2 คำถามเกี่ยวกับนโยบายการเงิน

2 คำถามเกี่ยวกับนโยบายการเงิน

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวต่างประเทศติดต่อขอสัมภาษณ์ผมเรื่องนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ย เมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา

 ซึ่งผมก็ได้ให้ความเห็นไปโดยหวังจะสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการเงินของประเทศ วันนี้เลยอยากสรุปความเห็นของผมที่ให้ไป ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ 

คำถามแรก ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากนี้ไป

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเรา ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำและคณะกรรมการฯได้ยืนระดับนี้มาตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 2015 คือ อยู่ในระดับนี้มานานกว่า 3 ปี ไม่เปลี่ยนแปลง เหตุที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อ 3 ปีก่อน อยู่ที่ 1.5% ก็เพราะเราต้องการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ช่วงนั้นขยายตัวเพียง 2.9% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อของประเทศตอนนั้นก็ต่ำมาก คือ ติดลบ 1.04% (เดือน เม.ย.ปี 2015) จนมีความห่วงใยว่า เศรษฐกิจอาจเกิดปัญหาเงินฝืด สำหรับต่างประเทศ วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกตอนนั้นก็เป็นขาลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัว ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.5% ในปี 2015 จึงเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกในขณะนั้น

ให้หลังมา 3 ปีถึงปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2018 ต่างกับปี 2015 ในทุกด้าน เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น สนับสนุนโดยการส่งออกที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี แต่ลักษณะของการขยายตัวของเศรษฐกิจนำโดยภาคส่งออกและท่องเที่ยวให้ประโยชน์ค่อนข้างแคบในแง่การสร้างรายได้และกำลังซื้อให้กับคนในประเทศในวงกว้าง กล่าวคือ การใช้จ่ายในประเทศโดยรวมยังไม่ขยายตัวมาก จนทำให้มีความรู้สึกว่า ตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่เศรษฐกิจไม่ดี” แต่จากที่ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับสูงขึ้น แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศจึงมีมากขึ้น และได้เร่งตัวต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2017 ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.อยู่ที่ 1.5% และโมเมนตัมของเงินเฟ้อก็เป็นขาขึ้น ที่สำคัญ วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยโลกได้เปลี่ยนจากขาลงมาเป็นขาขึ้น ตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปลายปี 2016 ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังเป็นขาขึ้น 

จะเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวต่างจากเมื่อปี 2015 อย่างสิ้นเชิง เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังเร่งตัวและวัฏจักรดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกเป็นขาขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ที่ดูเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจเมื่อ 3 ปีก่อน ปัจจุบันไม่เหมาะสมแล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศควรต้องปรับขึ้นเพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีมากขึ้น และวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น 

ความไม่สอดคล้องระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เทียบกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันสามารถดูได้จากระดับของอัตราดอกเบี้ยแท้จริง ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่เป็นตัวเงินสูงไปหรือต่ำไปเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2015 อัตราดอกเบี้ยแท้จริง ซึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นตัวเงินลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ อยู่ประมาณ 2.5% ซึ่งถือว่าสูงสำหรับเศรษฐกิจที่ไม่ขยายตัว จึงมีเหตุผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับลดลง ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ประมาณศูนย์ ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรต้องปรับขึ้น 

คำถามที่สอง กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่ใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหรือ Inflation Targeting ยังใช้ได้หรือไม่หรือเป้าที่ใช้อยู่ควรต้องเปลี่ยน

อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและมีเสถียรภาพ คือ เป้าหมายสำคัญของนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ในทางปฏิบัติ การดำเนินนโยบายการเงินโดยมีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายก็เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินสามารถทำได้อย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีวินัย กล่าวคือ เมื่อเรามีเป้าในการดำเนินนโยบายการเงินที่ประกาศชัดเจน ซึ่งคือ ระดับของอัตราเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ การตัดสินใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับขึ้นหรือลงก็ต้องพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ เทียบกับระดับอัตราเงินเฟ้อที่เป็นเป้า เช่น ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเป้าและมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น ก็มีเหตุมีผลที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรต้องปรับสูงขึ้น เพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในอนาคตอยู่ในเป้า ซึ่งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรต้องทำล่วงหน้า ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะออกนอกเป้า เพราะผลของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อจะใช้เวลา ไม่เกิดขึ้นทันที ตรงกันข้าม ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าเป้า ก็หมายความว่า เศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอเกินไป อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับลดลง เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว ให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ให้เข้าไปอยู่ในเป้า จะเห็นว่ากรอบการใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าของนโยบายการเงินก็เพื่อให้การตัดสินใจเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นระบบ มีวินัย ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนโยบายการเงิน 

ในกรณีของเรา กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อหรือ Inflation Targeting เป็นกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศมาตั้งแต่ปี 2000 คือ 18 ปีมาแล้ว ซึ่งก็สามารถช่วยรักษาเสถียรภาพและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ระยะหลังเริ่มมีคำถามมากขึ้น โดยเฉพาะหลังมีการเปลี่ยนเป้าอัตราเงินเฟ้อจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมาเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1% ถึง 4% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่า 1%  หรือติดลบ เช่น ในปี 2015 อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่มีการปรับลง ล่าสุดปีนี้ที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับเข้าไปอยู่ในเป้าก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินก็ได้ให้เหตุผลว่าทำไมถึงได้ตัดสินใจอย่างที่ตัดสินใจ คือ ไม่เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เรื่องนี้ คิดว่าการใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินยังเหมาะสมดีอยู่ เพียงแต่การตัดสินใจหรืออธิบายเหตุผลต่างๆต้องให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายการเงินที่ใช้อยู่เพื่อให้เกิดความชัดเจน

นี่คือความเห็นที่ให้ไป