จีนบริหารจัดการค่าเงินหยวน?

จีนบริหารจัดการค่าเงินหยวน?

ตั้งแต่ จีนกับสหรัฐดำเนินการตอบโต้นโยบายการค้าระหว่างกัน ตั้งแต่เดือน มี.ค.2018 เป็นต้นมา ค่าเงินหยวนลดลงในอัตราประมาณ 15% ต่อปี

หลายๆ คนกล่าวว่า นี่คือส่วนหนึ่งของมาตรการโต้ตอบของจีนต่อการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้าจีน หรือนี่อาจจะเป็นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อบรรเทาผลกระทบการส่งออกของจีน กล่าวโดยง่าย นี่คือ การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดดังที่สหรัฐได้กล่าวหาจีนมาตลอด ใช่หรือไม่? 

จีนใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่จนถึงเดือน ก.ค.2005 แน่นอนอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ย่อมไม่สะท้อนกลไกตลาด ดังนั้น การพิจารณาว่าจีนบริหารจัดการค่าเงินหรือไม่ จึงต้องดูหลังจากนั้นที่อัตราแลกเปลี่ยนมีการเคลื่อนไหว 

การศึกษาในบทความนี้ จะใช้เพียงข้อมูลความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน เปรียบเทียบกับ การไหลเข้าออกของเงินจากการค้าและเงินทุนเพื่อดูทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันว่าทิศทางเป็นไปตามทฤษฎีหรือไม่ ส่วนขนาดที่แน่ชัดของผลกระทบซึ่งกันและกันระหว่างตัวแปลทั้งสองฝั่งนั้นจะต้องใช้วิธีเชิงปริมาณและการวิเคราะห์ที่ละเอียดกว่านี้มาก 

กราฟแสดงความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนต่อเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ ก.ค.2005 ถึง ก.ค.2018 แสดงการเปลี่ยนแปลงค่าเงินหยวนคิดเป็นอัตราเพิ่ม (+) หรือลด (-) ต่อปี โดยประมาณตามตารางข้างล่างนี้

จีนบริหารจัดการค่าเงินหยวน?

จีนบริหารจัดการค่าเงินหยวน?

ในช่วงเวลาที่ (1) การเปลี่ยนค่าเงินหยวนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐสอดคล้องกับดุลชำระเงินที่เป็นบวก  เนื่องจากการค้าและการไหลของเงินทุน ทำให้ปริมาณเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมากกว่าที่ต้องจ่ายออกไป

ช่วงที่ (2) เป็นระยะเวลาระหว่างวิกฤติการเงินสหรัฐ ที่รัฐบาลจีนมีความต้องการไม่ให้เงินหยวนแข็งค่ามากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐที่มีต่อการส่งออกของตน

ช่วงที่ (3) เป็นระยะเวลาที่ทางการจีนดำเนินการปรับค่าเงินหยวนต่อจากช่วงที่ (1) เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนสอดคล้องกับภาวการณ์ชำระเงินที่เกินดุลมาตลอด

ช่วงที่ (4) เป็นช่วงที่มีข้อกล่าวหาว่าจีนมีความพยายามปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่า อันเป็นการสวนทางกับการปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าตามดุลชำระเงินที่เป็นบวกมาตลอด ค่าเงินหยวนที่สูงขึ้นเป็นเวลาประมาณ 7 ปี เริ่มส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้จีนมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอย่าง 180 องศาดังกล่าว

แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ ตั้งแต่ปี 2014 ดุลเงินทุนเปลี่ยนจากบวกมา 9 ปี เป็นลบ สาเหตุก็คือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง ในขณะที่เงินลงทุนโดยตรงออกสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า นโยบายเบื้องหลังของรัฐบาลจีนที่ต้องลดระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่เกินความจำเป็น เพียงแต่การยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตของบทความนี้ Tobias Rehbock (2017) แห่งสถาบัน KfW กล่าวว่า แม้แต่ portfolio investment ที่จีนควบคุมอย่างเข้มงวดก็ยังมีทิศทางเดียวกัน แม้จะไม่รุนแรงเท่า เงินให้กู้ยืมแก่ต่างประเทศเป็นเงินทุนอีกประเภทหนึ่งที่มีทิศทางและการไหลออกที่รุนแรง เช่นเดียวกับการลงทุนโดยตรง เนื่องจากจีนเริ่มมีสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาหลายแห่งที่ให้เงินกู้กับต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้ คือ เหตุผลที่ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงตามกลไกตลาดที่ถูกผลักดันจากเงินทุนไหลออก บางท่านอาจจะแย้งว่า จีนยังมีการค้าเกินดุลมาตลอดไม่ใช่หรือ นั่นก็ใช่ แต่เมื่อดูข้อมูลจากบัญชีการชำระเงินระหว่างประเทศของจีนแล้วจะเห็นได้ชัดว่า ค่าเฉลี่ยของดุลบัญชีเดินสะพัดระหว่างปี 2005-2013 = 235.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วงปี 2014-2017 อยู่ที่ 226.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเชิงสถิติ แต่ค่าเฉลี่ยของดุลบัญชีเงินทุนระหว่างปี 2005-2014 อยู่ที่ 145.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ช่วงปี 2014-2017 อยู่ที่ -180.3 และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเชิงสถิติ เพียงเท่านี้ทำให้ดุลชำระเงินโดยเฉลี่ยลดลงจาก 380.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 38.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างมีนัยสำคัญและเพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงได้แล้ว

ที่จริงแล้ว การไหลออกของเงินทุนได้เริ่มลดความรุนแรงลงประมาณครึ่งหลังของปี 2016 ซึ่งทำให้ค่าเงินหยวนเริ่มเปลี่ยนทิศทางเป็นแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นปี 2018 ดังแสดงในช่วงที่ (5) ของตารางข้างต้น แต่มาลดค่าลงอย่างรุนแรงตามการเทขายของตลาด (ฝรั่ง) เพื่อเล่นข่าวสงครามการค้าที่เริ่มต้นโดยสหรัฐ เงินทุนที่ไหลเข้ามาคือ เงินกู้ยืมจากต่างประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจต้องการมากขึ้นภายหลังจากที่จีนมีนโยบายการจำกัดการให้กู้ยืมของธนาคารภายในประเทศ (Wildau, 2017) อีกด้านหนึ่งรัฐบาลจีนพยายามสกัดการนำเงินทุนออกไปต่างประเทศของบริษัทขนาดยักษ์ เช่น Wanda, Biguiyuan และ Anbang (Wildau, 2016) 

ดังนั้น ในช่วงเวลา 13 ปี ภายหลังจากที่ค่าเงินหยวนเลิกใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ มีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่จีนบริหารจัดการให้ผิดจากกลไกตลาดเพื่อบรรลุนโยบายของตน เราอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานอกเหนือจากนั้น จีนน่าจะมีโอกาสสูงที่ไม่ได้ทำการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้ผิดจากกลไกตลาดตามที่สื่อและรัฐบาลตะวันตกกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าการยืนยันที่ชัดเจนกว่านี้คงจะเป็นงานวิจัยที่ rigorous กว่านี้เท่านั้น 

ประเด็นที่ควรแก่การกล่าวถึงก็คือ จีนได้มีนโยบายผ่อนคลายระเบียบที่เข้มงวดของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปีใหม่ของ 2017 (Iris Jin, 2017) ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะรับตำแหน่งเสียอีก น่าเชื่อเหลือเกินว่า จีนเองคงตระหนักถึงการชะลอลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงตั้งแต่ปี 2014 โดยไม่ต้องมีต่างประเทศไปขู่ และ น่าเชื่อว่านี่คือสาเหตุที่เศรษฐกิจจีนมีอัตราการขยายตัวลดลงจาก 9% มาเป็น 7% หรือ 6%