Sustainable Banking บนเส้นทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

Sustainable Banking บนเส้นทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนา Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความสำคัญและพัฒนาการของ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) ผมขอแบ่งปัน Key Takeaway จากงานสัมมนาครั้งนี้ โดยเฉพาะในหัวข้อ Financing While Preserving Environment

ด้วยบทบาทหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์จึงเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเงินลงทุนในอุตสาหกรรมหรือโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Smart Investment) ซึ่งบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC) คาดการณ์ว่าในช่วง 12 ปีข้างหน้า ความต้องการด้านการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Climate Smart Investment อาทิ พลังงานหมุนเวียน การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีมูลค่าสูงถึง 25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 806.3 ล้านล้านบาท)

ในภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์เป็นผู้นำในด้านการลงทุนหรือการให้สินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐบาลสิงคโปร์ รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy)ผ่านนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขการสร้างระบบกลไกตลาดที่เหมาะสม ที่จะช่วยส่งเสริมให้การยกระดับและพัฒนาระบบการเงินการธนาคารมีความเหมาะสมและสามารถรองรับโอกาสและความต้องการการลงทุนที่มีมูลค่าอันมหาศาลนี้ต่อไป

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore : MAS) ได้กำหนดนโยบาย รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อภาคการเงินการธนาคารเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่ครอบคลุมบริบทภายใต้มิติของความยั่งยืน ตามหลักการ Comply or Explain อีกด้วย

นอกเหนือไปกว่านั้น ภายใต้ Green Bond Grant Scheme ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ออกมาตรการสนับสนุนในด้านค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการเงินกู้ที่ระดมผ่านการออกกรีนบอนด์ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ตรวจสอบภายนอก (External Review) ในการออกหุ้นกู้กรีนบอนด์ที่มีวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป และมีอายุขั้นต่ำ 3 ปี โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือจะต้องเสนอขายและจดทะเบียนซื้อขายกรีนบอนด์ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange: SGX) ทั้งนี้ บริษัทที่สามารถขอเข้ารับเงินช่วยเหลือจากโครงการ Green Bond Grant Schemeนั้น ไม่จำกัดเพียงเฉพาะบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายของธนาคารกลางสิงคโปร์ในการดึงดูดบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศให้ระดมทุนผ่านกรีนบอนด์ในสิงคโปร์

นอกเหนือไปจากการดำเนินการในส่วนของภาครัฐแล้ว สมาคมธนาคารสิงคโปร์ (Association of Banks in Singapore : ABS) ได้ออกข้อเสนอแนะ (Guideline) สำหรับธนาคารพาณิชย์ในด้านการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต้นที่ธนาคารสมาชิกจะต้องถือปฏิบัติ อาทิ การประกาศเจตนารมณ์ รวมถึงการกำหนดนโยบายในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน ผ่านกระบวนการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมการประเมินผลกระทบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) มิติด้านสังคม (Social) และมิติด้านธรรมาภิบาล (Governance)

โดยสรุปแล้วผมเชื่อว่าพัฒนาการด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืนเป็นทั้งสิ่งที่ต้องดำเนินการ และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการริเริ่มของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินการธนาคารเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านกรอบการพัฒนาการให้บริการทางการเงินที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม โดยผมหวังว่าในส่วนของภาคธนาคารพาณิชย์เอง ควรเร่งพัฒนาและดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว โดยอาจพิจารณารูปแบบความร่วมมือผ่านสมาคมธนาคารไทย รวมถึงหลักการ Comply or Explain ของสิงคโปร์มาปรับใช้หรือต่อยอดก็จะสามารถช่วยเร่งกระบวนการขับเคลื่อนสู่ Sustainable Banking ได้อีกทางหนึ่งครับ