การแข่งขันนำมาซึ่งประสิทธิภาพ ?

การแข่งขันนำมาซึ่งประสิทธิภาพ ?

ภายใต้กรอบแบบตลาดเสรีที่เราถูกบอกกล่าวมาตั้งแต่จำความได้ว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต

และผู้ชนะจากการแข่งขันเท่านั้นที่จะได้รับสิ่งดีๆ เป็นรางวัลตอบแทน ส่วนผู้แพ้ก็ต้องยอมรับชะตากรรมของตนและพยายามดิ้นรนหาหนทางของตนต่อไป การกล่าวเช่นนี้อาจทำให้เข้าใจว่าสังคมแบบตลาดเสรีเป็นสังคมที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวและไร้น้ำใจ หากแต่ที่จริงแล้วสังคมไทยมิใช่สังคมแล้งน้ำใจหรือเต็มไปด้วยผู้เห็นแก่ตัว ตรงกันข้ามสังคมไทยเต็มไปด้วยผู้มากด้วยน้ำใจ ดังเราจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ก้าวคนละก้าว ที่สามารถระดมเงินบริจาคให้กับ 11 โรงพยาบาลได้มากมายถึง 1,300 ล้านบาท รวมถึงเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการเกิดน้ำท่วมตามที่ต่าง ๆ ที่ความช่วยเหลือทั้งในรูปสิ่งของและตัวเงินต่างหลั่งไหลไปอย่างท่วมท้น

หากแต่เพราะอะไรคนทั่วไปหรือแม้แต่บุคคลที่ทุกคนต่างยอมรับว่า ใจดี มีเมตตา และมีความเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อผู้อื่นอย่างที่สุด ก็ยังเห็นว่าการจ่ายค่าจ้างคนงานในโรงงานวันละ 300 บาท ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่เหมาะสมแล้ว ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นต่างก็รู้ดีว่ารายได้วันละ 300 บาท รวมเดือนละไม่เกิน 9,000 บาทนั้นไม่สามารถทำให้คนงานคนหนึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขตามมาตรฐานการครองชีพของสังคมไทยปัจจุบัน และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า หากคนงานคนนั้นมีลูกที่ต้องเลี้ยงดูมีพ่อแม่ที่ต้องดูแล เงินเพียง 9,000 บาทนั้นย่อมไม่สามารถทำให้คนงานคนหนึ่งสามารถทำหน้าที่พ่อและทำหน้าที่ลูกได้อย่างเต็มที่ แต่การที่ใครหลายคน แสดงความเห็นว่าคนงานเหล่านั้น สมควรแล้วกับค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเพราะคนๆ นั้นเป็น แรงงานไร้ฝีมืออาจเป็นผลสะท้อนมาจากรอบแนวคิดเรื่องการแข่งขันที่ฝังอยู่ในใจก็เป็นได้

ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องการแข่งขัน ผู้คนทั่วไปย่อมจะมองว่าคนงานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่พ่ายแพ้ต่อการแข่งขันในตลาดแรงงาน ไม่สามารถแสวงหางานที่มีค่าจ้างสูงกว่านั้นได้จึงจำต้องยอมทำงานด้วยค่าจ้างเท่านั้น และหากย้อนกลับไปในอดีตคนเหล่านี้ได้พ่ายแพ้การแข่งขันตั้งแต่ตอนที่ไม่สามารถเข้าเรียนหนังสือในหลักสูตรและในสถานศึกษาที่จะทำให้หางานที่มีรายได้สูงได้ เช่นนั้นแล้วคนเหล่านี้จึงสมควรหรือคู่ควรแล้วที่จะได้รับค่าจ้างเพียงแค่ 300 บาทต่อวัน

โดยไม่รู้ตัวเราต่างถูกกรอบแนวคิดแบบที่ว่านี้หล่อหลอมจนเรารู้สึกว่า การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมชาติและผู้ชนะเท่านั้นที่ควรคู่กับรางวัล เราจึงต้องแข่งขัน ต้องเอาชนะ ต้องก้าวให้ไกลกว่าคนอื่นเพื่อให้เรามีชีวิตที่ดี

ปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมปัจจุบันต่างก็สอดรับกับกรอบแนวคิดที่ว่านี้ ในตั้งแต่ระดับอนุบาลหรือประถม เราต่างพยายามขวนขวายให้ลูกหลานเราได้เข้าเรียนในโรงเรียนอินเตอร์หรืออย่างน้อยก็ในหลักสูตร 2 ภาษาก็เพื่อให้เด็ก ๆ ของเราได้เปรียบหรืออย่างน้อยก็เท่าทันเด็กคนอื่น ในระดับมหาวิทยาลัยพ่อแม่ต่างก็พยายามส่งเสริมและสนับสนุนในทุกทางให้ลูกหลานของตนได้เข้าเรียนในหลักสูตรและในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงเพื่อที่เมื่อจบออกมาแล้วจะสามารถเป็นผู้ชนะในตลาดแรงงาน แม้แต่บนแผงหนังสือ(ที่ว่ากันว่านับวันคนละอ่านหนังสือน้อยลง)ของร้านแฟรนด์ไชส์ชื่อดังหลายร้านเราก็จะพบว่ารายชื่อหนังสือขายดี 10 ลำดับแรกนั้นมักจะมีคำว่า จุดสูงสุด เอาชนะ พิชิต เหนือคนอื่น และแน่นอนว่าหนังสือ พ่อรวยสอนลูก(วิชาที่พ่อจนไม่เคยสอน) ยังคงติดอันดับเป็นหนังสือขายดี

ไม่เพียงแต่ปรากฏการณ์ในระดับปัจเจก นโยบายของรัฐก็มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน การแก้ปัญหาความยากจนของรัฐจึงปรากฏเป็นรูปธรรมด้วยโครงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ฝึกอบรมอาชีพทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมอันมีนัยยะว่า รัฐบาลต้องการให้ปัจเจกบุคคลยกระดับหรือพัฒนาผลิตภาพของตนเพื่อให้กลายเป็นผู้ชนะในตลาดแรงงาน โดยที่ลืมคิดไปว่าสังคมยังคงต้องการคนเก็บขยะและคนขัดส้วม และในท้ายที่สุด หากใครบางคนยังไม่สามารถชนะในการแข่งขันได้ รัฐบาลก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้วยการมอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายให้กับบุคคลเหล่านั้น ในทำนองเดียวกับที่สังคมได้มอบเงินบริจาคในสถานการณ์ต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าในระบบตลาดเสรีที่บอกว่าการแข่งขันนำมาซึ่งประสิทธิภาพนั้นมิได้เป็นสังคมที่แล้งน้ำใจ หากแต่น้ำใจที่ว่านี่เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่เรียกว่า Solidarisme

Solidarisme เห็นว่ามนุษย์ที่เกิดมาในสังคมย่อมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การที่มนุษย์คนหนึ่งมีจะมีทรัพย์สินร่ำรวยขึ้นมาได้นั้น มิได้เกิดขึ้นได้จากลำพังความสามารถของตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน ไม่เพียงเท่านั้น มนุษย์ยังต้องมีการช่วยเหลือกันฉันท์พี่น้องด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มิใช่หมายความว่าการแข่งขันเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าสังคมมนุษย์ไม่ควรมีการแข่งขัน ตรงกันข้าม การแข่งขันเป็นสิ่งที่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าไปได้ แต่หากเราต้องการใช้การแข่งขันเป็นเครื่องนำทางสังคมให้ก้าวหน้า ลำพังแค่เพียงการหยิบยื่นน้ำใจจากผู้ชนะไปสู่ผู้พ่ายแพ้อาจไม่เพียงพอ 

โดย...

ตะวัน วรรณรัตน์

ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร