กลไกของ VAT ในภาษี e-Business

กลไกของ VAT ในภาษี e-Business

เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับปรุงให้ก้าวทันเช่นกัน บทความฉบับนี้ จึงขออธิบายประเด็นภาษี

ในยุค Digitalization และการพัฒนากลไกของกฎหมายภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติหลักการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ (e-Business) การแก้ไขดังกล่าวเป็นผลจากการตั้งโจทย์ของภาครัฐว่า “จะเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างชาติที่ทำธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไร

คำตอบ คือ ทำไม่ได้ง่าย เมื่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล มักใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลาง โดยผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องเข้ามาในประเทศที่รับบริการ และด้วยประโยชน์ของ Digital Platform การทำธุรกรรมข้ามประเทศจึงเป็นเรื่องง่ายที่ทำได้ 24 ชั่วโมง อันเป็นการตัดความจำเป็นในการมีร้านค้าในทางกายภาพ หรือ หน้าร้านในแบบเดิมไป (Brick-and-Mortar) การดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ เป็นปัญหาสำคัญของระบบภาษีอากรระหว่างประเทศ เนื่องจากการประเมิณภาษีจากธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible assets) นั้น ตรวจสอบได้ยาก

ตัวอย่าง บริษัท A ขายโฆษณาออนไลน์ผ่าน Digital Platform จากประเทศ x ไปยังลูกค้าในประเทศ Y โดยบริษัท A ไม่มีสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment: PE) ในประเทศ Y ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักภาษีอากรระหว่างประเทศ ประเทศ Y ไม่มีสิทธิในการเก็บภาษีจากเงินได้ที่เกิดของบริษัท A เพราะบริษัท A ไม่มี สถานทำการที่เป็นหลักแหล่งในประเทศ Y (หรือบางตำราจะเรียกการทำธุรกิจลักษณะนี้ว่า Sales without physical presence)

จากปัญหาข้างต้น จึงเป็นที่มาของการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อเก็บ VAT จากผู้ให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศที่ให้บริการกับลูกค้าในประเทศไทย โดยประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้

ปัญหา คือ บริการ ไม่ใช่ สินค้า

การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์จะเก็บ VAT จากผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศและให้บริการผ่าน Digital Platform กับลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย โดยกฎหมายมุ่งจะเก็บ VAT จากการให้บริการ (รวมถึงธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการเก็บ Service fees) มิใช่เก็บภาษีจากการซื้อสินค้าออนไลน์

กรณีที่จะมีการเก็บ VAT เช่น ผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการ Digital Media Services โดยให้ผู้รับบริการในประเทศไทยสามารถขอรับบริการได้โดยสมัครเป็นสมาชิกเพื่อชมทีวีออนไลน์ หรือ ผู้ทำธุรกิจ Digital Content ที่ให้บริการดาวน์โหลดเพลง สติกเกอร์ แมกกาซีนออนไลน์ หรือเกมส์ออนไลน์ โดยคิดค่าบริการเป็นรายครั้ง หรือเหมาจ่ายแบบรายเดือน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศนั้น เป็นคนละประเด็น และ ไม่เกี่ยวกับการแก้กฎหมายในครั้งนี้ เนื่องจาก การซื้อสินค้าออนไลน์ แม้จะซื้อจากผู้ขาย/หรือเว็บไซต์ของต่างประเทศ และได้มีส่งสินค้าตามที่ลูกค้าสั่งซื้อมายังที่อยู่ในประเทศไทย แต่การนำเข้าสินค้าย่อมเป็นไปตามพิธีการนำเข้าสินค้าตามกฎหมายของกรมศุลกากร ซึ่งจะมีการเรียกเก็บอากรขาเข้า และ VAT อยู่แล้ว (อย่างไรก็ดี ในกรณีของสินค้า หากมูลค่าไม่เกิน 1500 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระอากรขาเข้า)

การให้ผู้ประกอบการต่างชาติขึ้นทะเบียน VAT คือ ทางออก

ก่อนหน้านี้ ในเวทีระหว่างประเทศ มีการพูดถึงการใช้นโบบายแบบ Ring-fencing หรือ การห้าม/ป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศที่ไม่ได้เสียภาษีถูกต้อง เข้ามาขายสินค้าหรือบริการในประเทศ และได้ข้อสรุปว่า ไม่น่าจะทำได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัลได้ทั้งหมด

ต่อมา แนวทางการกำกับดูแลจึงได้ให้ความสนใจกับระบบขึ้นทะเบียน เช่น ระบบ Cross-Border VAT ของสหภาพยุโรป (EU) ที่ผู้ซื้อผู้ขายจะต้องทำการเช็คในระบบก่อนว่าบุคคลที่เราจะทำธุรกรรมด้วยนั้นมี VAT Number หรือไม่ (หรือมีการขึ้นทะเบียน VAT หรือยัง) และหากผู้ขายที่ต้องการขายสินค้า/บริการไปยังประเทศในกลุ่ม EU อาจจำเป็นต้องลงทะเบียนและชำระ VAT ให้ถูกต้องกับประเทศที่นำเข้า ซึ่งกฎในเรื่อง Cross-border VAT ของ EU นั้นจะระบุชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างการจัดเก็บ VAT ในสินค้าและบริการ

เช่นเดียวกัน OECD ได้ให้ความสนใจกับแนวทางขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ โดยเสนอแนวทางให้มีการจดทะเบียนผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศ โดยนำเสนอให้ประเทศสมาชิกควรจัดให้มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการต่างประเทศในรูปแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ และเพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศ

ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น ภาษีการให้บริการออนไลน์ของญี่ปุ่น (Consumption tax on e-Services) โดยให้ผู้บริการในต่างประเทศต้องขึ้นทะเบียน Consumption tax กับภาครัฐ หากมีการให้บริการในญี่ปุ่นเกิน 10 ล้านเยนต่อปี

สำหรับประเทศไทย ในเบื้องต้น หากผู้ประกอบการต่างประเทศมีรายรับจากการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ย่อมมีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียน VAT เช่นกัน โดยใคร จะเป็นผู้ชำระ VAT นั้น ต้องพิจารณาสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างผู้ให้บริการและPlatform เป็นหลัก ในส่วนของโทษ กฎหมายที่แก้ไขไม่ได้กำหนดบทลงโทษให้แตกต่างไปจากกรณีโทษของผู้ประกอบการ VAT ทั่วไป โดยกฎหมายจะกำหนดเพิ่มเติมให้กระบวนการส่งหมายเรียก หนังสือประเมิน หรือหนังสือแจ้งให้เสียภาษีสามารถนำส่งไปยังผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งปัจจุบันการส่งเอกสารต่าง ๆ ไปยังผู้เสียภาษีต้องดำเนินการผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือเจ้าพนักงานสรรพากรเป็นผู้นำส่งแล้วแต่กรณี

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า การแก้ไขประมวลรัษฎากรในครั้งนี้จะช่วยสร้างความเป็นธรรม ในการจัดเก็บภาษี โดยไม่ให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ให้บริการในแบบเดียวกันมีต้นทุนที่ สูงกว่าผู้ประกอบการในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ (Economic Neutrality) และก่อให้การเกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม โดยให้ผู้เล่นทุกคนมีต้นทุนทางภาษีที่เท่ากัน (Level playing field)

ในอนาคต หากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้เขียนจะหยิบยกมาอธิบายในรายละเอียดต่อไป

**บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน**