โลกใน 3 ความเสี่ยง

โลกใน 3 ความเสี่ยง

พลิกหน้าหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน แทบจะไม่เห็นข่าวดีเศรษฐกิจโลกเลย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตค่าเงินลีร่าในตุรกีที่ตกต่ำถึงกว่า 40%

หลังสหรัฐประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเป็น 2 เท่าจากอัตราที่เก็บกับประเทศอื่น จนทำให้ตุรกีต้องตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐด้วยอัตรา 60-120%

นอกจากนั้น วิกฤตได้ลุกลามไปสู่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เช่น อาเจนตินาที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยถึง 5% ในวันเดียวเพื่อต่อสู้กับนักเก็งกำไรค่าเงิน รวมถึงแอฟริกาใต้และอินโดนิเซียที่ค่าเงินอ่อนค่าลงรุนแรงจนทางการอินโดนิเซียต้องประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 7.5% ในสินค้า 500 รายการเพื่อลดทอนการขาดดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัด นอกเหนือจากการขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.25% นับจากต้นปี

ขณะที่ข่าวสงครามการค้าก็มีทีท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ทั้งสหรัฐและจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในสินค้าตอบโต้กัน มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเป็นไปได้ว่าจะขึ้นภาษีในสินค้ารวมมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย สอดคล้องกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอลง เงินหยวนอ่อนค่า ตลาดหุ้นตกต่ำ รวมถึงเริ่มมีปัญหาการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้น

ภาพทั้งหลายทำให้มุมมองเศรษฐกิจโลกที่ว่าขยายตัวอย่างพร้อมเพรียง (Global Synchronized Growth) นั้นเป็นไปได้ยากขึ้น โดยสัญญาณจากตลาดการเงินเริ่มสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลก (ยกเว้นสหรัฐ) ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและเริ่มชะลอลง (Peaked) รวมถึงมีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไม่ช้า ไม่ว่าจะพิจารณาจากราคาของสินแร่ทองแดงที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear market territory) หรือจะเป็นตลาดพันธบัตรสหรัฐที่ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี และ 10 ปี ลดต่ำสุดในรอบ 11 ปี มาอยู่ที่ 0.25% รวมถึงมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าจะเข้าสู่แดนลบ

ดังนั้น หากเปรียบภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ก็เหมือนกับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่กำลังแล่นเข้าไปสู่ภูเขาน้ำแข็ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตตลาดเกิดใหม่ การตกต่ำของเศรษฐกิจจีน รวมถึงสงครามการค้า ดังนั้น คำถามสำคัญคือเรือเดินสมุทรลำนี้มีโอกาสที่จะเลี่ยงการปะทะกับภูเขาน้ำแข็งเบื้องหน้าได้หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า โอกาสที่จะรอดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตอบคำถามสำคัญ 3 ประการ คือ

(1) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อไร เนื่องจากเหตุผลหลักที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวลงรวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตค่าเงินนั้น มาจากการที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ย จึงกระทบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหาหนี้สูง รวมถึงมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เช่น เงินเฟ้อสูง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีหนี้ต่างประเทศมาก

คำตอบคือ  Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่อดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของสหรัฐส่วนใหญ่ส่งสัญญาณชะลอลง โดยใน 2 วัฐจักรของดอกเบี้ยขาขึ้นก่อนหน้า (ปี 1999 และ 2004) เครื่องชี้วัดที่สำคัญที่ส่งสัญญาณชะลอลงก่อน Fed จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้แก่การจ้างงาน ยอดค้าปลีก ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม ยอดขายรถ และยอดขายบ้านคงค้าง แต่ในวัฐจักรปัจจุบันที่เริ่มในปี 2015 เริ่มเห็นการชะลอลงของยอดขายรถ บ้านคงค้าง รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรเท่านั้น

ดังนั้น ด้วยโมเมนตั้มปัจจุบัน โอกาสที่จะเห็นตัวเลขต่าง ๆ ชะลอลงชัดเจนนั้นอาจเป็นกลางปีถึงปลายปี 2019 ทำให้เป็นไปได้ว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงดังกล่าว และทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐไปอยู่ที่ 2.88% แต่เมื่อถึงเวลานั้น เป็นไปได้สูงที่ตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนแอก็จะประสบปัญหามากกว่าปัจจุบัน

