นกกระสาอยู่ในหัวใจ​

นกกระสาอยู่ในหัวใจ​

ทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน การตายของบางชีวิตไร้ความหมาย เพราะตลอดชีวิตไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตคนอื่นในโลกเลย นอกจากตัวเอง

แต่บางชีวิตถึงแม้จะอยู่ไม่นานแต่เมื่อตายไปก็ทิ้งสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไว้ข้างหลัง ดังเรื่องราวของเด็กหญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อSadako Sasaki ที่รู้จักกันทั่วโลก เพราะการจากไปของเธอปลุกเร้าให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของสันติภาพและคุณค่าของการมีชีวิต

วันหนึ่งในต้นเดือน ส.ค.1945 ขณะที่เธอมีอายุเพียง 2 ขวบและอยู่ในบ้านในเมือง Hiroshima ร่างของเธอถูกแรงลมมหาศาลพัดกระเด็นออกนอกหน้าต่าง แม่เธอคิดว่าเธอคงตายแน่ แต่ปรากฏว่าเธอไม่เป็นอะไรเลย เมื่อตั้งสติได้เธอก็อุ้ม Sadako ฝ่าความวุ่นวายทั้งลม ฝุ่น ความร้อน และ “ฝนดำ” (nuclear fallout) หรือละอองฝุ่นกัมมันตรังสีนิวเคลียร์ เธอรอดตายครั้งนั้นราวกับปาฏิหาริย์โดยหารู้ไม่ว่าเธอจะประสบอะไรในเวลาอีก 9 ปีต่อมา

Sadako Sasakiเติบโตเช่นเด็กปกติ เป็นแชมป์วิ่งผลัดของโรงเรียน เรียนหนังสือเก่งและเป็นที่รักของเพื่อนๆ วันหนึ่งในปี1954 ตอนอายุได้ 11 ปี คอและหลังหูเธอบวม ต่อมาไม่นานมีจุดและผื่นใหญ่ขึ้นบนขา หมอตรวจแล้วบอกว่าเธอเป็น leukemia หรือมะเร็งในเม็ดเลือดขั้นรุนแรง (ในเวลาต่อมามีเด็กจำนวนมากในละแวกบ้านที่ป่วยในลักษณะเดียวกับเธอและเสียชีวิต)

Sadako เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตอนต้น ปี 1955 โดยเชื่อว่าเธอคงจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี วันหนึ่งในเดือน ส.ค.ของปีเดียวกัน มีกลุ่มนักเรียนในท้องถิ่นเอานกกระสาพับเป็นกระดาษมามอบให้เธอ Sadako ก็นึกขึ้นได้ถึงตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่น ที่พ่อเธอเคยเล่าให้ฟัง

ตำนานเก่าแก่ก็คือใครที่พับนกกระสากระดาษได้ครบ 1,000 ตัว หากอธิษฐานอะไรก็จะสมหวัง ได้รับพรจากพระเจ้า มีความสุขและโชคดีตลอดกาล ภาษาญี่ปุ่นของนกกระสากระดาษพับก็คือ orizuru (ori =พับ; tsuru =นกกระสาหรือcrane)

ญี่ปุนมีวัฒนธรรมพับกระดาษมายาวนาน เชื่อว่ามีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 โดยเรียกศิลปะนี้ว่า origami (ori =พับ; kami =กระดาษ) ส่วนนกกระสานั้นในตำนานถือว่าเป็นนกวิเศษมีอายุถึง 1,000 ปี ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เกาหลีและจีน นกกระสาเป็นตัวแทนของความโชคดีและการมี อายุยืน วัฒนธรรมญี่ปุ่นถือว่านกกระสาเป็น “bird of happiness” เชื่อว่าปีกของนกกระสาจะนำจิตวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์

Sadakoมีเวลาว่างนอนอยู่บนเตียง เมื่ออาการเป็นปกติ เธอจึงเริ่มพับ นกกระสา กระดาษก็หาไม่ได้ต้องใช้เศษกระดาษที่ห่อวัสดุและยา ตลอดจนกระดาษอะไรก็ได้ที่พอหาได้และที่ขอมาจากคนไข้อื่นๆ

