ประเทศไทยเตรียมรับมือกับสังคมสูงวัย

ประเทศไทยเตรียมรับมือกับสังคมสูงวัย

ผู้เขียนได้เข้าประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. ประเด็นปัญหาประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่อัตราเกิดก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 16.7%(11.312447 คน)ในปี 2560 และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 22.9%  โดยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 34,307,877 คน

ปัจจุบัน มีครอบครัวไทยที่คู่สามีภรรยาไม่มีลูก 16.2 % และเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 7.1% โดยอัตราเกิดลดลง จากปี 2513 มีอัตราเกิด 40 : 1,000 เหลือเพียง 13 : 1,000 ในปี 2560 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่า ในอีก 20 ปี อัตราเกิดจะลดเหลือ 10 : 1,000 และอัตราเพิ่มของประชากร จะลดลงจาก 3.3% ในปี 2513 เหลือ 0.5% ในปี 2560 และจะเหลือเพียง -0.1% (กล่าวคือมีคนตายมากกว่าคนเกิด)

สรุปปัญหาที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือ การเตรียมตัวรับสังคมสูงวัย และแก้ปัญหาการเกิดน้อย ทำอย่างไรจะให้พลเมืองมีลูกมากขึ้น

การเตรียมรับสังคมสูงวัยก็คือ การแก้ปัญหาที่เกิดจากภาวะของการ เป็นคนแก่ ซึ่งจะเผชิญปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าวัยอื่น ปัญหาการขาดรายได้ (ไม่มีงานทำ ไม่มีความสามารถที่จะทำงานได้ )และปัญหาการดำรงชีวิตด้วยตนเองไม่ได้ ต้องอยู่ติดบ้าน (เดินทางออกนอกบ้านไม่ได้ ถ้าไม่มีคนพาไป) หรือติดเตียง (ป่วย ลุกออกจากเตียงเองไม่ได้) จำเป็นต้องมีผู้ดูแล ซึ่งครอบครัวไทยส่วนมากแล้ว ก็ยังมีลูกหลานญาติพี่น้องช่วยกันดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีคนแก่ที่ไร้ญาติขาดมิตร หรือไม่มีครอบครัวที่จะดูแล ก็จะต้องเป็นปัญหาที่สังคม หรือรัฐบาลจะต้องเตรียมการ ซึ่งจะต้องรองรับในด้านการดูแลรักษาในยามเจ็บป่วยได้ด้วย

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะนี้เราได้คาดการณ์ไว้แล้วว่า เราจะมีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้นทุกปี แต่เรายังไม่มีการกระตุ้นให้พลเมืองไทย เตรียมตัวเป็น ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี แข็งแรงสมวัย หรือที่เรียกกันในทางวิชาการว่า เป็นสังคมที่มีคนแก่ที่มีสุขภาพดี คือ “Healthy Aging”  ที่มีส่วนสำคัญจาก “พฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว”  เช่น การกินอาหาร น้ำดื่ม การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับ ทางสังคม หลักยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนาและสังคม การงดเว้นจากพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสุขภาพ ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และการป้องกันโรค การตรวจคัดกรองโรค(ตามวัย) และการได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งการฟิ้นฟูสุขภาพภายหลังการเจ็บป่วยด้วย

 ส่วนบริการสาธารณะที่จะทำให้พลเมืองมีสุขภาพดี ได้แก่การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปราศจากมลพิษ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องจัดสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา สถานบริการด้านสาธารณสุข เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรค และควบคุมสัตว์นำโรค ฯลฯ และควรมีการให้การศึกษาแก่ประชาชนให้มีความรู้ในคนทุกวัย เพื่อให้พลเมืองทุกคนมีสุขภาพดี ก็จะช่วยลดการเจ็บป่วยได้

หมายเหตุ โปรดสังเกตว่า คนไทย ได้ใช้คำว่า “เจ็บป่วย” เป็นคำอธิบายอย่างครอบคลุมว่าสุขภาพไม่ดี ซึ่งมักจะมีอาการไม่สบายตัว เจ็บ/ปวด ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จากโรค หรืออุบัติเหตุก็ได้ ซึ่งการเจ็บป่วยนี้ ทำให้สุขภาพทรุดโทรม และสมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงานลดน้อยถอยลงจากภาวะที่ไม่เจ็บป่วย

