เส้นทางสายไหมใหม่ (BRI): สะพานหรือก้อนอิฐ

เส้นทางสายไหมใหม่ (BRI): สะพานหรือก้อนอิฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังสือ Grave New World ของ Stephen D. King ที่ผู้เขียนได้สรุปเนื้อหาในบทความที่แล้ว ทำให้ในใจผู้เขียนมีคำถามวนเวียนอยู่ตลอด

ทำให้ในใจผู้เขียนมีคำถามวนเวียนอยู่ตลอดเวลาว่า โลกาภิวัฒน์แบบใหม่ที่นำโดยจีน จะสามารถเข้ามาทดแทนโลกาภิวัฒน์ในรูปแบบเดิมที่นำโดยสหรัฐได้หรือไม่

ในหนังสือ Grave New World นั้น King ได้ให้ความสำคัญกับโครงการ One Belt One Road (OBOR) หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า Belt and Road Initiatives (BRI) หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ว่าจะเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้จีนกลับมาเป็นมหาอำนาจใน 3 ทวีป อันได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรปได้

บทความฉบับนี้ จึงตั้งใจที่จะตอบคำถามว่าจีนจะใช้โครงการ BRI เป็นดั่งสะพาน (Bridge) และถนนที่นำพาประเทศใน 3 ทวีปดังกล่าวนั้นมุ่งไปสู่จีน และทำให้จีนกลับไปยิ่งใหญ่ดังเช่นในอดีตได้หรือไม่ หรือจะเป็นดั่งก้อนอิฐ (Brick) ที่ถูกขว้างมาทำร้ายจีนในภายหลัง การจะตอบคำถามนี้ได้นั้น จะต้องเข้าใจใน 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก BRI คืออะไร-- BRI คืออภิมหาโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเชื่อมโยงจีนกับ 76 ประเทศใน 3 ทวีปเป็นอย่างน้อย โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ

(1) Belt เป็นเส้นทางการคมนาคมบนบกโดยใช้ระบบราง (รถไฟ) เป็นหลัก โดยเริ่มจากเมืองซีอาน ผ่านรัฐต่าง ๆ ในเอเชียกลาง เมืองเตหรานของอิหร่าน อิสตันบูลของตุรกี มอสโกของรัสเซีย และไปสิ้นสุดที่ลอนดอน

(2) Road เป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำ โดยเริ่มจากเมืองฝูโจว ผ่านเมืองท่าต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ ลงสู่ฮานอย จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ โคลัมโบในศรีลังกา ไปสู่ไนโรบีของเคนยา เอเธนส์ของกรีซ เวนีซของอิตาลี และไปสิ้นสุดที่รอธเธอร์ดัมและลอนดอนในที่สุด

(3) Pipeline หรือท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่มีหลากหลายเส้นทาง ทั้งในเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ รวมถึงในแอฟริกา ซึ่งโดยหลักทำเพื่อการลดการพึ่งพาการขนส่งเชื้อเพลิงทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา

ประเด็นที่สอง ต้นกำเนิดของ BRI--BRI มีต้นกำเนิดหลัก ๆ อยู่ 2 แหล่ง คือ (1) เส้นทางสายไหม (Silk Road) เดิม ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าและสืบทอดวัฒนธรรมจากจีนและอินเดียไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปตั้งแต่คริสตรศตวรรษที่ 2-15 และ (2) แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan) หรือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป โดยเป็นโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐให้แก่ยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรูปของเงินช่วยเหลือ รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายจากสงครามเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สหรัฐมีอิทธิพลในยุโรปมากขึ้นและได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การต่างประเทศและการทหารหลังสงครามโลกในที่สุด

ถึงแม้ว่าแผนมาร์แชลล์และ BRI นั้นมีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อทำให้ประเทศเจ้าของแผนดังกล่าวมีอิทธิพลและก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจในที่สุด แต่ BRI และแผนมาร์แชลล์มีจุดแตกต่างกันอย่างน้อย 3 ประการคือ

(1) แผนมาร์แชลล์มีจุดประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายหลังสงครามเป็นหลัก ขณะที่โครงการ BRI มีจุดประสงค์หลักคือเพื่อขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ (ทั้งด้านการค้า การลงทุน และด้านเงินกู้) ระหว่างจีนกับประเทศในโครงการ BRI โดยประเทศที่อยู่ในโครงการ BRI จะต้องให้บริษัทจีนและวิศวกรจีนเป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นหลัก (กว่า 90% ของโครงการทั้งหมด) วัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากจีน รวมถึงต้องใช้เงินกู้จากจีนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่จีนกำหนด

(2) แผนมาร์แชลล์ส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือ และนำมาสู่ความร่วมมือกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ จนนำมาสู่การจัดตั้งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรป

ขณะที่ BRI จะเป็นเงินกู้เป็นหลัก โดยในบางโครงการที่ประเทศ BRI ไม่สามารถจ่ายเงินกู้ได้ ทางการจีนจะยึดโครงการนั้น เช่น โครงการท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกาที่ขาดทุนและรัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงต้องทำสัญญาเช่าซื้อยาวเป็นระยะเวลา 99 ปี ในขณะที่บางโครงการในหลายประเทศ เช่น ปากีสถาน เคนยา ลาว กัมพูชา และมองเตนิโกร ยังไม่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ แต่การก่อสร้างกลับทำให้ประเทศขาดดุลการค้า (กับจีน) และดุลการคลังเป็นจำนวนมาก และกระทบเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้น

(3) แผนมาร์แชลล์เป็นแผนระยะสั้น (5 ปี) ขณะที่โครงการ BRI เป็นแผนระยะยาว ซึ่งหากโครงการทั้งหมดสำเร็จตามแผนแล้ว จะทำให้จีนเป็นใหญ่ใน 3 ทวีปนี้ภายในกลางศตวรรษนี้

ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ อุปสรรคของ BRI และแนวทางแก้ไขของรัฐบาลจีน ดังที่กล่าวข้างต้น อุปสรรคหลักของโครงการ BRI ของจีนและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเทศมี 3 ข้อหลัก คือ (1) หลายโครงการ เช่น ท่าเรือในปากีสถาน ศรีลังกา บังคลาเทศ เคนยา รวมถึงท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเอเชียกลาง ทำเพื่อตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ของจีนเป็นหลัก ทำให้ขาดทุนในเชิงพาณิชย์และก่อหนี้ให้กับประเทศเหล่านั้น

(2) ขาดความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลที่ชัดเจน เช่น ในรูปแบบของเงินกู้ การแบกรับผลกำไรขาดทุน รวมถึงขาดการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน เช่น สิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโครงการ และ

(3) ขาดการมีส่วนร่วมของเหล่าประเทศสมาชิกที่อยู่ในโครงการ BRI โดยจีนจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขของโครงการเป็นหลัก ทำให้นานาชาติ เช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF ออกมาเตือนถึงความโปร่งใสในโครงการต่าง ๆ และทำให้หลากหลายประเทศทบทวนหรือยกเลิกโครงการ BRI เช่น รถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย-สิงคโปร์ รวมถึงในไทยเองที่มีการทบทวนเงื่อนไขเงินกู้โครงการรถไฟไทย-จีน รวมถึงข้อกำหนดบุคลากรในการก่อสร้าง เป็นต้น

หลังจากที่โครงการต่าง ๆ ใน BRI ประสบปัญหา ทางการจีนก็เริ่มมีการปรับโครงการให้โปร่งใสและให้นานาชาติมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน ที่เป็นผู้ให้เงินกู้หลักของโครงการ BRI เริ่มหาพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อร่วมกันปล่อยกู้ให้โครงการต่าง ๆ เพื่อให้เงื่อนไขโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติมากขึ้น

ไม่ว่า Bridge and Road Initiative จะเป็นดั่งสะพานหรือก้อนอิฐ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกามีแต่จะมากขึ้นในศตวรรษนี้

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่