ด้านได้...อายอด

ด้านได้...อายอด

ผมเพิ่งกลับจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นั่นนอกจากราคายางพาราจะตกต่ำแล้ว ราคาผลไม้ก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน

คุณยายวัยเกือบ 90 คนหนึ่ง ปิ๊งไอเดียกับลูกหลาน เปิดสวนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้กินผลไม้แบบไม่อั้น ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ในราคาเบาๆ เด็ก 79 บาท ผู้ใหญ่ 129 บาท และมีกิจกรรมขับรถจี๊ปสมัยสงครามโลกเที่ยวชมสวนบนเนินเขา เนื้อที่หลายสิบไร่ ลูกๆ หลานๆ ช่วยกันโปรโมททางโซเชียลมีเดียกระทั่งดังไกลถึงมาเลย์ มีนักเที่ยว นักชิม แวะเวียนมาไม่ขาดสาย

สองสัปดาห์แรกกิจการไปได้ด้วยดี แถมช่วยดันราคาทุเรียน เงาะ มังคุด ในพื้นที่ให้สูงขึ้นด้วย

เมื่อสวนเริ่มดัง หน่วยงานรัฐเริ่มรับรู้จากข่าวสารและเสียงร่ำลือแบบปากต่อปาก หน่วยงานระดับนโยบายก็หวังดีช่วยโปรโมทให้ไปเที่ยว สวนคุณยาย” สั่งการให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่ไปดูงานและท่องเที่ยวไปในตัว เพื่อสานต่อยกระดับเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชน

นับแต่นั้น สวนคุณยาย ก็เริ่มเปลี่ยนไป ปลัดอำเภอคนหนึ่งพาข้าราชการ 60 คนไปกินบุฟเฟต์ผลไม้ เบิกงบไปหมื่นกว่าบาท ไปถึงก็ขอต่อรองกับคุณยายให้ลดราคาเหลือ 5,000 บาท พร้อมขอกาแฟและอาหารเช้าบริการ เจ้าขุนมูลนาย ที่อุตส่าห์สละเวลาไปเหยียบสวนชาวบ้าน ลูกหลานยายบอกว่า 5,000 บาทพ่วงกาแฟ อาหารเช้าคงสู้ไม่ไหว เพราะแค่ค่าหัวบุฟเฟต์ก็ปาเข้าไป 7,740 บาทแล้ว ขอเพิ่มอีกหน่อยก็แล้วกัน สุดท้ายปลัดขอจ่ายแค่ 7,000 พร้อมเปรยแบบไม่อายว่า ผมจะได้เหลือเงินติดกระเป๋าบ้าง

ข้าราชการอีกกลุ่มแวะไปกินแบบไม่อั้น ขอต่อราคาเหลือแค่หัวละ 50 บาทก็แล้วกัน คุณยายเห็นมากันแค่สิบกว่าคน ไม่ใหญ่เท่าคณะปลัด ก็ยอมจัดให้ สุดท้ายเจ๊งยับ เพราะขนทุเรียน เงาะ มังคุด หอบใส่ถุงกลับไปกินต่อที่บ้านด้วย

คณะครูโรงเรียนรัฐบาลจัดกิจกรรมนอกสถานที่ พาเด็กนักเรียนไปเที่ยว “สวนคุณยาย เก็บเงินจากผู้ปกครองเด็กมาหัวละ 40 บาท จากนั้นก็พาเด็กมากินบุฟเฟต์ผลไม้ ขอต่อราคาลงครึ่งหนึ่ง พ่วงด้วยครูอีก 1 โขยง แจ้งตัวเลข 5 คน แต่มาจริง 9 คน กินกันอิ่มหมีพีมันในราคานักเรียนด้วยเงินที่ผู้ปกครองคนหาเช้ากินค่ำเป็นคนจ่าย แถมครูบางคนยังทำอาหารใส่ถุงมาขายนักเรียน เพิ่มรายได้ให้ตัวเองอีกต่างหาก

ที่เล่าให้ฟังนี้ไม่ใช่คุณยายหรือลูกหลานยายอยากแฉ แต่ผมไปเจอมากับตัวเองแล้วรับไม่ได้จริงๆ นี่มันยิ่งกว่าโกงทุกหย่อมหญ้า แต่มันเป็นการเอาเปรียบชาวบ้านแบบไม่เลือกหน้า จากเชื้อโกงที่ฝังในดีเอ็นเอ!