สปสช.ชี้แจง พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรณีให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง

สปสช.ชี้แจง พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรณีให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง

สืบเนื่องจากกรณีที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา เขียนบทความเรื่อง เปรียบเทียบระบบบัตรทองของไทย-ญี่ปุ่น เผยแพร่

ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 ส.ค. 2561 ได้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหลายประการเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของบุคลากรสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่ง สปสช.เคยชี้แจงเรื่องนี้หลายครั้งตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ สามารถเข้าดูได้ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand/photos/a.1267976059935614.1073741827.1267117583354795/1400873053312580/?type=3

ครั้งนี้จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ความจริงเรื่อง สวัสดิการรักษาพยาบาล จนท.และลูกจ้างของ สปสช.

1.เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.ที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นใด นั่นคือ ไม่มีสิทธิข้าราชการ และไม่มีสิทธิประกันสังคมตามมาตรา 39 ประกันตนเอง จะได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและตามที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยอนุโลม คือ ได้รับตามสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ (เป็นสิทธิรักษาพยาบาลที่ปัจจุบัน พญ.เชิดชูได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่าสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการได้ถูกลิดรอนสิทธิประโยชน์มากมาย) แต่ได้สิทธิเฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่รวมถึง พ่อ แม่ คู่สมรส และบุตร ต่างจากข้าราชการที่จะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย

สิทธินี้จะหมดไปเมื่อสิ้นสุดการเป็นเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช. เช่น ลาออก, เกษียณ

กรณีลาออก หากไปรับราชการ ได้สิทธิข้าราชการ หากทำงานบริษัทเอกชนได้รับสิทธิประกันสังคม เมื่อเกษียณจะเปลี่ยนจากสิทธิประกันสังคมมาใช้สิทธิบัตรทอง

กรณีเกษียณ หลังเกษียณใช้สิทธิบัตรทอง

2.ในการเบิกจ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างนั้น สปสช.ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับสิทธิข้าราชการ ส่วนเกินจากสิทธิต้องจ่ายเอง กรณีการทำเรื่องเบิกจ่ายตรงนั้น ก็เป็นการดำเนินการเพื่อสวัสดิการของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างโดยยึดตามระเบียบการเบิกจ่ายตรงของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการตามระเบียบ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.ยังสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน

3.คำว่าเจ้าหน้าที่และลูกจ้างนี้ หมายรวมถึงผู้บริหารด้วย มีผู้บริหารบางรายไม่ได้เป็นสิทธิข้าราชการมาแต่เดิม ก็จะได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลเฉพาะตนเองตามที่ระบุข้างต้น เมื่อผู้บริหารท่านนั้นเกษียณก็ใช้สิทธิบัตรทองเช่นกัน

4.เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชน และองค์กรที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ สวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ตามกฎหมายเพื่อให้สวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้แก่ข้าราชการ แต่กรณีนี้ครอบคลุมเฉพาะตนเองเท่านั้น และสิ้นสุดเมื่อไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่และลูกจ้างแล้ว ทั้งนี้ครอบครัวของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.ในกรณีนี้ส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตรทอง

5.ทำไมเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.จึงไม่ใช้สิทธิบัตรทอง เนื่องจากเหตุผล 2 ข้อ ต่อไปนี้

5.1 การใช้สิทธิรักษาพยาบาลของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.เป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคคลดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใดๆ ที่กำหนดขึ้นสำหรับส่วนราชการ ในส่วนของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.เข้าเกณฑ์ (3) คือ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ

หากมีการแก้ไขกฎหมายให้ (3) ใช้สิทธิบัตรทอง ก็จะต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนและองค์กรที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะอีกมากเพื่อให้ใช้สิทธิบัตรทองภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน

5.2 ขณะเดียวกันมาตรา 24 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่า กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบข้อมูลที่ถูกต้อง

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)