ลุกขึ้นสู้ ก่อนเสียทีให้ Disruption

ลุกขึ้นสู้ ก่อนเสียทีให้ Disruption

การที่บริษัทดิสนีย์ (Disney) สามารถซื้อหุ้นจากกลุ่มฟอกซ์ (21st Century Fox) ด้วยมูลค่า 71,300 ล้านดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้

จึงเปิดโอกาสให้ดิสนีย์ได้ครอบครองคอนเทนท์และรายการคุณภาพอย่าง The Simpsons, X-Men ตลอดจนเข้าเป็นเจ้าของทีวีสตูดิโอและเคเบิลทีวีเน็ตเวิร์คอย่าง FX และ National Geographic เชื่อกันว่าการเข้าซื้อธุรกิจจากกลุ่ม Fox ในครั้งนี้ไม่ใช่การชิงชัยของสองยักษ์ใหญ่ในวงการเดียวกัน แต่เป็นขยาย Ecosystem ของกลุ่มดิสนีย์เพื่อรับมือกับคู่แข่งต่างวงการอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) มากกว่า

เน็ตฟลิกซ์ซึ่งเดิมเป็นเพียงบริษัทผู้ให้บริการการแพร่ภาพวิดีโอ (Streaming Video) และภาพยนตร์จากค่ายดังต่างๆ บัดนี้ได้กลายเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับออสการ์ที่แพร่ภาพผ่านแพลตฟอร์มของเน็ตฟลิกซ์ซึ่งมีสมาชิกถึง 125 ล้านรายใน 190 ประเทศทั่วโลก และในปีนี้เน็ตฟลิกซ์ยังคงสร้างคอนเทนท์หรือภาพยนตร์เอง (Original Content) ต่อเนื่องโดยใช้เงินลงทุนมากถึง 8,000 ล้านดอลลาร์กับใช้ผู้กำกับนักแสดงและผู้สร้างชั้นนำของฮอลลีวู๊ด ในเดือนสิงหาคมนี้เน็ตฟลิกซ์จะออกฉายภาพยนตร์ใหม่ในสังกัดถึง 47 เรื่องผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มไปยังสมาชิกทั่วทุกมุมโลก

การรุกของเน็ตฟลิกซ์ที่ดิสลัพ (Disrupt) วงการบันเทิงโดยการสตรีมมิ่งภาพยนตร์และรายการใหม่เข้าไปถึงห้องนั่งเล่นในแต่ละครัวเรือน ชนิดที่เรียกว่านั่งดูติดต่อกันโดยไม่ต้องหยุด (Binge-Watch) ทำให้ บ๊อบ ไอเกอร์ (Bob Iger) ซีอีโอผู้เปลี่ยนโฉมดิสนีย์ต้องกระโดดเข้าสู่สนามดิจิทัล โดยจะหยุดให้ลิขสิทธิ์การฉายภาพยนตร์จากค่ายดิสนีย์ในแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ และเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งใหม่ที่พร้อมเปิดให้บริการในปี 2019 ซึ่งจะสตรีมมิ่งภาพยนตร์ในเครือที่มาจาก Marvel, Pixar, Disney Animation, Star Wars และกลุ่มฟอกซ์ไปยังสมาชิกเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการนำความพร้อมทางธุรกิจของดิสนีย์ออกมาปกป้องธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เคยครองความเป็นผู้นำอยู่จากการถูกดิสลัพ แต่การปรับตัวของเหล่าเจ้าของคอนเทนท์ในครั้งนี้อาจหมายถึงการเกิดดิสลัพชั่นครั้งใหม่กับธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

รีเทลต้องปรับแผนสู้

อีคอมเมิร์ซได้กดดันให้รีเทลและห้างสรรพสินค้าต้องทรานส์ฟอร์มและใช้แผนกลยุทธ์ดิจิทัล (Digital Strategy) เพื่อรักษาธุรกิจและลูกค้าให้ได้ ตัวอย่างเช่น ห้างดังอย่างเมซีส์ (Macy’s) ซึ่งใช้แผน “Growth50” โดยการแปลงโฉมห้างต้นแบบ 50 แห่งด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านตัวห้างที่ตกแต่งอย่างดีเพื่อดึงดูดนักช๊อป (In-Store Experience) และการออกสินค้าแบรนด์พิเศษของเมซีส์ (Private Label) ตลอดจนการเพิ่มร้านในห้างที่บรรจุสินค้าราคาพิเศษ (Off-Price) ในลักษณะ Outlet Store ที่เรียกว่า “Backstage” เพื่อดึงลูกค้าให้กลับเข้าห้างให้มากขึ้น

