The 4.0 World

The 4.0 World

สิ่งที่แน่นอนคือการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าคิดคือการเปลี่ยนแปลงของโลก 4.0

ผมเพิ่งไปร่วมงานประชุมประจำปีองค์กรใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ซีอีโอเล่าให้ฟังถึงความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลง มีข้อมูลน่าสนใจสรุปไว้หลายอย่าง เป็นตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะกำลังเกิดทุกแห่งโดยเฉพาะในเอเชีย

เริ่มจากความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมการบินใช้เวลา 68 ปีในการหาลูกค้า 50 ล้านคน ATM ใช้เวลา 18 ปีในการสร้างผู้ใช้จำนวนเดียวกัน โทรศัพท์มือถือใช้ 12 ปี WeChat แอพพลิเคชั่นใช้เวลา 1 ปี และ Pokemon Go ใช้เวลาสร้างผู้ใช้ 50 ล้านคนเพียง 19 วัน

ภายในปี 2573 ราว 80% ของงานจะใช้ระบบอัตโนมัติผ่าน Robotics และ AI ส่วน 80% ของการผลิตจะเลิกพึ่งผู้จำหน่ายคนกลาง ในปี 2563 อุปกรณ์สื่อสาร 3 หมื่นล้านเครื่องจะเชื่อมต่อกัน และ Internet of Things หรือการพูดคุยระหว่างอุปกรณ์โดยไม่ผ่านมนุษย์จะมีมูลค่าถึง 14.4 ล้านล้านดอลลาร์

ถ้าเอาเฉพาะมาเลเซีย e-Commerce เติบโตเฉลี่ย 21% Lazada มีคนเข้าช้อปเดือนละเกือบ 60 ล้านครั้ง (2 เท่าของประชากรประเทศ) คนดู iflix เกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน 58% ใช้เฟซบุ๊คในการติดตามข่าว การจ่ายเงินเป็น Cashless กระทั่งเช็กอินขึ้นเครื่องที่สนามบินก็ใช้เทคโนโลยี Facial Recognition แทนการแสตมป์ตรายาง 80% ของพลเมืองเป็น internet users คนมาเลเซีย 1 ใน 4 ของประเทศเป็น Gen Y & Gen Z และ 1 ใน 3 ของจำนวนนั้นไม่เคยไปธนาคาร ใช้มือถือล้วน ๆ ในการทำธุรกรรม

จำนวนเวลาเฉลี่ยที่คนมาเลเซียออนไลน์คือ 8 ชั่วโมง 27 นาที มากกว่าที่คนส่วนมากนอนเสียอีก!

ในมุมกลับกัน ซีอีโอท่านนี้ยกข้อมูลด้านลบซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ชาวมาเลเซีย 4 จาก 10 คนมีปัญหาทางประสาท 1 ใน 3 ฆ่าตัวตายจากอาการทางจิต และคน 300 ล้านคนทั่วโลกเป็นโรคซึมเศร้า

มาดูด้านอาชีพบ้าง งาน 7 ล้านตำแหน่งหายไปแล้ว อีก 30-50% จะตามไปติด ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คนที่เคยทำงานวิชาชีพ 1 ใน 2 คนจะตกงาน 72% ของคนมาเลเซียขาดทักษะสำคัญของการทำงานในอนาคต และ 68% เป็นห่วงว่าตนจะไม่มีวิธีสร้างรายได้เมื่อหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน

ในโลกของ The 1% บนความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ซีอีโอท่านนี้อ้างอิงข้อมูลจาก Ted Talk ของ Richard Wilkinson บ่งชี้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาด้านสังคม Social Progress ดีที่สุดและมีช่องว่างระหว่างรายได้ต่ำที่สุด (Best Quadrant) ส่วนอีกฟากคือสหรัฐอเมริกา มี Social Progress ต่ำที่สุดและช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากที่สุด (Worst Quadrant) มาเลเซียอยู่กลาง ๆ คะแนนที่ต่ำมาจากพัฒนาการด้านสังคม ผมเดาว่าน่าจะเกิดจากมาตรฐานอันหลากหลายของคนหลายเชื้อชาติ ส่วนข้อมูลประเทศไทยไม่ยักมี

สุดท้ายเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีระเบียบ ข่าวร้ายคือคนมาเลเซีย 1 ใน 2 คนไม่เชื่อถือการทำงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ บริษัท หรือกระทั่ง NGO (อยากรู้จังว่าข้อนี้เมืองไทยได้เท่าไหร่) 60% กังวลต่อคุณธรรมที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ ของสังคม คนสมัยนี้ต้องการ Likes และ Follows โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือเปล่า Instant fames not from values and positive contributions to the society

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. What Does It All Mean? คำถามโลกแตกนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้เราช่วยกันค้นหา บนความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ผลกระทบที่ตามมาย่อมรวดเร็วตามไปด้วย ข้อดีคือบน connectivity and technology คนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ทุกคนมีพลังในการสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลก ใครสนใจแนวคิดนี้เพิ่มเติม ผมแนะนำหนังสือชื่อ WTF?: What's the Future and Why It's Up to Us โดย Tim O'Reilly ครับ

2. FoMO จะอยู่ได้ในโลกแบบนี้ต้องมีระบบ Executive Function หรือสมองส่วนหน้าที่เข้มแข็ง FoMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out พฤติกรรมคือคนที่ต้องก้มหน้าดูจอตลอดเวลาเพราะกลัวว่าตนจะ “พลาด” อะไรไป การติดมือถือไม่ต่างอะไรจากยาเสพติด Dopamine ในสมองทำให้เราลงแดงแบบเดียวกัน จงหมั่นเช็กฟีดแบ็คตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังติดยาหรือเปล่า

3. Play to Strengths of Humans จุดแข็งของมนุษย์คือสมองส่วนหลัง ทักษะที่หายากที่สุดแต่สร้างมูลค่าให้กับองค์กรมากที่สุดคือ Creativity ความคิดสร้างสรรค์ (GE Innovation Barometer, WEF) งั้นอยากเป็นคนทันสมัยต้องฝึกคิด อย่าทำอะไรเดิม ๆ ซึ่งคอมพิวเตอร์ทำได้ดีกว่าเรา มองโลกในมุมที่แตกต่าง เขาบอกว่าซ้ายลองคิดให้ไปขวา เขาบอกเดินหน้าเราลองหาทางถอยหลัง มองหา 3rd Alternative ที่สร้างประโยชน์ และ create a better future

โลก 4.0 จะหัวหรือจะก้อยนั้นขึ้นอยู่กับเราครับ