนี้ขึ้นได้ ปรากฏการณ์บางอย่างต้องเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

อเมริกาใต้เป็นหลังบ้านของสหรัฐฯ อยู่ภายใต้การบงการ ด้านนโยบายต่างประเทศกันมาไม่มากก็น้อย ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่คลุกคลานกันมาหลังจากได้เอกราชจากเจ้าอาณานิคม เมื่อศตวรรษที่ 19 พวกที่ปกครองประเทศมักเป็นพวกคนชั้นสูงผิวขาวใช้ระบอบประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดีก็จริง แต่ก็มักมีแต่พวกตนวนเวียนเป็นบริหารประเทศ เรียกว่าเป็นระบอบคณาธิปไตยก็ได้ (Oligarchy) มีหลายคราวที่มีการลุกขึ้นมายึดอำนาจบ้าง เช่น โบลิเวีย มีถึง 17 ครั้ง ยิ่งในยุคสงครามเย็นรุนแรง ต้องใช้แนวทาง “ขวาพิฆาตซ้าย” จัดๆ ชาติประมาณครึ่งหนึ่งของทวีปเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม อยากทำอะไรก็ออกกฎหมายตามใจ ไม่ฟังเสียงใคร แต่เรื่องเหล่านี้มันเป็นอดีตตั้งแต่ยุค 1990 แล้ว ทุกวันนี้ทั้งประชากรของทั้ง 18 ประเทศละตินอเมริกากำลังมีความสุขกับประชาธิปไตยมาก

Carlos Pereira ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชั้นนำของบราซิล ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากโลกตะวันตกได้ถ่ายทอดความรู้ให้ผมฟังถึง 20 ชั่วโมง ที่วิทยาลัยการทัพบก บราซิล เขานำทฤษฎีมานำเสนออย่างน่าเชื่อถือโดยมีสถิติและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์รองรับ กราฟและตัวเลขจำนวนมากชี้ว่า 30 ปีมานี้ ละตินอเมริกาเจริญขึ้นเพียงไร ภายใต้ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ประชาชนพอใจจนไม่คิดจะหันไปหาระบอบอื่นอีก แม้สถานการณ์ตามถนนที่เวเนซุเอล่าจะย่ำแย่มาก และมีผู้นำหลายคนอยากต่ออายุตนเองในอำนาจก็ตาม

เรื่องมันต้องเริ่มต้นที่ภาคประชาชนที่เกิดความรู้สึกว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่สร้างความเดือดร้อนให้เขาถึงขนาดไม่ไหวแล้ว แต่ไม่ใช่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพิเศษอื่น ในที่นี้หมายถึงเรื่องอื้อฉาวที่โกงกินแบบรับไม่ได้ ความสำเร็จของเพื่อนบ้านที่แซงหน้า และปัญหาการเมืองกระทบพวกเขาเดือดร้อนตรง พวกเขาจึงจะสนับสนุนประชาธิปไตยโดยไม่ยอมรับระบบอื่น

ปรากฏการณ์ 3 อย่าง ที่ทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นในใจคนได้ คือ 1.การที่การเลือกตั้งอันเป็นหัวใจหลักของการเข้าสภา มักจะสูสีกัน ทำให้เกมสนุก 2.ประชาธิปไตยคือ การแข่งขันที่มาพร้อมกับความไม่แน่นอน แต่ผู้แพ้ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้นั้น ไม่ใช่ดื้อดึงเหมือนคอสตาริกาครั้งหนึ่งในอดีต ที่การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองนำไปสู่สงครามกลางเมืองตายไป 3 หมื่น และ 3.ผู้แพ้มีความหวังที่จะชนะในเกมการเลือกตั้งสมัยหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลว่ายังไงก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งให้ได้

ระบบประธานาธิบดีละตินอเมริกาเคยอ่อนแอ เพราะ ส.ส.มีอำนาจสูงขณะที่ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจมากนั้น แต่เมื่อ ส.ส.เกิดตาสว่าง มอบอำนาจให้ประธานาธิบดีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านงบประมาณ แล้วตนเองหันไปตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มแข็ง ทำให้เกิดการปลดล็อคหลายอย่าง รัฐบาลทำงานได้ง่ายขึ้น ถ้าโดนจับได้ว่าทุจริตก็โดนปลดไป แต่สถาบันประชาธิปไตยยังคงอยู่ ส.ส.ไม่ยอมเป็นตรายางให้ประธานาธิบดีเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง

ความเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของข้าราชการและนักการเมืองเป็นตัวที่ทำให้สถาบันที่เกี่ยวข้องดำรงอยู่  ศาลสูงเป็นตัวแทนที่คนนับถือมากเพราะไม่เข้าข้างใคร ที่บราซิลจับนักการเมืองติดคุกไปแล้ว 25 คน ไม่เว้นแม้แต่ประธานาธิบดีและประธานรัฐสภา เมื่อประธานศาลฎีกาเดินเข้าภัตตาคาร คนตบมือให้ทั้งร้าน ผู้นำพลเรือนที่โดนสอบสวนก็ไม่ยอมสู้นอกกติกา ล้วนต่อสู้ตามวิถีกฎหมาย แม้จะแพ้จนต้องติดคุกก็ไม่เรียกอำนาจพิเศษให้ออกมาช่วย แน่นอนว่าผู้มีอาวุธก็อดกลั้น ไม่แทรกแซงการเมือง มุ่งเน้นด้านการรบกับภัยคุกคามต่อประเทศชาติตามถนัดของตน ผู้นำกลุ่มนี้หลายคนลงเลือกตั้ง เมื่อแพ้ก็กลับบ้านเลี้ยงหลาน

แน่นอนว่าที่กล่าวมาเป็นสถานการณ์เฉพาะของอเมริกาใต้ในวันนี้ ที่ทุกประเทศเป็นระบอบประธานาธิบดีและมีเลือกตั้งตามวาระอย่างแน่นอน  ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว คนเบื่อหน่ายนักการเมืองโกงกินแต่ก็ยังมีความหวังจะได้เลือกคนดีเข้าสภาในครั้งต่อไป น่ายินดีกับชาวอเมริกาใต้ ก็หวังว่าทฤษฏีของอาจารย์เปไรร่า จะถูกต้องตลอดไปและใช้ได้กับทั่วโลก