เขื่อนลาวแตก บทเรียนเฝ้าระวังเขื่อนไทย

เขื่อนลาวแตก บทเรียนเฝ้าระวังเขื่อนไทย

เขื่อนมีหลายขนาดทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ดูจากความจุเก็บน้ำ วัสดุการก่อสร้าง แบ่งเป็นเขื่อนคอนกรีต เช่น เขื่อน ภูมิพล กับเขื่อนดิน

 ซึ่งมักเป็นเขื่อนขนาดกลาง จุดอ่อนของเขื่อนดิน ที่พังทลาย อย่างกรณีของเขื่อนทางลาวต้องสำรวจ ซึ่งมีหลายปัจจัย เนื่องจากเขื่อนพังทลายมีหลายสาเหตุ ต้องสำรวจพื้นที่ น้ำล้นสันเขื่อน น้ำเซาะฐานราก สาเหตุ จากการออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง วัสดุที่เลือกใช้ ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากสาเหตุใด และระบุถึงสาเหตุได้ ทางนิติวิศวกรรมศาสตร์ จะเข้าไปตรวจพิสูจน์ว่าสาเหตุที่เกิดขึ้น มาจากสาเหตุใดเพื่อเป็นแนวทางแก้ไข แล้วพิจารณาถึงเขื่อนอื่นๆ ที่มีอยู่ปัจจุบันจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อย

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ปริมาณน้ำฝนถ้ามากแรงดันก็เยอะ ต้องดูว่าเป็นเพราะปริมาณน้ำมาก หรือการออกแบบก่อสร้างที่มีปัญหา ปกติการออกแบบเขื่อน จะออกแบบเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนสูงสุด และสำหรับกรณีเขื่อนลาวนั้น ต้องมีคณะกรรมการที่เป็นกลางเข้าตรวจสอบว่าเป็นเพราะอะไร ขณะนี้ทางอุปนายกสภาวิศวกรได้รับการประสานว่า ให้เราเข้าไปพบกับท่านทูตไทยประจำประเทศลาวว่า ทางเราสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางลาวพิจารณาให้ความเหมาะสมว่า จะให้ทางสภาวิศวกรซึ่งก็ถือว่าเป็นองค์กรที่มีวิศวกรจำนวนมาก จะให้เข้าไปช่วยในส่วนไหน จะเข้าไปดูในเรื่องของการระบุหาสาเหตุ หรือเรื่องการฟื้นฟูเพราะว่าบ้านเรือนเสียหายเยอะ

ทางสภาวิศวกรได้ร่วมมือกับ กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทยใจอาสา ในการที่จะระดมคนและสิ่งของ เข้าไปช่วยเหลือ โดยในส่วนของเราจะเน้นในเรื่องของการฟื้นฟู ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติและมีความปลอดภัย คือ รอความชัดเจนจากทางลาว เราจะเดินทางไป ขณะนี้สภาวิศวกร ได้เตรียมการเรื่องข้อมูลและเรื่องความเสียหายว่า เกิดขึ้นตรงพื้นที่ใดบ้าง กำลังดำเนินการอยู่

ปกติเขื่อนเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ รองรับน้ำหนักจากน้ำมหาศาล น้ำมีแรงดันและยังมีสภาพภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ฉะนั้น ในการก่อสร้าง การออกแบบเขื่อน จึงต้องมีการออกแบบและการควบคุมคุณภาพในการก่อสร้าง นอกจากหลังจากที่เขื่อนเสร็จแล้ว ต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ ประจำเดือน ประจำปี การตรวจสอบพิเศษ เช่น ในกรณีที่ฝนตกหนักมากเกินกว่าระดับหนึ่ง หรือในการที่มีการเกิดแผ่นดินไหว เกินกว่า 7.5 ริตเตอร์ขึ้นไป ต้องมีการตรวจสอบพิเศษ เพื่อจะได้ดูว่ามันเกิดความเสียหายมากน้อยขนาดไหน

หากเป็นความเสียหายในระดับเล็กๆ สามารถซ่อมแซมได้ ถ้าเป็นความเสียหายขนาดใหญ่ก็อาจใช้การไม่ได้ และต้องมีการทำใหม่ เมืองไทยเรามีเขื่อนดินแบบนี้อยู่มากพอสมควร ส่วนมากใช้ในการชลประทาน และการเกษตรกรรม บางที่ก็ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทุกเขื่อนเป็นสิ่งโครงสร้างที่มีประโยชน์ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีวิธีการที่จะต้องการใช้ประโยชน์อย่างไร

ในเรื่องออกแบบ การก่อสร้าง การตรวจสอบ และการดูแลรักษา และการซ่อมแซม จะมีวิธีการที่เป็นเชิงวิศวกรรมที่สามารถนำมาใช้และเป็นหลักประกันได้ว่า เราจะมีโครงสร้างที่มีความปลอดภัย

ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราจะใช้เป็นเครื่องมือในการมอนิเตอร์ว่าเขื่อนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งถือว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พูดถึงทั้ง 2 เขื่อน ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กฟผ. ซึ่งเขาก็มีวิศวกรจำนวนมาก และมีระบบที่ใช้ในการตรวจติดตามอยู่แล้ว ทั้ง 2 เรื่องก็มีการประเมิน สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ ในความเห็นส่วนตัวเราก็สบายใจได้ระดับหนึ่ง

ส่วนการสังเกตด้วยตาเปล่า สัญญาณแรกที่เราสังเกตได้ด้วยสายตา เช่น การเกิดรอยร้าวที่สันเขื่อน ปกติถ้ามีความสมบูรณ์มันก็จะไม่มีรอยร้าว หรือไม่มีการรั่วซึม แต่ถ้าเราสังเกตได้ด้วยตาเปล่า อันดับแรก ก็คือ รอยร้าวที่เกิดขึ้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็นรอยร้าวตั้งฉากกับสันเขื่อน กับรอยร้างตามแนวสันเขื่อน อันนี้เป็นสัญญาณแรกเลยว่า การที่เกิดรอยร้าว แสดงว่าตรงที่ฐานราก อาจจะมีการทรุดตัวหรืออาจมีการสั่นอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้น อันนี้จะต้องส่งสัญญาณเลยว่า alert ควรจะต้องรีบแจ้งเข้ามาทันที คือ หลักของประเทศลาว การแจ้งเตือนภัยทำช้า มีสัญญาณบ่งบอกก่อนหน้าหลายวัน โดยหลักการแล้ว ถ้ามีสัญญาณทางวิศวกรต้องดำเนินการทันที ว่า สัญญาณนี้รุนแรงขนาดไหน ก็จะซ่อมแซมก็ซ่อมไป แต่ต้องแจ้งให้คนที่อยู่ท้ายน้ำได้ทราบว่ามันมีเหตุการณ์อย่างนี้ และก็ส่งสัญญาณให้เขาอพยพ เป็นเรื่องที่เราสังเกตได้ แจ้งเตือนได้ และลดความสูญเสียลงได้ ก็ถือเป็นบทเรียนที่มีความสำคัญ

ตลอดจนในประเทศไทยเราก็ควรจะมีการซักซ้อม เพราะบางทีแจ้งเตือนแล้ว ประชาชนก็ไม่รู้ว่าให้เขาทำยังไง มันต้องมีการซักซ้อม ว่าจะหนีภัย จะหนีไป ทิศทางไหน มีแผนที่ ถึงแม้เราจะมีระบบที่มีความรัดกุม แต่เรื่องพวกนี้ก็เกิดขึ้นได้ อย่างน้อยรักษาชีวิตคนไว้ได้เป็นสิ่งที่เราคาดหวังเอาไว้

ปกติเขื่อนจะถูกออกแบบไว้ให้มีอายุการใช้งานยาวนานพอสมควร 70-100 ปี เนื่องจากเชื่อนมีโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ จะกำหนดให้มีอายุการใช้งานนาน โครงสร้างเขื่อนมีความสำคัญ จึงต้องมีทั้งผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน ต้องมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตเข้าร่วมรับรอง ร่วมลงนาม โอกาสที่มันจะแตกบ่อยๆ ก็ไม่ง่าย แต่ก็มีโอกาสแตกได้ ก็มีความจำเป็น สุดท้ายก็มาอยู่ที่วิธีการตรวจวัด การตรวจเช็ค การซ่อมแซม เพราะว่าไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม การใช้วัสดุจากธรรมชาติ ก็มีการเสื่อมสลาย จึงต้องมีการซ่อมแซม ตรวจตลอดเวลา

ทั้งนี้ เข้าใจได้ว่าแต่ละเขื่อน จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฯ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีคู่มือ หรือขั้นตอนในการตรวจสอบที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น จึงขอฝากไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ขอให้ใช้วิธีต่างๆ ให้เคร่งครัด อย่างสม่ำเสมอ และเน้นเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือในการควบคุม instrumentation ที่ ตัวเขื่อนเป็นหลัก คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนและคนไทย และไม่อยากจะให้บทเรียนที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว มาเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากจะได้ความช่วยเหลือจากสภาวิศวกร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีวิศวกรอยู่จำนวนมาก สภาวิศวกรยินดีจะให้ความช่วยเหลือ

 

โดย... 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ

เลขาธิการสภาวิศวกร