ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ (12-จบ)

ราชนีติ : วิถีพระราชา มรรคาผู้นำ (12-จบ)

ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของคัมภีร์ราชนีติ ซึ่งมีฉบับแปลภาษาไทยเท่าที่พบมี 2 ฉบับ คือ ฉบับแปลโดยนายทอง หงส์ลดารมภ์ และฉบับแปลโดย พระยาอนุมาราชธน

โดยฉบับของนายทอง หงส์ลดารมภ์ ได้ยกคาถาบาลี (ถอดเป็นอักษรไทย) มาไว้ด้วย และแปลมาทั้งหมด 153 คาถา ส่วนฉบับแปลของพระยาอนุมานราชธนนั้น แปลมาทั้งสิ้น 118 คาถา ในที่นี้ ได้อาศัยอ้างอิงจากฉบับแปลของนายทอง หงส์ลดารมภ์ เป็นหลัก

ต่อจากนี้ขอเชิญศึกษาเนื้อหาตอนสุดท้ายของราชนีติไปพร้อมกัน ดังนี้

คาถาบทที่ 146 แม่น้ำใหญ่จะตรงหรืออ้อมก็ตาม ย่อมเป็นเอง ไม่มีใครทำให้เป็นได้ฉันใด ความสงบหรือความจลาจล พระราชาธิบดีผู้ทรงอำนาจอิสระก็ทรงทำเอง เพราะพระองค์ก็เป็นอธิบดีแห่งรัฐของพระองค์

คาถาบทที่ 147 ลูกทำชั่วก็ถึงแม่ ลูกศิษย์ทำชั่วก็ถึงครู ชาวเมืองทำชั่วก็ถึงพระราชาธิบดี พระราชาธิบดีทำชั่วก็ถึงปุโรหิต

คาถาบทที่ 148 เมื่ออาณาประชาราษฎร์ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง แบ่งออกเป็น 6 ส่วน พระเจ้าอยู่หัวก็ต้องได้ส่วนหนึ่งจากคนทั้งปวงนั้น เพราะฉะนั้น พระเจ้าอยู่หัวต้องไม่ทำชั่ว ต้องทรงบำรุงให้เจริญโดยส่วนเดียว ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้า

คาถาบทที่ 149 ชีวิตของคนพาลน้อยนัก ชีวิตของบัณฑิตมากกว่ามาก ชีวิตของประชาชนก็คือพระเจ้าอยู่หัว พระชนม์ชีพของพระเจ้าอยู่หัวก็คือราชธรรมนั่นเอง

คาถาบทที่ 150 พลเมืองไม่มีผู้นำก็พินาศ มีผู้นำมากก็พินาศ มีหญิงเป็นหัวหน้าก็พินาศ มีคนหนุ่มคะนองเป็นหัวหน้าก็พินาศ

คาถาบทที่ 151 แม่เต่า แม่ปลา แม่ไก่ แม่โค เลี้ยงลูกฉันใด พระราชาธิบดีผู้จอมนรชน ก็ทรงบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสุขฉันนั้น

คาถาบทที่ 152 พระเจ้าอยู่หัวทรงรอบรู้คัมภีร์นีติศาสตร์ จนสอดคล้องในพระราชหฤทัย ทรงรอบรู้นัยะต่างๆ เป็นอย่างดี ก็ย่อมจะไม่ถึงความพินาศ ทั้งยังทรงได้ชัยชำนะทั่วรัฐมณฑล และทรงเพลิดเพลินในสวรรค์

คาถาบทที่ 153 ท่านพราหมณ์อนันตญาณกับท่านพราหมณ์คณามิสกะผู้เป็นราชปุโรหิตของพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้รจนาคัมภีร์ราชนีตินี้ไว้เพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ประชุมชนนี้ฉะแล

คัดจากฉบับแปลของ นายทอง หงส์ลดารมณ์ ซึ่งจบลงที่คาถาบทที่ 153 ส่วนฉบับแปลของพระยาอนุมานราชธน จบลงที่คาถาบทที่ 118 โดยคาถาสองบทสุดท้าย คือ บทที่ 117-118 มีเนื้อความต่างกันแต่ใจความเดียวกันกับคาถาบทที่ 152-153 ของฉบับนายทอง หงส์ลดารมณ์

คาถาบทที่ 146-153 ที่ยกมานี้ เป็นบทสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันอย่างสำคัญของพระราชา ประชาราษฎร์ และอาณาจักร การที่อาณาจักรจะมั่นคงอยู่ได้นั้น ย่อมอาศัยความผูกพันแน่นแฟ้นระหว่างพระราชาและประชาราษฎร์ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเอาใจใส่กันและกัน พระราชาต้องทำนุบำรุงประชาราษฎร์ ประชาราษฎร์ก็ต้องให้ความเคารพและภักดีต่อพระราชา เมื่อทั้ง 2 ส่วนประกอบกันอย่างแน่นหนามั่นคงแล้ว อาณาจักรก็ย่อมมั่นคงเป็นปึกแผ่นไปด้วย ซึ่งคัมภีร์ราชนีติก็รจนาขึ้นเพื่อการนี้นั่นเอง

ผู้นำก็เช่นกัน ไม่ว่าระดับใดก็ตาม ย่อมจะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิกในประเทศ ในองค์กร ในสังคมของตน ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกันจึงจะส่งผลให้ประเทศหรือองค์กรหรือหน่วยสังคมของตนมั่นคงและก้าวหน้า หรืออย่างเลวที่สุดก็อยู่จุดเดิมโดยไม่ถอยหลังหรือล่มสลาย ความขัดแย้งระหว่างผู้นำและสมาชิกในสังคมและในองค์กรทุกระดับ ย่อมทำให้เกิดความเสื่อมมากกว่าความก้าวหน้า โดยมีประจักษ์หลักฐานให้เห็นอยู่เสมอ

หวังว่าข้อคิดจากคัมภีร์ราชนีติที่ได้ยกมาศึกษาตั้งแต่ต้นจนจบนี้ จะมีประโยชน์แก่ทั้ง “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” ทุกระดับ แม้จะเขียนขึ้นมานานนับพันปีแล้วก็เชื่อว่ายังคงใช้ได้อยู่ เนื่องมาจากจิตใจของมนุษย์นั้น แม้จะผ่านกาลมานานเพียงใด แต่พื้นฐานหรือสันดานดิบก็ยังคงไม่ต่างจากเมื่อพันปีก่อน หวังว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

ขอแสดงความคารวะผู้รจนาคัมภีร์นี้และผู้แปลทั้งท่านคือ นายทอง หงส์ลดารมภ์และพระยาอนุมานราชธนด้วยความเคารพยิ่ง