(2) วิกฤตค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันนี้ จะลุกลามเป็นดั่งโรคติดต่อ (Contagion) หรือไม่โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่เกิดวิกฤตในปัจจุบัน อันได้แก่ ตุรกี แอฟริกาใต้ อาเจนติน่า และอินโดนิเซียนั้น มีขนาดรวมกันประมาณ 3.6% ของเศรษฐกิจโลก และมีความสัมพันธ์ต่อเศรษฐกิจอื่น ๆ ในแง่ของการค้าและการลงทุนไม่มากนัก ดังนั้นผลกระทบทางตรงจากวิกฤตในประเทศเหล่านี้อาจยังมีไม่มาก

แต่หากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเหล่านี้แล้ว เป็นไปได้ที่จะถอนการลงทุนจากประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด และทำให้วิกฤตแพร่ขยายจากประเทศที่มีเสถียรภาพเศรษฐกิจเปราะบาง ไปสู่ประเทศที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าได้

คำตอบคือ เป็นไปได้ว่าวิกฤตค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันจะยังไม่ลุกลาม เนื่องจากหากพิจารณาเศรษฐกิจที่ประสบวิกฤตในปัจจุบัน นอกจากจะมีปัญหาด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจแล้ว ที่สำคัญคือมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องด้วย ไม่ว่าจะวัดจากสัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเมื่อเทียบกับทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง (อาเจนตินา 155% ตุรกี 143% แอฟริกาใต้ 77%) รวมถึงสัดส่วนการถือครองพันธบัตรของต่างชาติ (อินโดนิเซีย 40%)

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะแยกแยะได้ระหว่างประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งกับประเทศที่อ่อนแอกว่า แต่ก็ประมาทไม่ได้ เนื่องจากตลาดการเงินมักมี พฤติกรรมฝูงสัตว์” (Herding Behavior) เช่นการขายก่อนและถามทีหลัง เป็นต้น

(3) สงครามการค้าจะยุติการลุกลามลงเมื่อไร ซึ่งนำมาสู่คำถามสำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายเน้นความสำเร็จระยะสั้นหรือระยะยาว (หรือที่เรียกว่าชนะในสมรภูมิแต่แพ้ในสงคราม) โดยเฉพาะในสหรัฐที่ทรัมพ์เพียงแค่จะเน้นลดการขาดดุลการค้ากับจีนตามที่เคยสัญญาไว้ในช่วงหาเสียง หรือต้องการคุมกำเนิดจีนเชิงกลยุทธ์ระยะยาว โดยไม่ให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลกตามแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ได้

คำตอบคือ หากพิจารณาภาพใหญ่แล้ว เป็นไปได้สูงว่าสงครามการค้าไม่น่าจะจบได้โดยง่าย เนื่องจากสิ่งที่สหรัฐต้องการน่าจะเป็นการคุมกำเนิดพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของจีน ซึ่งจะต้องบีบบังคับให้จีนยอมแก้กฎหมายหลายพันฉบับเพื่อให้รัฐวิสาหกิจรวมถึงหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ยกเลิกกฎระเบียบในการบังคับให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจด้วยต้องเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจ (Forced technology transfer) รวมถึงข้อกำหนดหยุมหยิมอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าทางจีนก็จะไม่ยอมให้สหรัฐเข้ามาบงการนโยบายเศรษฐกิจภายในของตน ทำให้ความเสี่ยงสงครามการค้าน่าจะไม่สามารถจบได้โดยง่าย จนกว่าที่เศรษฐกิจทั้งสองประเทศจะย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อพิจารณาคำตอบของคำถามทั้งสามแล้ว จะเห็นได้ว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในระยะข้างหน้านั้นมีสูงมาก เปรียบดังเรือที่มุ่งเข้าสู่ภูเขาน้ำแข็งอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โปรดพึงระวัง

**บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่**