เศรษฐกิจไทยผ่านจุดสูงสุด ‘ฐานราก’ยังไร้อานิสงส์

เศรษฐกิจไทยผ่านจุดสูงสุด  ‘ฐานราก’ยังไร้อานิสงส์

สัปดาห์ที่ผ่านมา “กรุงเทพธุรกิจ” จัดเสวนาโต๊ะกลมภายใน โดยเชิญนักเศรษฐศาสตร์จากหลายๆ สำนัก

มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงเศรษฐกิจและนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้

ผู้ร่วมเสวนามี 4 ท่าน ได้แก่ ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย , ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา , ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร และ ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ทั้ง 4 ท่านมีมุมมองทางเศรษฐกิจตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง จากการส่งออกที่เริ่มแผ่วลง และการท่องเที่ยวซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต

ฟังแบบนี้ ต้องบอกว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะหมายความว่า เศรษฐกิจไทยอาจ “ผ่านจุดสูงสุด” ไปแล้ว ..ที่น่าเศร้าเพราะ เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่องและ “กำลังจะ” หรือ “อาจจะ” ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่การขยายตัวยังกระจุกเฉพาะคนกลุ่มบน ส่วนคนกลุ่มล่าง หรือ “ฐานราก” ยังไม่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้เลย

ตัวเลขเร็วๆ ที่พอบ่งชี้ได้ คือ การบริโภคสินค้าคงทน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เติบโตในระดับ “2 หลัก” มาต่อเนื่องร่วมปี ขณะที่ การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า หรือสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม แทบจะไม่เติบโตเลย

ยอดขายรถจักรยานยนต์ เป็นเครื่องชี้วัดที่ดี ที่ผ่านมายอดขายโตต่อเนื่อง แต่เป็นการโตเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ “บิ๊กไบค์” ขณะที่ รถจักรยานยนต์ทั่วไปนิ่งสนิท

นอกจากนี้ ถ้าดูธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มบน โดยเฉพาะธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง(ไพรเวทเวลธ์) จะเห็นว่า เป็นธุรกิจที่คึกคักมาก ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง หันมาเจาะตลาดนี้ ถึงขั้นเปิดศึกชิงตัวพนักงานเพื่อมาดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าว

เวทีเสวนาในวันนั้น ตั้งวงถกกันว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ละท่านให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

ดร.เชาว์ บอกว่า ควรต้องทำให้เกษตรกรซึ่งถือเป็นคนต้นน้ำ มาอยู่กลางน้ำและปลายน้ำมากขึ้น หรืออย่างน้อยควรได้ส่วนแบ่งผลตอบแทนจากทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ เหมือนสินค้าประเภท “อ้อย” และ “น้ำตาล” ที่มีส่วนแบ่งผลประโยชน์

ดร.สมประวิณ มองว่า ภาครัฐควรลดการบิดเบือน หรือแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับตัวอย่างดี

ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า ภาคเกษตรจะดี ราคาสินค้าต้องปรับขึ้น จะเห็นว่าช่วงปี 2553-2554 เศรษฐกิจฐานรากขยายตัวดี เพราะราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูง

ดร.ทิม มองว่า ต้องยกผลิตภาพของภาคเกษตร ทำให้สินค้ามีแวลูเพิ่มขึ้น เพียงแต่เรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น

การแก้ไขเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็น “โจทย์ท้าทาย” ภาครัฐ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่า จะยิ่งทำให้ “ความเหลื่อมล้ำ” ถ่างมากขึ้น ถึงตอนนั้นปัญหาเชิงสังคมอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงยิ่งกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอนครับ!