ประสบการณ์การทำงานในช่วง 50 ปี

ประสบการณ์การทำงานในช่วง 50 ปี

ผมเขียนหนังสือและทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ ทำให้ผมได้งานทันทีที่สอบไล่เทอมสุดท้ายเสร็จ (เม.ย. 2512)

คืองานกองบรรณาธิการ นิตยสารชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษาประชาชน ของบริษัทไทยวัฒนาพานิช เป็นนิตยสารออกใหม่นำโดยคุณอนุช อาภาภิรม เป็นนิตยสารเชิงสารคดีความรู้และข้อคิด รวมทั้งศิลปะวรรณกรรมสำหรับคนหนุ่มสาวและประชาชนทั่วไป ออกเป็นรายปักษ์ (2 สัปดาห์) และพิมพ์ราว 1-2 หมื่นฉบับ เป็นงานที่สนุก ท้าทาย และผมได้เรียนรู้ฝึกฝนการอ่าน แปล สรุปความ เป็นบรรณาธิการ ฯลฯ มาก ทำได้ปีเดียว นิตยสารถูกแรงบีบให้ต้องยุติการออก แม้จะเปลี่ยนมาเป็นวิทยาสารปริทัศน์ ที่อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์เข้ามาเป็นบรรณาธิการ อีกราวปีต่อมานิตยสารนี้ก็ยุติการออกเช่นกัน ผมยังคงช่วยทำนิตยสารวิทยาสาร สำหรับครูต่อ แต่เริ่มสนุกลดลง

ราวปี 2515 ผมย้ายไปอยู่ฝ่ายวิจัยและการวางแผน ธนาคารกรุงเทพฯ เขียนและทำนิตยสารรายงานเศรษฐกิจรายเดือนและรายปี รวมทั้งการทำจุลสารเผยแพร่ความรู้ทางเศรษฐกิจให้ประชาชนแบบแจกฟรี ที่นี่ผมกลับมาอ่านและศึกษาเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังชอบอ่านวรรณกรรมและหนังสือหลากหลายสาขา เขียนบทความ แปลเรียบเรียง ไปตีพิมพ์ในที่อื่นๆ ด้วย ในช่วงปี 2515-2516 นักศึกษาประชาชนบางส่วนเริ่มตื่นตั;ในการอ่าน แสวงหาความรู้และแนวทางการทำให้สังคมไทยดีขึ้น ผมคบหากับเพื่อนและนักศึกษารุ่นน้องที่เป็นนักเขียนนักกิจกรรม เขียน ทำหนังสือและกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหลังเหตุการณ์นักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ผมยิ่งได้เข้าร่วมทำกิจกรรมการเขียนมากขึ้น เป็นช่วงที่ปัญญาชนที่มีแนวคิดก้าวหน้าทุ่มเททำงานกันอย่างมีความหวังว่าจะเปลี่ยนสังคมไทยให้ดีขึ้นได้

ช่วงเหตุการณ์ทหารและพวกขวาจัดปราบปรามนักศึกษาประชาชน 6 ตุลาคม 2519 ผมเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานธนาคารพาณิชย์ฯ ไปเข้ารับการฝึกอบรมการเป็นครูเรื่องสหภาพแรงงานที่สถาบันการฝึกอบรมของ ILO องค์การแรงงานระหว่างประเทศที่เมืองทอริโน (ตูริน) อิตาลี การฝึกอบรมจบปลายเดือนธันวาคม 2519 แต่ผมยังไม่กล้ากลับเมืองไทย เพราะนักศึกษา นักเขียน นักกิจกรรมหัวก้าวหน้าถูกจับกุมหลายพันคน ผมเดินทางไปหาเพื่อนที่ปารีสและต่อมาไปที่อังกฤษ เพื่อเฝ้ารอดูสถานการณ์ ตอนนั้นต้องลาออกจากงานที่ธนาคารกรุงเทพ ใช้ชีวิตแบบคนจนในเมืองใหญ่ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านไป 2-3 เดือน บรรยากาศการปราบปรามนักศึกษาปัญญาชนผ่อนคลายลง และเพราะผมเป็นแค่นักเขียน จึงคิดว่าน่าจะปลอดภัยที่จะเดินทางกลับบ้านได้ ผมจึงเดินทางกลับและได้ขอกลับไปทำงานที่เดิม

ผมทำงานฝ่ายวิจัยที่ธนาคารกรุงเทพฯ ต่อมาอีกหลายปี เริ่มรู้สึกเบื่อกับการเดินทางไปทำงานทุกวันและงานที่เริ่มซ้ำ และคิดว่าการไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นงานที่เป็นประโยชน์ มีอิสระและมีเวลาเป็นตัวของตัวเองมากกว่า จึงขอทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่สถาบันสังคมศาสตร์ศึกษา (ISS) ที่เมืองเฮก เนเธอร์แลนด์ โดยขอลาธนาคารกรุงเทพฯ ไปเรียนโดยไม่รับเงินเดือน การไปเรียนปริญญาโทที่นั่นตอนเราเป็นผู้ใหญ่อ่านหนังสือมาเยอะ เป็นนักเขียนมีประสบการณ์มาก เรียนแบบเต็มเวลา ทำให้เรียนรู้ได้มาก เรียนจบในช่วงปีครึ่งก็กลับมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพฯ และเริ่มมองหางานใหม่

ผมได้งานเป็นอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2525 ต้องไปตั้งต้นเป็นข้าราชการซี 4 เงินเดือน 4 พันกว่าบาท ต่ำกว่าเงินเดือนเก่าราว 2-3 เท่า ตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงาน และไม่ค่อยคิดเรื่องรายได้มากนัก ทั้งๆ ที่ผมก็มาจากครอบครัวรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ แต่การเป็นคนหัวก้าวหน้าทำให้คิดเรื่องความพอใจในการทำงาน และคิดว่าน่าจะมีเวลาว่างที่จะอ่านและเขียนหนังสือได้มากขึ้น การเป็นอาจารย์ก็เรียนรู้ไปอีกแบบที่ต่างจากการเป็นนักเขียน คือต้องใช้การพูด การสื่อสาร การติดตามช่วยเหลือ ประเมินผลนักศึกษาแบบได้สัมพันธ์กับตัวบุคคลโดยตรง การเขียนหนังสือเราไม่ค่อยจะรู้ว่า คนอ่านแล้วเขารู้สึกอย่างไร ได้อะไร แค่ไหน

ปี 2525 บรรยากาศการแสวงหาความหมายของนักศึกษาซบเซาลงจากช่วงปี 2516 - 2519 มาก มีนักศึกษาที่กลับจากป่า บางคนกลับมาเรียนใหม่และพยายามจะฟื้นฟูกิจกรรมประเภทพัฒนาชนบทอยู่บ้าง วงการวิชาการก็ยังคงมีกลุ่มก้าวหน้าอยู่ ผมช่วยงานทั้งกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีฐานอยู่ที่จุฬาฯ และสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์รายวัน เขียนและแปลหนังสือเล่มด้วย

สอนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ 2-3 ปี สอบชิงทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก ด้านประวัติศาสตร์ ที่ออสเตรเลีย แต่อยู่ได้ปีเศษๆ ก็ตัดสินใจไม่เขียนวิทยานิพนธ์ เรื่องบทบาทและความคิดของปัญญาชนไทยต่อเพราะเบื่อการเขียนตามกรอบคิดที่อาจารย์คาดหมาย และเพราะมีลูกที่อยากให้เวลากับเธอมากกว่า กลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไดhสักพัก ก็ไปหางานใหม่ที่กรุงเทพฯ เพราะตอนนั้นภรรยาและลูกสาวที่เพิ่งเกิดอยู่ที่กรุงเทพฯ ปี 2530 ผมไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อก่อตั้งฝ่ายวิจัยและวางแผนที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ รับนักวิจัยซึ่งส่วนใหญ่จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ 4-5 คน และเริ่มทำรายงานภาวะเศรษฐกิจ ต่อมาผู้บริหารธนาคารเปลี่ยนนโยบาย อยากยุบฝ่ายนี้และจะย้ายผมให้ไปอยู่ฝ่ายพัฒนาบุคคล ผมจึงหางานใหม่ และได้ไปเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผน ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่ปี 2534 และทำงานที่นี่เรื่อยมาอีก 27 ปี ในตำแหน่งต่างๆ ส่วนใหญ่คือ คณบดี(ศิลปศาสตร์,นิเทศศาสตร์.วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม) เกษียณตอนสิ้นเดือน พ.ค.ปีนี้

งานหลักของผมคือนักเขียน นักวิชาการ มีงานทั้งเขียน วิจัย แปล ที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วราว 150 เล่ม ครอบคลุมงานหลายประเภท หลายสาขาวิชา แต่งานอาชีพก็รวมเรื่องการบริหารจัดการ ตั้งแต่เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งต้องบริหารทั้งเรื่องบุคคล และเรื่องการเงิน ฯลฯ ที่คล้ายธุรกิจเอกชนมากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ ผมคิดว่าการเป็นคนสนใจการเรียนรู้อยู่เสมอ การอ่าน การเขียนมาก ทำงานร่วมกับคนอื่นมานาน การสำรวจและพยายามพัฒนาวุฒิภาวะของตัวเรา ความสนใจที่จะเรียนรู้ สังเกต คิดวิเคราะห์ ทบทวน ปรับตัวเองทางเรื่องความคิด พฤติกรรม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้คนเราเรียนรู้และพัฒนาตนเองในเรื่องการบริหาร การเป็นผู้นำ และเรื่องการบริหารชีวิตส่วนตัวด้วย ความสนใจ พยายามเข้าใจเรื่องจิตวิทยาพฤติกรรมและวัฒนธรรมในสังคม ก็เรื่องที่สำคัญด้วยเช่นกัน เช่น การฝึกมองโลกในแง่บวก ฝึกมองแบบยอมรับสถานการณ์ทั้งดีและร้ายอย่างมีอุเบกขาแบบปรัชญาพุทธและปรัชญาสโตอิก และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่

องค์กรและเพื่อนร่วมงานมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้ ถ้าเราสนใจสังเกตเรียนรู้ แม้องค์กรแบบไทยยังมีปัญหา ข้อจำกัดทางวัฒนธรรมการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งเรื่องความรู้ ความคิดอ่าน วุฒิภาวะของคนฯลฯอยู่มาก แต่เราแต่ละคนก็ต้องพยายามเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเองและช่วยกันพัฒนาเพื่อนๆ ในองค์กรด้วยเท่าที่เราจะทำได้ ปัญหาของประเทศไทยซึ่งทุกวันนี้ถอยหลังกลับไปสู่ยุคก่อนเหตุการ์ณ 14 ตุลาคม 2519 ก็เช่นเดียวกัน