ความประหยัดจากการหมุนวน ใช้วัสดุอุตสาหกรรม

ความประหยัดจากการหมุนวน ใช้วัสดุอุตสาหกรรม

โลกได้ตระหนักดีแล้วว่า ความยั่งยืนของทรัพยากรในโลกกำลังถูกบั่นทอนไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้งจากการพัฒนาในทุกด้าน

และที่สำคัญก็คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคและบริโภคของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

เนื่องจากแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ผ่านตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มุ่งสร้างความสะดวกสบายกินดีอยู่ดีให้กับมนุษยชาติ ด้วยการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในลักษณะของการ นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบ แปรรูปหรือแปรสภาพของวัตถุดิบด้วยการใช้พลังงาน การกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้งในรูปของขยะที่เป็นทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการออกสู่ตลาดเพื่อการบริโภค และต้องหาที่ทิ้งไปเมื่อหมดอายุการใช้งาน

ลักษณะของการพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นในรูปแบบที่เป็นเส้นตรงเริ่มจากการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติไปจนถึงการสร้างขยะเพื่อทิ้ง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และ พลังงาน ถูกนำมาใช้ไปอย่างรวดเร็ว

ยังไม่รวมถึงในขณะที่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมยังมีการสร้างมลภาวะต่างๆ ออกสู่บรรยากาศ แหล่งน้ำ และผิวดิน ตลอดจน การเกิดผลผลิตพลอยได้ (By-product) หรือกากอุตสาหกรรม ต่างๆ ที่ไม่ต้องการ และต้องนำไปทิ้งหรือแอบทำลายอย่างไม่ถูกวิธี จนเกิดเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงต่อความยั่งยืนของโลก และมนุษยชาติ

ในปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ต่างร่วมกันแสวงหาแนวคิดและวิธีปฏิบัติร่วมกันที่จะนำมาสู่การสร้างหรือพัฒนาความยั่งยืนของโลกที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่มาของแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Circular Economy

Circular หมายถึง การหมุนวนหรือหมุนเวียนเพื่อนำมาใช้ซ้ำ ส่วนคำว่า Economy เรามักจะคุ้นเคยกับคำแปลตรงตัวว่าหมายถึง เศรษฐกิจ หรือ ระบบเศรษฐกิจ เราจึงมักได้ยินคำว่า Circular Economy ในภาคภาษาไทยว่า เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

แต่ในอีกความหมายหนึ่ง เช่น ในการเดินทางโดยเครื่องบิน เราจะได้ยินคำว่า Economy Class ซึ่งหมายถึง ที่นั่งชั้นประหยัด ที่สะท้อนว่า เป็นการเดินทางที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า

ดังนั้น Circular Economy ในความหมายของการพัฒนาความยั่งยืนแก่โลก จะหมายถึง ความประหยัดหรือความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าหรือบริการที่คำนึงถึงการนำวัตถุดิบหรือวัสดุประกอบการผลิตที่สามารถนำมาหมุนวนใช้ซ้ำได้หลายๆ รอบ เพื่อยืดอายุใช้งานของวัสดุต่างๆ ให้ได้นานที่สุดก่อนการต้องกำจัดทิ้งไปโดยไม่เกิดมลพิษ

นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ยาวนานขึ้นอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการลดมลภาวะของโลกอีกด้วย

การหมุนวน อาจเกิดขึ้นได้จาก การนำมาใช้ซ้ำ ปรับแต่ง ซ่อมแซม ใช้เป็นส่วนผสม หรือ ผลิตเป็นสินค้าหรือวัสดุอื่น ได้หลังจากหมดอายุใช้งานของสินค้าเดิมไปแล้ว

สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากแนวคิด Circular Economy หรือ CE จะต้องถูกออกแบบให้มีการหมุนวนได้หลายๆ รอบให้ได้มากที่สุด เช่น จะต้องออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน เมื่อผู้บริโภคหมดความต้องการที่จะใช้แล้ว สินค้าตัวเดิมยังสามารถหมุนเวียนมาให้ผู้อื่นใช้ต่อได้

เมื่อสินค้าหมดอายุการใช้งาน ต้องสามารถส่งกลับคืนให้ผู้ผลิตเพื่อนำมาผลิตใหม่ หรือปรับแต่งให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีใช้งานได้และสามารถขายได้ต่ออีกรอบหนึ่ง ในราคาที่ถูกลง

ในรอบที่ 3 เมื่อสินค้าหมดอายุใช้งานอีก วัสดุหรือชิ้นส่วนต่างๆ ที่ยังใช้ได้อยู่ อาจนำไปใช้เป็นอะไหล่ เพื่อซ่อมแซมหรือทดแทนชิ้นส่วนของสินค้าประเภทเดียวกัน หรือสินค้าประเภทอื่นๆ เพื่อใช้งานได้ต่อไป

ในรอบที่ 4 เมื่อวัสดุและชิ้นส่วน หมดอายุใช้งานจำเป็นต้องกำจัดทิ้ง จะต้องมีวิธีการกำจัดที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษหรือผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตอื่น และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

จากตัวอย่างของการหมุนวนดังกล่าว เมื่อวิเคราะห์ในเชิงการพัฒนาความยั่งยืนที่วัดจากผลกระทบใน 3 มิติ ซึ่งได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่า ความประหยัดและความคุ้มค่าของ CE สามารถกระจายไปยังมิติของความยั่งยืนทั้ง 3 มิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่น ในขั้นตอนแรกของการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ ในมิติของสิ่งแวดล้อม อัตราการนำทรัพยากรธรรมชาติใหม่มาใช้จะลดลง ในมิติของเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิต และปริมาณการใช้พลังงาน จากการแปรรูปวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติใหม่ก็จะลดลง หากอุตสาหกรรมสามารถนำวัตถุดิบเดิมมาผลิตได้ใหม่ ก็จะสามารถสร้างยอดขายและผลกำไรได้ใหม่อีกรอบหนึ่ง ธุรกิจและอุตสาหกรรมจะมีภาพลักษณ์ดีขึ้นจากการมีส่วนร่วมในการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนในมิติด้านสังคม ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและหาได้ยากก็จะถูกทำลายน้อยลง สภาพของธรรมชาติยังคงอยู่ได้ยาวนานขึ้น

ในช่วงกลางของการใช้งานสินค้า จะมีการผลิตซ้ำแบบหมุนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับระบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งแบบเส้นตรง ระบบเศรษฐกิจและสังคม จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน หรือ การสร้างนวัตกรรมจากการนำวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ในรูปแบบใหม่ และการสร้างจิตสำนึกที่ดีร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับภาคอุตสาหกรรมที่เกิดประโยชน์ร่วมจากการแบ่งปันและการใช้ซ้ำ

ในช่วงสุดท้ายของการใช้งาน วัสดุที่ต้องกำจัดทิ้ง ก็จะมีวิธีการที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบหรือเกิดมลพิษ ในมิติทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมในการกำจัดขยะก็จะลดลง รวมถึงการลดความเสี่ยงต่อการทำผิดกฏหมายหรือกฏระเบียบในการกำจัดขยะหรือการก่อให้เกิดมลพิษ ส่วนประโยชน์ในมิติของสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็คือ การลดลงของมลพิษจากขยะ น้ำเสีย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทั่วไป

จะเห็นได้ว่า แนวคิด CE ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนไปที่ไหน แต่ความประหยัดจากการหมุนวนใช้ซ้ำของวัสดุที่ได้รับการออกแบบที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปได้พร้อมๆ กันในทั้ง 3 มิติของความยั่งยืน