ข้อห่วงใยในร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ

ข้อห่วงใยในร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ

ความเป็นมาของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ....มีที่มาที่ไปจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ(รธน.) มาตรา 258 ช. (5)

ที่กำหนดให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ผู้ชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้อธิบายในการประชุม กมธ.สาธารณสุข ตั้งแต่เรื่องขอบเขต พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ การเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการมี พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ระบบข้อมูลสุขภาพ ผลได้ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งมีเอกสารแนบ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดคือฉบับที่ การเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการมี พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ จะทำให้ประชาชน ครอบครัว และชุมชนดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพด้วยตนเอง

โดยมีหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นที่ปรึกษาสุขภาพให้การสนับสนุน ข้อมูลการใช้บริการในระบบกลับมาหาประชาชน (GMR) ข้อมูลมีความต่อเนื่อง ทั้งระดับรายบุคคล ครอบครัว และชุมชน ดึงเงินจาก 3 กองทุนหลักและที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดบริการปฐมภูมิ มีชุดสิทธิประโยชน์เฉพาะ มีเทคโนโลยีสนับสนุนการดูแลสุขภาพ เชื่อมโยงทั้งประชาชน สหสาขาวิชาชีพร่วมให้บริการแบบ Inter-disciplinary approach (กำหนดเป้าหมายเดียวกันเพื่อการบริการ) มีการกำหนดค่าตอบแทนสาขาขาดแคลน และการทำหน้าที่ของคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ 

ได้พยายามอ่าน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพชุมชน ฉบับล่าสุด ซึ่งมีทั้งหมด 40 มาตรา ระหว่างฟังคำอธิบายจากผู้ชี้แจงแบบคร่าวๆ พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างของระบบแบบกว้างๆ ผู้ชี้แจงได้เพิ่มเติมรายละเอียดว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะพยายามเสนอต่อ ครม. เพื่อให้เริ่มกระบวนการทำงาน แต่ปัญหาคงยังไม่หมดเพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และกฎหมายหลายฉบับ อย่างไรก็ตาม การมีหน่วยงานสุขภาพปฐมภูมิจะเป็นประโยชน์และคุ้มค่ากับการลงทุน โดยมีผลงานวิจัยชี้ว่าค่าเฉลี่ยลงทุน 1 บาท จะได้ผลลัพธ์ตอบแทนกว่า 4 บาท

ได้ตั้งคำถามและข้อสังเกตในที่ประชุมหลายข้อด้วยกัน 1. ทำไมจึงมีร่าง พ.ร.บ.มากถึง ฉบับภายใน 12เดือน ตั้งแต่เริ่มร่างที่ 1 ในเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน 2. เรื่องการเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องสำคัญ การที่จะให้ครอบคลุมทั้งประเทศ คงต้องมีหน่วยบริการจำนวนมาก จากคำชี้แจงหน่วยบริการอาจเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่โรงพยาบาลทุกระดับ จนถึงคลีนิกเอกชน ตรงนี้จะมีมาตรฐานอย่างไร เพราะน่าจะมีความลักลั่นในระดับของศักยภาพการให้บริการอย่างมาก 3. การดึงเงินจาก 3 กองทุนหลักคือ กองทุน สปสช. กองทุนประกันสังคม และ(กองทุน)สวัสดิการข้าราชการ มาเป็นค่าใช้จ่ายจะทำอย่างไร เพราะแต่ละกองทุนมีกฎหมายของตัวเอง โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ผู้ประกันสังคมมีการร่วมจ่ายกับนายจ้าง และสวัสดิการข้าราชการก็มีการร่วมจ่ายแฝงจากข้าราชการ 4.รพ.สต.ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิที่สำคัญ แต่การรวมทั้งเรื่องโรงพยาบาล ทีมหมอครอบครัว และ รพ.สต. โดยกำหนดให้ทุกคนไปเริ่มต้นที่แพทย์ปฐมภูมิเท่ากับผลักคนที่ได้รับบริการระดับบนที่ดีไปเริ่มต้นกับบริการระดับล่าง ไม่น่าจะจูงใจให้ประชาชนไปใช้บริการ และ 5. เรื่องการโอนย้าย รพ.สต.ไปสังกัด อปท.จะทำอย่างไร และต่อไปอาจมี พ.ร.บ.สาธารณสุขชุมชน เกิดขึ้นอีก จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างการทำงานของทีมสุขภาพปฐมภูมิกับทีมสาธารณสุขชุมชนหรือไม่ และจะทำอย่างไร เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลักการเบื้องต้นที่แยกกันค่อนข้างชัดเจนในสมัยที่เริ่มร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า เรื่อง รพ.สต.เป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ แต่เรื่องแพทย์ปฐมภูมิเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล แต่ไปๆมาๆกลายเป็นว่างานของแพทย์ปฐมภูมิจำกัดมากเกินไปจึงเปลี่ยนเป็นสุขภาพปฐมภูมิ และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับไปครอบงานของ รพ.สต.ทั้งหมด แล้วจะแยกบทบาทหน้าที่กันอย่างไร