ฉะนั้นถ้าทุกคนสามารถดูแลรักษาสุขภาพให้ดีและแข็งแรงมาตั้งแจาวัยเด็ก ไปตลอดถึงวัยชรา ก็จะเป็นคนที่มีสุขภาพดีได้ยาวนานตลอดสิ้นอายุขัยตามธรรมชาติ หรือต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยกว่าคนแก่ที่สุขภาพไม่ดี และความต้องการในชีวิตประจำวันก็อาจจะลดความต้องการในการพึ่งพิงผู้อื่นหรือครอบครัว หรือสถานสงเคราะห์คนชราน้อยลง

 มีการกล่าวถึงการแก้ปัญหาคนเกิดน้อยลง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการขาดทรัพยากรบุคคลที่จะสร้างผลผลิตในทางเศรษฐกิจของประเทศ และรัฐบาลก็มีการสร้างแรงจูงใจ ให้พลเมืองมีบุตรมากขึ้น โดยการเพิ่มการหักค่าลดหย่อนภาษีเพื่อเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คงจะช่วยลดภาระการเงินของพ่อแม่ได้ในระดับหนึ่ง

แต่ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหมอเด็ก และได้พูดคุยเรื่องปัญหาการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี ก่อนส่งเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว พอสรุปได้ว่า ปัจจุบันนี้ ปัญหาหนักอกหนักใจของพ่อแม่เด็กวัยนี้ คือขาดผู้ดูแลเลี้ยงดูที่ไว้ใจได้ เพราะทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็ทำให้ไม่ยอมตัดสินใจที่จะมีลูก และพอถึงวัยอนุบาล หรือวัยเรียนแล้ว พ่อแม่ก็มีปัญหาเรื่องการเลือกโรงเรียนที่(ตนคิดหรือเชื่อว่าดีพอสำหรับลูก) ซึ่งมักจะอยู่ไกลบ้าน และเป็นภาระในการรับส่งลูกไปโรงเรียนรถก็ติด ลูกก็ต้อง “เติบโตในรถ” เนื่องจาก ต้องเดินทางวันละหลายๆชั่วโมง ถ้าจะให้ไปกับรถโรงเรียน ก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยอีก ส่วนเด็กในชนบทน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่มีโรงเรียนให้เลือกมาก มีใกล้บ้านก็เรียนกันไป แต่พอระดับมัธยมก็ต้องเดินทางไกลอีกเหมือนกัน

ผู้เขียนขอเสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำเพิ่ม(จากมาตรการทางภาษีแล้ว) ในการจูงใจให้พลเมืองอยากมีลูกมากขึ้นก็คือ

1.การเพิ่มขยายวันลาคลอดให้ครบ 6 เดือน- 1 ปี เพื่อทำให้แม่ได้ลาหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูบุตรในวัยทารก และได้ให้นมแม่เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการได้ดีที่สุดตามศักยภาพ โดยอาจจะให้หยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างเต็มเป็นเวลา 6 เดือน และจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งในเวลาอีก 6 เดือน ในระยะ6 เดือนแรก ควรให้สิทธิการลาเป็นของแม่ แต่ใน 6 เดือนหลังอาจจะให้พ่อมีสิทธิลาต่อได้

ทั้งนี้ขอให้เริ่มในสถานที่ราชการก่อน เพื่อเป็นแนวทางให้เอกชนทำตาม

2.ถ้าสถานที่ทำงานใด ไม่สามารถให้แม่ลาคลอดและลาเลี้ยงลูกได้ถึง 12 เดือน ต้องให้สิทธิลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องมีสถานรับเลี้ยงเด็กในเวลากลางวันที่มีมาตรฐาน (Day Care Center) เพื่อให้แม่เอาลูกไปฝากเลี้ยงในเวลาที่ไปทำงานได้ ถ้าสถานทำงานใดไม่ทำเช่นนี้ ต้องมีมาตรการลงโทษทางภาษี

3. การปฏิรูปโรงเรียนทั้งในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ทุกอำเภอหรือทุกเขตมีโรงเรียนอนุบาลและประถมที่มีคุณภาพเหมือนๆกันและโรงเรียนควรมีการจัดดรถประจำในการรับนักเรียน เพื่อควบคุมให้มีมาตรฐานความปลอดภัย

สรุปจากการเขียนบทความนี้ก็คือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดอายุขัย คือการพัฒนา สุขภาพและการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่พลเมืองและรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติและรับผิดชอบร่วมกันในการพัฒนาดังกล่าว เพื่อให้เกิดสังคมสูงวัยที่ประกอบด้วยคนสุขภาพดี และการพัฒนาคุณภาพในการเลี้ยงดู พัฒนาเด็ก เพื่อส่งเสริมให้มีอัตราเกิดเพิ่มขึ้น ตามความมุ่งหวังเพื่ออนาคตอันใกล้นี้

โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมาธิการการสาธารณสุข สนช.