ตุรกี : จุดร้อนเศรษฐกิจโลก

ตุรกี : จุดร้อนเศรษฐกิจโลก

ตุรกีขณะนี้ต้องบอกว่าน่าห่วง เพราะเศรษฐกิจตุรกีกำลังแสดงอาการของประเทศที่มีวิกฤต คือ เงินสกุลท้องถิ่น (Lira) อ่อนค่าลงกว่า 40% ตั้งแต่ต้นปี

อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงมากเป็น 100% ในบางสินค้า มีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของประเทศกำลังชะงักงัน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อตลาดการเงินทั่วโลก คือ หุ้นตก เงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น มีการถอนการลงทุนออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เพื่อความปลอดภัย ความห่วงใยขณะนี้ คือ ตุรกีจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจโลกขนาดใหญ่อีกครั้งหรือไม่ เหมือนกรณีวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 นี่ คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ตุรกี แม้ไม่ใช่ประเทศใหญ่ มีขนาดประมาณเพียง 1% ของเศรษฐกิจโลก แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจตุรกีขณะนี้ได้ส่งผลกระทบไปทั่ว ถ้าจะวิเคราะห์ ต้นเหตุของปัญหาของตุรกีมาจากการที่ประเทศมีหนี้มากและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศถูกสั่นคลอนเมื่อนักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ สำหรับตุรกี ช่วงที่ผ่านมา ทั้งบริษัทเอกชน ธนาคารพาณิชย์ และรัฐบาล ได้กู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้จ่าย ปัจจุบัน หนี้ภาคเอกชนของตุรกีมีมากกว่า 300 พันล้านดอลล่าร์ เป็นหนี้ที่กู้โดยบริษัทธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ บริษัทเอกชนกู้เงินเพื่อใช้จ่ายและลงทุน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เอาเงินที่กู้มาไปปล่อยกู้ต่อให้กับภาคธุรกิจในประเทศ ทั้งในรูปเงินสกุลท้องถิ่นและเงินดอลล่าร์ การใช้จ่ายที่ขับเคลื่อนด้วยการก่อหนี้ทำให้เศรษฐกิจตุรกีบูมมากในช่วงที่ผ่านมา จนประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และอัตราเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้น เป็นอาการปกติของประเทศที่ใช้จ่ายเกินตัวด้วยการก่อหนี้ แต่นโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหา คือ รัฐบาลโดยนโยบายการคลังยังเร่งการใช้จ่าย ขณะที่นโยบายการเงินไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ ผลคือ ปัญหาการขาดเสถียรภาพของเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อยิ่งเร่งตัว แต่สถานการณ์ยังไม่เป็นวิกฤติ เพราะนักลงทุนยังเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจที่จะเติบโต และในความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ทำให้ค่าเงินตุรกี แม้จะอ่อนตัวตามปัจจัยพื้นฐานมาเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่ขาดเสถียรภาพ

จุดเปลี่ยนที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในความสามารถที่จะชำระหนี้ของตุรกีปะทุขึ้น เมื่อเกิดข้อพิพาททางการเมืองระหว่างรัฐบาลตุรกีกับสหรัฐ ที่การเจรจาปล่อยตัวบาทหลวงชาวอเมริกันที่ถูกจับกุมในข้อหาจารชน แลกกับการปล่อยตัวนายธนาคารตุรกีที่ถูกจับกุมในสหรัฐในข้อหาละเมิดข้อห้ามการทำธุรกรรมการเงินกับอิหร่าน ไม่เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากตุรกีในอัตรากว่า 50% ซึ่งตุรกีก็ตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เช่น รถยนต์ ข้าว สุรา ถ่านหิน และเครื่องสำอาง ในอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 - 3 เท่า ข้อพิพาทนี้ทำให้นักลงทุนประเมินว่าจะกระทบทั้งเศรษฐกิจและความสามารถในการหารายได้และชำระหนี้ของตุรกี ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศรุนแรง ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงฉับพลัน จนขณะนี้อ่อนค่าไปแล้วกว่า 40% จากต้นปี นำไปสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่อง อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มชะงักงัน

ที่สำคัญ สถานการณ์ความอ่อนไหวในตุรกีได้ส่งผลกระทบไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นทั่วโลกที่ตก มีการถอนเงินลงทุนจากประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา รวมถึงมีการประเมินว่าประเทศในยุโรปหลายประเทศอาจถูกกระทบทางอ้อมจากที่ธนาคารพาณิชย์ของประเทศเหล่านี้ คือ สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ได้ปล่อยกู้ให้กับบริษัทธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ในตุรกีมาก ดังนั้น ถ้าบริษัทธุรกิจหรือธนาคารพาณิชย์ในตุรกีที่กู้เงินจากธนาคารยุโรปเหล่านี้มีปัญหา ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะเป็นหนี้เสียที่จะสร้างปัญหาให้กับธนาคารพาณิชย์ยุโรปตามมา

มองไปข้างหน้า มีสามประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตาม และคงเกิดขึ้นแน่นอน 

1.) ความเป็นอยู่ของประชาชนตุรกีจะถูกกระทบมากขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงมากขึ้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการขาดแคลนสินค้าที่จะเริ่มมีให้เห็น

2.) ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะเกิดขึ้นกว้างขวางในภาคธุรกิจ เริ่มจากธนาคารพาณิชย์ที่กู้เงินจากต่างประเทศ ที่เจ้าหนี้จะระมัดระวังเรื่องการต่ออายุหนี้และอาจไม่ให้กู้ต่อ ทำให้ธนาคารต้องลดทอนการปล่อยกู้ในประเทศลง นอกจากนี้ ค่าเงินที่อ่อนลงก็จะทำให้ภาระหนี้ในรูปเงินสกุลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทธุรกิจจะประสบปัญหาขาดสภาพคล่องที่จะชำระหนี้ สร้างปัญหาหนี้เสียที่จะกระทบฐานะของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

3.) เมื่อธุรกิจขาดสภาพคล่องก็จะกระทบความสามารถในการผลิต ขณะที่ภาคเอกชนก็ใช้จ่ายน้อยลง เพราะต้องประหยัดจากภาระชำระหนี้ที่ได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน

ดังนั้น จากนี้ไป ผลที่จะเกิดตามมากับเศรษฐกิจตุรกีและตลาดการเงินโลกจะมีอีกมากและคงจะรุนแรงมากขึ้นๆ นักวิเคราะห์หลายคนมองปัญหาของตุรกีขณะนี้คล้ายกับกรณีของวิกฤติเอเชียเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ต้นเหตุมาจากการก่อหนี้ที่มากเกินไปของภาคเอกชนที่ทำผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศที่ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างรายได้ของบริษัทที่เป็นเงินสกุลท้องถิ่นกับภาระชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ค่าเงินอ่อนลงมาก ปัญหาก็จะกลายเป็นวิกฤติ เพราะภาระชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเมื่อทอนเป็นสกุลเงินท้องถิ่นจะสูงกว่าความสามารถในการหารายได้มาก จนลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ กระทบฐานะของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวกลางในการกู้ยืม

ที่สำคัญ ในกรณีตุรกี การแก้ปัญหาอาจยากเป็นพิเศษ เพราะมีนัยการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับตุรกี ที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนกว่าจะมีข้อยุติ อีกทั้งสหรัฐอาจใช้อิทธิพลของประเทศใหญ่บล็อกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ตุรกี ที่อาจมาจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก หรือ ไอเอ็มเอฟ ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจตุรกีจะแก้ไขยากและยืดเยื้อ นี่คืออีกประเด็นที่ต้องติดตาม