ทางผู้ชี้แจงอธิบายว่า 1. ปัญหาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ. ส่วนใหญ่มาจากการรับฟังความเห็นของหลายฝ่าย และแต่ละฝ่ายก็พยายามให้มีตัวแทนของตนในคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งถ้าให้ทั้งหมดเข้ามาเป็นกรรมการ ก็จะมีผู้แทนทั้งประจำและการคัดสรรถึง 50 คน ทำให้มีการเจรจากันหลายรอบกว่าจะลดลงเหลือเพียง 20 กว่าคน แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นบทสรุปในขณะนี้ 2. เรื่องมาตรฐานของหน่วยบริการนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่อยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะกำหนดเรื่องคุณสมบัติของหน่วยบริการมาตรฐาน ซึ่งคงเป็นเรื่องของกฎหมายลำดับรอง 3. เรื่องการดึงเงินจาก 3 กองทุนนั้นจะต้องมีการเจรจากันว่าจะใช้วิธีการไหนเพราะมีเรื่องสิทธิประโยชน์เฉพาะด้วย นั่นหมายความว่าผู้รับบริการจะยังคงได้รับทั้งสิทธิประโยชน์หลักและสิทธิประโยชน์เสริมจากการใช้บริการ 4. เรื่อง รพ.สต.นั้น ไม่ว่าจะไปอยู่ภายใต้ อปท. หรือไม่ก็จะต้องมีความร่วมมือกันในการให้บริการปฐมภูมิอยู่แล้ว 5. เรื่อง พ.ร.บ.สาธารณสุขชุมชน ยังไม่มีคำอธิบายในวันนี้ เพราะวันนี้เฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ

วิวาทะเล็กๆ เกิดขึ้นเมื่อถามถึงความคุ้มค่าของโครงการนี้ที่บอกว่าเทียบเท่ากับการลงทุน 1 บาท ได้ผลลัพธ์กว่า 4 บาท โดยอ้างผลจากการศึกษาของ สวรส. คำถามก็คือ สวรส. คิดคำนวณจากอะไร เพราะข้อสรุปของ สวรส.มาจากสมมติฐานและกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ซึ่งอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นจริง แต่มาสรุปอย่างนี้ว่าจะได้ผลถึง 400% นั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ผู้ชี้แจงเอาผลการวิจัยที่ไม่ชัดเจนมาเป็นข้อสรุปในเชิงบวก เป็นการมองในแง่ดีเกินไปเพราะจากที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาให้ข่าวเรื่องนี้ ก็พบว่า สวรส. สรุปภายใต้สมมติฐาน 4 ข้อคือ 1. ต้องมีประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างน้อย 60% 2. ต้องควบคุมโรคเบาหวานได้อย่างน้อย 40% และโรคความดันได้  50% 3. ต้องมีการคัดกรองทั้ง 2 โรค คือ ทั้งเบาหวานและความดันได้ถึง 90% และ 4. สถานพยาบาลหรือหน่วยบริการต้องได้รับความพึงพอใจจากการใช้บริการเต็ม 100% เชื่อว่าการสรุปว่าจะได้ผลกว่า 400% หรือลงทุน 1 บาท ได้ 4.55บาท เป็นเรื่องขายฝันมากกว่าเป็นจริง เพราะเงินก็ไม่มี คนก็ไม่มี เทคโนโลยีก็ไม่มี สถานที่ก็ไม่มี พฤติกรรมการใช้บริการสาธารณสุขก็เปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คนที่เคยใช้บริการโรงพยาบาล จะยอมกลับไปตั้งต้นที่ทีมแพทย์ปฐมภูมิ ก็ขนาดโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีความพร้อมขนาดนี้ ยังเอาไม่อยู่ แล้วทีมหมอครอบครัวจะเอาอยู่ได้อย่างไร

กลัวเหลือเกินว่า เรื่องสุขภาพปฐมภูมิ ไปๆ มาๆ จะทำอะไรไม่ได้ มีสภาพเป็นเป็ดง่อย นอกจากออกกฎระเบียบบังคับคนโน้นคนนี้ แต่ไม่มีเงินไม่มีงบประมาณ ไม่มีบุคคลากร แต่ถือกฎหมาย นี่ไม่รวมความขัดแย้งที่จะเกิดจากการให้การรักษาพยาบาลที่ไม่มีความพร้อม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้สิทธิประชาชนที่จะได้รับการรักษาตามที่ต้องการ แต่นี่จะไปจำกัดสิทธิเขาให้ไปใช้บริการระดับล่างก่อน ไปๆ มาๆ ตายกันพอดี