หลบร้อนที่ชิบูย่า

หลบร้อนที่ชิบูย่า

อากาศที่ญี่ปุ่นวันนั้นร้อนถึง 34 องศา ผมเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถว ห้าแยกชิบูย่า ซึ่งพลุกพล่านไปด้วยผู้คนมากมาย

แล้วข้ามถนนไปหลบร้อนที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ หน้าสถานีรถไฟชิบูย่า

ตรงนั้น ผู้คนยืนเข้าคิวเพื่อรอถ่ายภาพกับอนุสาวรีย์ของสุนัขตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ว่ามาแถวนี้เมื่อใด ก็จะเห็นคิวอย่างนี้จนชินตา เพราะสุนัขตัวนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง ฮาชิโกะ สุนัขแสนรู้ที่เดินไปส่งเจ้านาย ขึ้นรถไฟที่สถานีชิบูย่าทุกวัน นายของฮาชิโกะ เป็นศาสตราจารย์ด้านการเกษตร ซึ่งต้องเดินทางไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ตกเย็น ฮาชิโกะ ก็ไปรอรับเจ้านายที่สถานีเดิม เป็นเช่นนี้ มิเคยขาด

แต่แล้ววันหนึ่ง ฮาชิโกะก็ไปรอเก้อ เพราะนายไม่กลับมา ฮาชิโกะคงไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด ความจริงก็คือนายได้เสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดแตกในสมอง ที่มหาวิทยาลัยในวันนั้น แต่ฮาชิโกะ ยังคงไปยืนรอนายที่สถานีทุกวัน เฝ้ารอว่าเมื่อไรนายจะกลับ เวลาผ่านไปแรมเดือน แรมปี ผ่านไปนานถึงกว่า 9 ปี ฮาชิโกะก็ยังไปรอนาย เช่นนั้นทุกวัน จนกระทั่งหมดอายุขัยของเขา

ความภักดีของฮาชิโกะ เป็นที่เลื่องลือในญี่ปุ่น เมื่อฮาชิโกะจากไป เรื่องราวของเขา ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆมากมาย และมีการสร้างอนุสาวรีย์ของฮาชิโกะไว้ที่สถานีแห่งนี้ ต่อมาในปี 2009 ชีวิตของฮาชิโกะ ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ แสดงนำโดย ริชาร์ด เกียร์ ทำให้เรื่องราวของสุนัขญี่ปุ่นตัวนี้ โด่งดังไปทั่วโลก

การที่สุนัขตัวหนึ่ง มีความจงรักภักดีต่อเจ้านายมากมายถึงขนาดนี้ จนมนุษย์ซาบซึ้งใจ และสร้างอนุสรณ์สถานไว้ให้ ก็ต้องถือว่าเป็น “รางวัล” ที่มนุษย์มอบให้ฮาชิโกะ ผมคิดว่าน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “รางวัลแห่งความภักดี” (The Prize of Loyalty) ซึ่งทำให้ผู้คนจากทั่วโลก ถ้าไปญี่ปุ่นก็มักจะหาโอกาส ไปถ่ายภาพกับรูปปั้น ณ. สถานที่แห่งนี้

ตอนขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ผมนั่งอ่าน นิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 20 กรกฏาคม 2018 เห็นบทความเรื่อง How Dogs Think: Inside the Canine Mind” ผมจึงได้เรียนรู้ว่าความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับสุนัขนั้น มีมานานมากแล้ว เพราะมีการค้นพบหลุมฝังศพของมนุษย์ เมื่อ 14,000 ปีที่แล้ว ซึ่งมีสุนัขที่เขารัก ฝังอยู่เคียงข้างด้วย

ทำไมมนุษย์กับสุนัข จึงผูกพันกันเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์ อธิบายว่าเพราะ “โครโมโซม หมายเลข 6ของสุนัข มียีน (Gene) 3 ชนิด ซึ่งเป็นคุณสมบัติของความเป็น “สัตว์สังคม" และยีนที่กล่าวถึงนี้ ก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกับยีนแห่งความอ่อนโยนของมนุษย์ ด้วย ซึ่งนั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์นำสุนัขมาเลี้ยงไว้ในบ้าน และผูกพันกันได้เช่นนี้

