พลิกปูมโรงพักทดแทน 5.8 พันล้าน

พลิกปูมโรงพักทดแทน 5.8 พันล้าน

“ยืนยัน รวมสัญญา 9 ภาค เป็นสัญญาเดียวไม่ผิดกฎหมาย มั่นใจในความบริสุทธิ์” คำสัมภาษณ์ สุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.)

หลังหอบหลักฐาน 94 หน้า ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. คดีอนุมัติจัดสร้าง 396 โรงพักทดแทนทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 5,800 ล้านบาท

ย้อนไปไล่เลียง โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) 396 แห่ง ทั่วประเทศ มูลค่า 5,848 ล้านบาท ป.ป.ช.พบว่า เข้าข่ายการฮั้วประมูล เพราะมีการรวบจากหลายสัญญา มาเป็นสัญญาเดียว

มูลเหตุกรณีนี้ เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสตช. ต่อมามีการร้องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยุคที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ซึ่ง ดีเอสไอ สรุปคดีว่า การอนุมัติโครงการอยู่ในความรับผิดชอบของ สุเทพ ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ต่อมา สุเทพ ยกเลิกแนวทางการจัดจ้างเป็นรายภาค ให้จัดจ้างรวมกันทั้งหมดแทน เมื่อ 11 ต.ค.2553 ทำให้มีบริษัทเดียวที่ชนะการประมูลการก่อสร้าง

สุเทพ ได้นำเอาประเด็นนี้ ไปยื่นฟ้อง ธาริต ในข้อหาหมิ่นประมาท ที่ศาลาอาญา โดยอ้างกรณีนี้ดำเนินการไปตามความเห็นของสตช. และศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว

ส่วนคดี ที่ป.ป.ช. เมื่อ 14 พ.ค.2558 วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าการสอบสวนกรณีการทุจริตโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง โดยมิชอบ ว่า อนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. สรุปความเห็นว่า สุเทพ หรือ “พระสุเทพ ปภากโร” (ขณะแถลง) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแล สตช.ในขณะนั้นย่อมทราบอยู่แล้วว่า สตช.ต้องจัดจ้างก่อสร้างโรงพักทดแทนเป็นรายภาค ตามที่ได้นำเสนอต่อ ครม. แต่เมื่อ สตช.ขอเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างก่อสร้าง โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. สุเทพ กลับลงนามอนุมัติการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างดังกล่าว และไม่มีการเสนอให้ ครม. ส่งผลให้ในการจัดจ้างดังกล่าวมีผู้รับจ้างเพียงรายเดียว

15 มิ.ย.2558 พระสุเทพ พร้อมทีมทนายความ เดินทางเข้าให้ข้อมูลและชี้แจงด้วยวาจาต่ออนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ยืนยันได้ปฏิบัติตามมติ ครม. เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่มีการสร้างไม่เสร็จ เป็นเรื่องการบริหารสัญญาของ สตช. กับผู้รับเหมา

8 ก.พ.2560 สุเทพ ทำหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช. ขอความเป็นธรรม ว่า คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนตั้งแต่ปี 2556 จนถึงขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ อนุกรรมการ มีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจประเด็นข้อเท็จจริง อีกทั้ง วิชา มหาคุณ ไม่ใส่ใจต่อคำชี้แจงวิตกว่าอาจมีความเห็นที่เป็น “อคติ” เพราะอดีต วิชา เคยไม่พอใจมติ ก.ตร. กรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ที่ไม่สอดคล้องกับมติ ป.ป.ช. ซึ่งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ในคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551

15 ส.ค.2561 วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุ ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องภายในสิ้นเดือนนี้

คดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตที่ไม่ธรรมดาเสียแล้ว แต่เจือๆ กลิ่นการเมืองเข้าไปด้วยโดยเฉพาะ สุเทพ คือผู้ตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และยิ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า คดีนี้ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งไต่สวนให้แล้วเสร็จให้ทันก่อนการเลือกตั้ง ก็ยิ่งส่อว่า “แทงกั๊ก ไปหลังผลการเลือกตั้งโน่นเลย ทีเดียว