อาการเธอเลวร้ายลงทุกที แต่เธอก็ไม่ท้อพับในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ จนในที่สุดเธอก็พับได้เกินกว่า 1,000 ตัว ตอนที่เสียชีวิตในเดือน ต.ค.ของปี 1955 ท่ามกลางความโศกเศร้าของผู้คนที่รู้จักและรักเธอ

เรื่องราวของเธอมิได้จบเพียงแค่นี้ เพราะมันได้กลายเป็นเรื่องเล่าที่มีพลังอย่างยิ่งแก่ผู้คนจำนวนมากที่ต้องการมีความหวัง ต้องการพลังใจเพื่อต่อสู้ มีความเชื่อมั่นในการมีคุณค่าของชีวิต รักสันติภาพ ฯลฯ มันเป็นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับความจริงความดีและความงามโดยแท้

เพื่อนๆ ของเธอที่โรงเรียนร่วมกันสาบานตอนงานเผาศพของSadakoว่า จะร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอให้จงได้ ความพยายามของเด็กกลุ่มนี้ของโรงเรียนNoboricho Elementary School ที่เมือง Hiroshima ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นกระบวนการสันติภาพและการระดมทุนไปทั่วญี่ปุ่น ได้ทำให้นกกระสากระดาษ(origami crane) กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของสันติภาพ

ปีนี้ครบรอบปีที่ 50 ของอนุสาวรีย์ The Children’s Peace Monument ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางHiroshima’s Peace Memorial Parkของเมือง Hiroshima รูปปั้นของSadako Sasaki ปรากฏอยู่บนยอดของโครงคอนกรีตเสมือนขาของนกกระสาและรายล้อมด้วยอาคารเล็กๆ ที่บรรจุนกกระสากระดาษจำนวนมากมายจากทั่วโลก

เพื่อนรักของเธอคนหนึ่งชื่อTomiko Kawano กับเพื่อนๆ ปัจจุบันมีองค์กรชื่อPeace Minds Hiroshima ซึ่งมีวัตถุประสงค์กระจายเรื่องราวของSadako เพื่อส่งข้อความสำคัญคือสันติภาพสู่โลก ปัจจุบันได้รับนกกระสากระดาษพับประมาณปีละ 10 ตัน(10ล้านตัว) จากเด็กทั่วโลก มันมากจนเธอต้องนำไปรีไซเคิลเป็นสมุดโน้ตแจกเด็กที่ขาดแคลนในต่างประเทศ ในเล่มก็จะมีเรื่องราวของSadako เรื่องราวการทิ้งระเบิดปรมาณูลงHiroshima และความจำเป็นของการมีสันติภาพ ตลอดจนการขจัดระเบิดปรมาณูไปจากโลก รวมทั้งวิธีการพับนกกระสาด้วย

เรื่องราวของSadako ถูกถ่ายทอดเป็นนิยายหลายเรื่องสำหรับเด็กเป็นภาพยนตร์ เป็นการ์ตูนเพื่อสอนคุณค่าสำคัญให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วโลก โดยมีนกกระสากระดาษเป็นสัญลักษณ์

ถ้า Sadako มีชีวิตอยู่วันนี้ก็จะมีอายุ 75 ปี เธอคงจะได้มีความสุขกับชีวิตและมีลูกมีหลานเฉกเช่นชีวิตคนทั่วโลก เธอโชคร้ายไม่มีโอกาส แต่เธอได้ทิ้งสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งไว้แก่โลก เธอทำให้โลกเห็นคุณค่าของการมีชีวิต(เธอต้องพับนกเพื่อหวังว่าจะบรรลุความหวัง แต่บางคนมีชีวิตอยู่ได้อยู่ดีโดยไม่ต้องพับนกแต่ยังไม่เห็นว่าชีวิตมีค่าจนทำลายตนเองและผู้อื่น) เห็นว่าสงครามและความรุนแรงเป็นสิ่งเลวร้ายที่ทุกคนต้องช่วยกันขจัด และประการสำคัญผลักดันความคิดว่าขออย่าให้มีการทิ้งระเบิดปรมาณูอีกเลย(“never again”)

ขอให้นกกระสากระดาษจงเบ่งบานในหัวใจของทุกคน