นักจับผิด ... นักคิดต้นแบบ

นักจับผิด ... นักคิดต้นแบบ

เชื่อว่า Uber ถูกสร้างขึ้นมาจากการ 'จับผิด' ข้อที่ยังเป็นปัญหาในการใช้บริการรถรับส่งของผู้โดยสาร

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Grab (บริษัทสัญชาติสิงคโปร์) ได้เข้าซื้อทรัพย์สินและธุรกิจทั้งหมดของ Uber ใน 8 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่าที่ตกลงกันไว้กว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา โดยสำนักงานกฎหมายที่ผมสังกัดอยู่ (วีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยให้กับ Grab

Uber เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่ San Francisco ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2009 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนสามารถขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยผมเชื่อว่า Uber ถูกสร้างขึ้นมาจากการ 'จับผิด' ข้อที่ยังเป็นปัญหาในการใช้บริการรถรับส่งของผู้โดยสาร เช่น ความไม่สะดวกในการใช้บริการรถแท็กซี่ที่เป็นสาธารณะและค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปในการใช้บริการรถรับส่งของบริษัทเอกชน ดังนั้น โจทย์ที่ต้องทำการแก้ไขคือการให้มีรถรับส่งเอกชนที่ไม่ใช่รถแท็กซี่มาให้บริการมากขึ้นในราคาที่ถูกลงและด้วยวิธีการเรียกใช้บริการที่สะดวกกว่าการโทรไปเข้าไปนัดหมายผ่านทางบริษัทหรือ call center

Uber จึงได้สร้าง Mobile Application ในโทรศัพท์มือถือขึ้นเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือพนักงานขับรถที่เคยเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนซึ่งมีเป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาก็ได้ลาออกมาผ่อนรถยนต์เป็นของตัวเองและขับรถอยู่ในระบบของ Uber เหมือนกำลังทำอาชีพอิสระไม่ได้เป็นลูกจ้างและสร้างรายได้เองจากค่าโดยสารหลังจากหักค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แก่ Uber ส่วนประชาชนก็ให้ความสนใจมาใช้บริการกันเป็นจำนวนมากเพราะราคาไม่แพงและสามารถเข้าใช้บริการได้โดยสะดวก และมีข้อดีอื่นๆ ที่ Mobile Application จัดเสริมไว้ด้วย เช่น ความปลอดภัยเนื่องจากผู้โดยสารจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคนขับรถที่ Uber ส่งเข้ามาในโทรศัพท์มือถือของตน การทราบค่าโดยสารที่กำหนดจำนวนตายตัวทันทีเมื่อติดต่อขอใช้บริการ การชำระค่าโดยสารโดย credit card ให้แก่ Uber ไม่ต้องจ่ายเงินสดให้แก่คนขับ ฯลฯ

ผมพบว่าในเมืองใหญ่ๆ ของต่างประเทศ เช่น นิวยอร์ค และลอนดอน ซึ่งผมได้ใช้บริการ Uber อยู่เป็นประจำนั้น คนขับรถในระบบของ Uber ไม่ใช่คนที่หารายได้พิเศษหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจากงานประจำ แต่เป็นพวกที่ขับรถเป็นอาชีพไม่ได้มีงานหลักอย่างอื่น ซึ่งผมเชื่อว่ารูปแบบนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันในประเทศอื่นๆ ที่ Uber ประสบความสำเร็จ ส่วนสาเหตุที่คนเหล่านี้เลือกที่จะขับรถรับจ้างให้แก่ Uber เป็นอาชีพโดยไม่เลือกที่จะไปขับรถแท็กซี่เป็นเรื่องที่เกินความรับรู้ของผม

ดังนั้น เมื่อ Uber เริ่มให้บริการในกรุงเทพมหานคร ผมจึงเริ่มมีความสงสัยว่าจะมีคนไทยมาขับรถรับจ้างในระบบของ Uber มากเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการหรือไม่ เพราะคนไทยที่ขับรถเป็นอาชีพน่าจะเลือกที่จะขับรถแท็กซี่ เพราะเป็นความคุ้นชิน (Comfort Zone) ที่เปลี่ยนไม่ได้ง่ายๆ ส่วนคนที่มีอาชีพหลักอย่างอื่นอยู่แล้วและต้องการหารายได้พิเศษด้วยการขับรถในระบบ Uber ก็น่าจะมีไม่มากนัก และก็คงจะทำได้เพียงแค่ช่วงหลังเลิกงานซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่จะมีผู้ใช้บริการจำนวนน้อยลงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ

Grab เป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาโดยคนในภูมิภาคนี้ในปี ค.ศ. 2012 และใช้ Mobile Application ในโทรศัพท์มือถือคล้ายกับ Uber แต่ Grab ไม่ได้ให้บริการแบบเดียวกับ Uber เพราะ Grab ให้บริการจัดหารถแท็กซี่สาธารณะให้มารับส่งผู้โดยสาร

Grab เลียนแบบ Uber แต่สร้างความแตกต่างขึ้นมาได้สำเร็จโดยการ 'จับผิด' ข้อที่ยังเป็นปัญหาในธุรกิจของ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ซึ่งเกิดจากการไม่มีคนมาขับรถรับจ้าง (ที่ไม่ใช่รถแท็กซี่) ในระบบได้มากเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ Grab เพียงแต่ชักชวนคนขับรถแท็กซี่ที่มีอยู่แล้วให้เข้ามาร่วมขับรถแท็กซี่โดยให้ผู้ใช้บริการเรียกใช้บริการผ่าน Mobile Application ในโทรศัพท์มือถือซึ่ง Grab เป็นผู้ดูแลอยู่ ซึ่งให้ความสะดวกและมีประโยชน์อื่นๆ แก่ผู้ใช้บริการไม่แตกต่างจาก Uber จนกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วสำหรับประชาชนที่ต้องการใช้บริการรถรับจ้าง แต่ได้รับความไม่สะดวกจากการโบกรถแท็กซี่บนท้องถนน ความไม่ปลอดภัย ความล้าสมัยของระบบ call center ที่ให้บริการเป็นศูนย์เรียกแท็กซี่อยู่ ฯลฯ

ในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายผมจะมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือเป็นผู้รับปัญหาที่ลูกความหรือลูกน้องขบคิดแล้วแต่ยังแก้ไม่ได้หรือได้คำตอบที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งผมก็จะต้อง 'จับผิด' วิธีคิดหรือแนวทางที่ได้มาก่อน แล้วจึงค่อยคิดหาข้อสรุปใหม่จากแนวคิดนั้นจนเกิด 'การคิดต้นแบบ' (คือแนวคิด/แนวทางใหม่ที่ตอบโจทย์ได้) ผมเชื่อว่า 'การคิดต้นแบบ' ไม่จำต้องเป็นสิ่งที่ใหม่ถอดด้ามทั้งหมด และส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่มีผู้ทำอยู่แล้ว แต่จะมีส่วนเพิ่มเติมหรือดัดแปลงที่ทำให้เกิดความใหม่ขึ้นเพื่อตอบโจทย์อันเป็นปัญหาที่มีอยู่ โดยปัจจัยสำคัญคือการ 'จับผิด' ข้อที่ยังไม่สมบูรณ์หรือยังไม่ตอบโจทย์ และคิดสร้างสิ่งใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ (The hallmark of originality is rejecting the default and exploring whether a better option exists. จากหนังสือ Originals เขียนโดย Adam Grant)

You cannot dig a hole in a different place by digging the same hole deeper. Edward de Bono

www.facebook/Weerawong: Wonderful Ways