ความต้องการพลังงานในอาเซียน: มิติความสัมพันธ์ไทยและลาว

ความต้องการพลังงานในอาเซียน: มิติความสัมพันธ์ไทยและลาว

ด้วยปัจจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในภูมิภาคอาเซียนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรมากกว่า 150 ล้านคน ที่จะเกิดขึ้นในปี 2584 อาเซียนจำเป็นที่จะต้องมองหาแหล่งพลังงาน เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนพลังงานในภูมิภาคที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รายงานขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA (International EnergyAgency) เปิดเผยว่า สมาชิกอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 60% ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ของ IEA ในปี 2584 อาเซียนจะมีความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 ใน 3 ของความต้องการใช้พลังงานในปัจจุบัน

จากประเด็นความท้าทายด้านพลังงานของภูมิภาคอาเซียนดังกล่าว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เป็นประเทศหนึ่งที่ได้มีการปรับเปลี่ยนความท้าทายดังกล่าวเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความเหมาะสมของภูมิประเทศ ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำจากการสร้างเขื่อน ภายใต้เป้าหมายในการดำเนินการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนจำนวน 100 เขื่อน ภายในปี 2563 สปป.ลาว จะกลายเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชีย (BatteryofAsia) ที่ป้อนพลังงานจำนวนมหาศาลสู่ภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย เช่น ประเทศไทย เวียดนาม สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น ปัจจุบัน สปป.ลาว สามารถผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำได้มากถึง 6,000 เมกะวัตต์ คิดจากการผลิตต่อชั่วโมงได้ราว 30,000 ล้านกิโลวัตต์ และกว่า 80% ของพลังงานที่ผลิตได้ถูกใช้สำหรับการส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้าน รายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้า อยู่ระหว่าง 2- 7 บาท ต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง ซึ่งราคาขายจะขึ้นอยู่กับประเทศคู่ค้า เช่น หน่วยละ 2 บาท สำหรับประเทศไทย และหน่วยละ 7 บาท สำหรับประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

แผนภาพการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำในภูมิภาคระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว

ความต้องการพลังงานในอาเซียน: มิติความสัมพันธ์ไทยและลาว

ที่มา: ASEAN Centre for Energy

ทว่าจากกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (Xepian-XeNamNoy) ซึ่งข้อผิดพลาดจากการก่อสร้างทำให้มวลน้ำกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ไหลบ่าเข้าท่วมและทำลายหมู่บ้านในแขวงอัตตะปือ ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของ สปป.ลาว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การตั้งคำถามต่อความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างเขื่อนที่กำลังดำเนินการอยู่ทั่วประเทศ รวมไปจนถึงความคุ้มค่าที่ได้รับจากการผลิตและขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ประเทศไทย ซึ่งรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจำนวนกว่า 90% ที่เขื่อนแห่งนี้ผลิตได้ทั้งหมด ภาคประชาสังคมไทยเองก็ออกมาเรียกร้องให้บริษัทเอกชนไทย ซึ่งถือหุ้นกว่า 25% ของทั้งโครงการและรัฐบาลไทย ในฐานะผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของเขื่อนดังกล่าว ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดอาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้ความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างทั้ง 2 ประเทศสะดุดลง

อย่างไรก็ดี การซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและ สปป. ลาว ในช่วงที่ผ่านมา มิได้เป็นไปในลักษณะการซื้อและการขายทางเดียว แต่มีลักษณะถ้อยที ถ้อยอาศัย และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ปรากฏในรูปแบบของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีมิติในเชิงการพัฒนา ด้วยรัฐบาลไทยกับลาวดำเนินความร่วมมือ ตามข้อตกลงด้านการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ดังที่ปรากฏในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง เช่น โครงการน้ำงึม โครงการน้ำลึก และโครงการเซเสด ทางตอนเหนือของสปป.ลาว ประเทศไทยได้ซื้อพลังงานไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว พร้อมขายคืนบางส่วนให้แก่พื้นที่ตอนล่างของ สปป.ลาว โดยรัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนสนับสนุนในการติดตั้งเสานำส่งไฟฟ้าเอง 

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงเรื่องความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ที่มีความต้องการในการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุด ราว 26,200 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่กำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐมีเพียง 15,700 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับ 36.92% ของกำลังการผลิตทั้งระบบเท่านั้น คำถามสำคัญ และเป็นความท้าทายสำหรับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย คือ ในอนาคตหาก สปป.ลาว เปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออก หรือแหล่งพลังงานงานไฟฟ้า ประเทศไทย จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวอย่างไร

 

โดย... 

วิรงค์ หนูเกื้อ

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) สกว.ฝ่าย1