ความจริงมีสัตว์อีกชนิดหนึ่ง หน้าตาก็เหมือนกับสุนัข และยังมี mtDNA เหมือนกับสุนัขถึง 99.9% คือแทบจะไม่แตกต่างจากสุนัขเลย แต่มันกลับไม่มียีน 3 ชนิดแห่งความเป็นสัตว์สังคมที่กล่าวถึงนี้ มนุษย์จึงไม่สนใจที่จะนำมันมาเลี้ยงไว้ ปล่อยให้พวกมันอยู่กันตามลำพังในป่าใหญ่ สัตว์ชนิดนี้ เราเรียกมันว่า “สุนัขป่า” ครับ

สัตว์ต่างสปีชีย์ บางทีก็อยู่ด้วยกันได้อย่างดี เพราะมีการแลกเปลี่ยนประโยชน์กันและกัน เช่น ปลาฉลาม ก็มักจะมี ปลาติด หรือ ปลาเหาฉลาม (Rimora) ตัวแหลมๆยาวๆ ว่ายเกาะติดตัวมันไป ปลาเหาฉลามคอยทำความสะอาดให้ปลาฉลาม ทำให้ฉลามสอาดและปราศจากโรค เมื่อฉลามล่าเหยื่อได้ ปลาเหาฉลามก็ได้รับเศษอาหารจากเหยื่อเหล่านั้น จึงถือว่าเป็น การอยู่ร่วมกันด้วยธุรกรรมต่างตอบแทน (Transactional Relationship)

ความสัมพันธ์ทางธุรกรรมแบบนี้ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทนล้วนๆ ไม่มีเรื่องของหัวใจเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่ความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ กับ สุนัข อย่างเช่นฮาชิโกะกับเจ้านาย ส่วนหนึ่งอาจคล้ายธุรกรรมผลประโยชน์ต่างตอบแทน คือนายก็ให้อาหารและที่พักอาศัย ส่วนฮาชิโกะ ก็ให้ความซื่อสัตย์ ความอบอุ่น และดูแลนาย

แต่ผมคิดว่า การที่ฮาชิโกะไปยืนรอนายที่หน้าสถานีชิบูย่า ทุกวัน และนานถึง 9 ปี จนกระทั่งตัวตาย มันมิใช่เรื่องความสัมพันธ์ทางธุรกรรมต่างตอบแทนอย่างแน่นอน มันคือความสัมพันธ์ทางใจ ซึ่งมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ และเป็นหัวใจของฮาชิโกะโดยแท้ เพราะนายก็มิได้มีตัวตนอีกต่อไปแล้ว

ทำให้ผมนึกถึงถ้ำหลวง เมื่อคนหลายพันคน เร่งเดินทางไปช่วยชีวิตคน 13 คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หลายคนเสี่ยงชีวิตของตนเอง นั่นก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทน เพราะไม่มีผู้ใดหวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น นอกจากขอให้ทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำ ด้วยความปลอดภัยเท่านั้น

ความสัมพันธ์แบบนี้ คือสิ่งที่สร้างสังคมมนุษย์ให้สุขสันต์ และเราน่าจะช่วยกันฟูมฟักให้บรรยากาศแบบนี้ เกิดขึ้นไม่เฉพาะในยามวิกฤติอย่างเช่นกรณีถ้ำหลวงเท่านั้น แต่ในยามปกติด้วย

เพราะสังคมเราในอดีตจนถึงปัจจุบัน เต็มไปด้วยธุรกรรมต่างตอบแทนมากมายอยู่แล้ว เช่น การได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาฯ หลายกรณีก็ใช้เงินแลกเสียงจากผู้มีสิทธิ์ การลงมติในสภาฯ บางครั้งก็ต้องมีเงินหล่อเลี้ยงจากพรรค การได้ตำแหน่งใหญ่ๆ ในทางการเมืองหรือราชการ หลายคนก็แลกด้วยทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น

สังคมมนุษย์ที่อยู่บนพื้นฐานของธุรกรรมต่างตอบแทน จึงมีพฤติกรรมวนเวียนกันอยู่เช่นนี้ ถ้าหากบทเรียนของความสัมพันธ์ ระหว่างสุนัขกับมนุษย์ ที่ยาวนานมานับหมื่นปี จะสอนอะไรเราได้บ้าง ก็คงเป็นการสอนให้เห็นว่า แม้สุนัขอย่างฮาชิโกะ ก็ยังสร้างสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ด้วยหัวใจล้วนๆ

แล้วทำไมมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ จึงไม่สามารถลดความสำคัญของสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนลงไป แล้วเพิ่มคุณค่าแห่งสัมพันธ์ด้วยหัวใจ ให้มากอย่างเจ้าฮาชิโกะได้บ้างเล่า