เมซีส์ได้ทุ่มการลงทุนในการใช้ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสบการณ์การจับจ่ายตลอดเส้นทางการช๊อปในลักษณะ “OmniChannel” ผ่านโมบาย ระบบอีคอมเมิรซ์และระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย โดยเว็บไซต์ของเมซีส์ (macys.com) ติดอันดับหนึ่งของเว็บที่มีผู้เข้าชมเสื้อผ้า (Apparel) กว่า 55 ล้านรายในไตรมาสแรกของปี ซึ่งสูงกว่าอเมซอนในหมวดหมู่เดียวกันมาก รวมทั้งได้นำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) มาใช้ในการเลือกชมสินค้าราคาสูงอย่างเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน จนช่วยให้ยอดขายผ่านออนไลน์ของเมซีส์เติบโตต่อเนื่อง การต่อสู้ของห้างดังจึงเป็นการประสานความแข็งแกร่งของห้างเข้ากับการใช้ดิจิทัลอย่างเข้าใจและเหมาะกับธุรกิจมากที่สุด

การรับมือของรีเทลเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจหรือจากการร่วมมือกับพันธมิตรดิจิทัลที่มีจุดแข็งอาทิ การจับมือระหว่างวอลมาร์ทในจีนกับ Tencent หรือความร่วมมือระหว่าง JD.com และ Central Group ที่เปิดออนไลน์แพลตฟอร์ม (jd.co.th) ด้วยเงินลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท เป็นต้น

 

สถาบันการเงินต้องรับมือ

นวัตกรรมฟินเทค (Fintech) อย่างโมบายเพย์เมนท์ Blockchain หรือ Digital Currency กำลังดิสลัพธุรกิจการเงินการธนาคาร บัตรเครดิต และอินชัวรันส์จนยากจะคาดเดาผลลัพธ์สุดท้าย โมบายเพย์เมนท์จากค่าย Alipay, WeChat Pay, PayPal และอื่นๆ กำลังเข้าแทนที่เงินสดและบัตรเครดิต ธนาคารกลางในหลายประเทศต่างเร่งระดมความคิดและนโยบายในการบริหารจัดการกับ Digital Currency ใหม่ให้มีเสถียรภาพและปลอดภัย เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นธนาคารและสถาบันการเงินต่างเร่งเครื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่านดิจิทัล อาทิ บริการโมบายแบงค์กิ้งจาก K PLUS ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโมบายเพย์เมนท์ที่น่าเชื่อถือและมาแรงของไทย

 

นาทีนี้นิ่งไม่ได้

ถึงแม้ผลกระทบจากดิสลัพชั่นในประเทศจะยังไม่เห็นชัดเจนและรุนแรงมากนัก แต่ดิจิทัลก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นจากต่างแดนสามารถเข้าช่วงชิงการค้าและรายได้ไปจากผู้ประกอบการท้องถิ่น และด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลประกอบกับความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและบุคคลากรที่มีประสบการณ์มากกว่าย่อมเปิดแต้มต่อให้กับผู้ที่มีความพร้อมสูงกว่า

หากธุรกิจเข้าใจว่าดิจิทัลเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับองค์กร การมีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะปรับการดำเนินธุรกิจและพร้อมลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้และเพิ่มความสามารถให้กับบุคคลากรอย่างจริงจังไม่หยุดนิ่ง องค์กรนั้นก็อาจจะสามารถดิสลัพธุรกิจอื่นได้เช่นกัน เวลานี้ธุรกิจต้องลุกขึ้นสู้และปรับตัวให้พร้อมรับมือคู่แข่งจากทุกสนามที่สามารถดิสลัพเราได้ทุกเมื่อ