การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ บทเรียนจากกุ้ยโจว

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ บทเรียนจากกุ้ยโจว

กุ้ยโจว เป็นมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทิศตะวันออกติดกับมณฑลหูหนาน ทิศใต้ติดกับเขตปกครองตนเองกวางสี ทิศตะวันตกติดกับมณฑลยูนนาน

ส่วนทิศเหนือติดกับมณฑลเสฉวนและมหานครฉงชิ่ง การที่กุ้ยโจวถูกล้อมด้วยเมืองใหญ่ ประกอบกับพื้นที่กว่า 90% เป็นภูเขาสูง ซ้ำยังเป็นหนึ่งในมณฑลยากจนที่สุดของจีน ทำให้การพัฒนากุ้ยโจวเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

จุดตั้งต้นของการแก้โจทย์นี้ คือการพลิกมุมคิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ จากเดิมซึ่งหมายถึงพื้นที่เฉพาะเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลเพิ่มสูง กุ้ยโจวกลับตีความให้ลึกและกว้างไปกว่าเดิมว่า เศรษฐกิจพิเศษ คือ การทำมาหากินด้วยรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงหมายถึงพื้นที่ที่ชาวกุ้ยโจวจะสามารถทำมาหากินด้วยรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้มีฐานะดีขึ้น

เมื่อเอาแนวคิดนี้มาเป็นกรอบในการแก้โจทย์ ผลที่ได้คือยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบ “1 สูง - 2 ต่ำ และ “2 กว้าง - 2 ลึก

หัวใจของยุทธศาสตร์ “1สูง-2ต่ำ คือ การเลือกส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีต้นทุนในการขนส่งต่ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษกุ้ยอัน อุตสาหกรรมที่มีต้นทุนในการขนส่งต่ำที่สุดก็คือ อุตสาหกรรมข้อมูลดิจิทัลและโทรคมนาคม โดยเฉพาะข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพราะต้นทุนการขนส่งผ่านสายเคเบิลใยแก้วแทบจะเป็นศูนย์ นอกจากนี้แล้วยังมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยาสมัยใหม่ รวมถึงการผลิตเครื่องจักรมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งมีทุนการขนส่งเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าต่ำมาก

การเลือกให้ตัวเองเป็นศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ นอกจากจะไม่ไปขัดขากับพื้นที่ใกล้เคียง ยังช่วยตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศจีนไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างสอดรับกันอีกด้วย

เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถเดินหน้าได้โดยไม่เจอกับปัญหาการขาดคน กุ้ยโจวได้กำหนดพื้นที่สำหรับให้สถาบันระดับอุดมศึกษา 12 แห่งเข้ามาเปิดสาขาเพื่อผลิตคนระดับสูงป้อนให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความใกล้ชิดระหว่างสถาบันระดับอุดมศึกษากับบริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ช่วยลดต้นทุนการหาคนของบริษัท บัณฑิตที่จบจากสถาบันเหล่านี้ก็มีโอกาสได้งานที่ดี ลดปัญหาจบออกไปแล้วไม่มีงานทำ การเรียนจึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับรายได้ในอนาคต

สำหรับ ยุทธศาสตร์ด้านกว้างคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความครอบคลุมทั่วถึงด้วยถนน รถไฟ และการบิน โดยเฉพาะการพัฒนาถนนหนทางกระจายลึกเข้าไปยังพื้นที่ที่เดินทางเข้าถึงลำบาก เพื่อให้การคมนาคมและติดต่อสื่อสารกันสามารถทำได้สะดวกขึ้น เมื่อเดินทางไปทำงาน ไปค้าขาย ไปติดต่อธุรกิจระหว่างกันได้ง่าย ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อหาโอกาสให้กับตัวเองและครอบครัว

นอกจากนี้แล้ว การพัฒนายังให้ความสำคัญกับทุนเดิมของพื้นที่ ด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและยกระดับการทำเกษตรในพื้นที่สูง เพื่อให้การพัฒนามีความกว้างพอที่จะโอบรับเอาคนในทุกกลุ่มเข้ามาร่วมขบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงต้องมีการมองเชิงลึกว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากทุนเดิมของกุ้ยโจวให้ลึกซึ้งขึ้น ตัวอย่าง คือ การพัฒนาหมู่บ้านชนชาติเหมียวจากหมู่บ้านที่ไกลปืนเที่ยงให้กลายมาเป็นจุดหมายสำคัญที่ดึงดูดคนจีนและชาวต่างชาติให้ไปสัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อชาวเหมียวสามารถอยู่ที่เดิม แต่มีช่องทางทำมาหากินต่างไปจากเดิม ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น

ยุทธศาสตร์ 1 สูง (มูลค่าเพิ่ม) 2 ต่ำ (ต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนการพัฒนาคน) และยุทธศาสตร์ 2 กว้าง (โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่) และ 2 ลึก (โครงสร้างพื้นฐานทุกพื้นที่ และการใช้ประโยชน์จากทุนเดิมให้ลึกซึ้งขึ้น) ยังถูกครอบด้วยภาพใหญ่ของการเติบโตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนอยู่ในเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดี มีความสะดวกสบาย มีการออกแบบพื้นที่อย่างระมัดระวัง เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายเมืองในกุ้ยโจว โดยเฉพาะกุ้ยหยางซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑล กลายเป็นเมืองน่าอยู่ทันสมัย มีสภาพแวดล้อมดี ในบางมุม เมืองใหญ่เหล่านี้มีความเจริญสวยงามไม่แพ้เซี่ยงไฮ้เลยทีเดียว

พอนำเอาภาพย่อยทั้งหมดมาประกอบกันเป็นภาพใหญ่จะเห็นชัดว่ากุ้ยโจวพยายามทำให้ทุกพื้นที่กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในแบบของตัวเอง ความสำเร็จในช่วง 5 ปีนี้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประชาชนส่วนหนึ่งมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเชื่อได้ว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า กุ้ยโจวจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้อีก

 บทเรียนจากการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ สามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยทั้ง 10 จังหวัด เพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษของเราสามารถเดินหน้าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน