วัดพลังสินทรัพย์การเงินสายแทงค์ 2018

วัดพลังสินทรัพย์การเงินสายแทงค์ 2018

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในตลาดการเงินคือสิ่งที่นักลงทุนกำลังรับมือไม่ถูก

ยิลด์สหรัฐที่ถูกกดดันด้วยดอกเบี้ยนโยบายกลับไม่ปรับตัวขึ้น แต่ยิลด์ญี่ปุ่นที่ใครก็คิดว่าไม่ขึ้นกลับทำสุดสูงสุดใหม่ของปี หุ้นไทยที่หลายคนเกือบจะหมดหวังก็ปรับตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐที่หลายคนว่าดี กลับปรับตัวลงแรงผิดปรกติ

คิดไปก็เหมือนเล่นเกมส์ ตอนนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการหาผลตอบแทนที่มากที่สุด แต่การเลือก random ก็ไม่ใช่ทางที่จะทำให้เราชนะ การเพิ่มสินทรัพย์ปลอดภัยเข้ามาในพอร์ตดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่เรามักสับสนในภาวะแบบนี้คือ อะไรกันแน่ที่สามารถเรียกเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยได้

การเลือกสินทรัพย์ปลอดภัยช่วงนี้ดูจะซับซ้อนและต่างจากอดีต ผมลองนำข้อมูลสินทรัพย์ที่เคยได้รับความเชื่อถือว่าเป็น สินทรัพย์ปลอดภัย ตั้งแต่ทอง ตราสารหนี้ ไปจนถึงเงินตราต่างประเทศ มาเปรียบเทียบความผันผวน (Volatility) และหาความสัมพันธ์ (Correlation) กับการลงทุนหลักของคนไทยอย่างหุ้นไทย หุ้นทั่วโลก ทั้งในระยะสั้น (เฉพาะปี 2018) และระยะยาว (มองย้อนไปห้าปี) พบว่ามีสิ่งที่เราต้องรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดครั้งนี้หลายอย่าง

อย่างแรก ดอลลาร์กลายเป็นแชมป์สินทรัพย์ปลอดภัยที่สุดในโลกปี 2018

หลายคนมักเชื่อว่าพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด แต่ในปีนี้ความเสี่ยงการเมืองในประเทศและนโยบายการเงินที่เข้มงวดเป็นปีแรกในญี่ปุ่น ดูจะทำให้เราต้องเปลี่ยนความเชื่อ กลายเป็น “บอนด์สหรัฐ” ที่ผงาดขึ้นมาเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ความผันผวนลดลงมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมี correlation กับทั้งหุ้นไทยและหุ้นโลกเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ -0.53 จากปรกติที่ -0.27 ซึ่งแปลว่ากระจายความเสี่ยงได้ดีขึ้น ดอลลาร์และบอนด์สหรัฐจึงกลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ทั่วโลกควรมีไว้ในนาทีนี้

เรื่องที่สอง สินทรัพย์ที่ลดความเสี่ยงของการลงทุนหุ้นไทยได้กลับไม่ใช่บอนด์บาท

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการลงทุนที่ลดความผันผวนของพอร์ตหุ้นไทยได้มากที่สุด (มี negative correlation มากที่สุด) ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาคือ บอนด์สหรัฐในรูปดอลลาร์ (Correlation -0.57) หรือบอนด์ตลาดพัฒนาแล้วที่ปิดความเสี่ยงค่าเงิน (เฉลี่ย correlation -0.23) ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นตัวแทนการเปิดหรือปิดรับความเสี่ยงโลกที่กำลังเป็นประเด็นกดดันหุ้นไทยตอนนี้ได้ดี

ต่างกับบอนด์ไทยที่มักเคลื่อนไหวตามความเสี่ยงของในประเทศหรือตลาดเกิดใหม่ ที่ช่วงนี้กลับโดนกดดันจากดอกเบี้ยสหรัฐไปด้วย สรุปได้อีกข้อว่าการผสมสินทรัพย์ปลอดภัยต่างประเทศกับพอร์ตไทยจะให้ผลลัพท์ที่ดีขึ้น

และสุดท้าย ระวังสินทรัพย์ที่คิดว่าปลอดภัยจะกลายเป็นสินทรัพย์เสี่ยงโดยไม่ทันระวังตัว

ปีนี้มีสินทรัพย์ที่น่ากังวลสองอย่างคือบอนด์ไทยและทอง ทั้งสองสินทรัพย์ในอดีตเคยถูกเรียกว่าสินทรัพย์ปลอดภัย ในกรณีบอนด์ไทยผมเห็นด้วยในแง่ความผันผวนที่ต่ำใกล้เคียงบอนด์ญี่ปุ่น ขณะที่ทองก็ลดความเสี่ยงของหุ้นได้บ้าง (มี Correlation -0.2 กับหุ้นไทยและหุ้นโลก)

แต่ในปีนี้ นโยบายการเงินที่เข้มงวดทั่วโลกทำให้สองสินทรัพย์นี้เจอปัญหาส่วนตัว เช่นทองก็ไม่ใช่สินทรัพย์ที่ดีเมื่อเงินเฟื้อต่ำแต่ดอกเบี้ยสูง และบอนด์ไทยก็ยังคงเป็นสินทรัพย์เสี่ยงในมุมมองของนักลงทุนทั่วโลก ปีนี้จึงต้องระวังว่า ทั้งคู่อาจให้ผลตอบแทนติดลบแม้ในช่วงที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง

รู้แล้วต้องกลับมาดูที่พอร์ตลงทุนแต่ละคน เพราะคงมีสินทรัพย์เสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน ถ้าลงทุนทั่วโลกก็ควรมีสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นบอนด์ดอลลาร์หรือบอนด์เยนไว้บ้างในช่วงนี้ แต่ถ้าลงทุนไทยเฉพาะไทยจะซื้อบอนด์ต่างประเทศที่ปิดความเสี่ยงค่าเงินก็ยังพอใช้ได้

ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วปีนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เราแค่ต้องปรับตัวจากปี 2017 ที่ความผันผวนต่ำผิดปรกติ ตลาดปีนี้อาจเดาทางยากขึ้น แต่เศรษฐกิจก็ยังแข็งแกร่ง การเมืองโลกวุ่นวาย แต่เราก็เห็นแล้วว่าทุกอย่างยังพลิกไปมาได้เสมอ เป้าหมายของการลงทุนจึงไม่ใช่การลดความเสี่ยงแต่เป็นการรับและบริหารความเสี่ยง

ขอแค่เลือกสินทรัพย์สายดาเมจและสินทรัพย์แทงค์ให้ถูกตัวก็พอ