เมื่อ “CSR”กลายเป็นดาบสองคมของ “CEO”

เมื่อ “CSR”กลายเป็นดาบสองคมของ “CEO”

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน อย่างที่รู้กันว่าปัจจุบันองค์กรชั้นนำต่างก็ให้ความสำคัญกับ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ขององค์กร หรือ CSR

อาทิเช่น การลงทุนด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมความหลากหลายของพนักงาน(Diversity) ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

ซึ่งนโยบาย CSR เหล่านี้สามารถสร้าง คุณอนันต์ให้แก่ผู้บริหารหรือซีอีโอ ขณะเดียวกันก็อาจเป็น โทษมหันต์ให้แก่ซีอีโอได้ด้วยเช่นกัน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรลองมาติดตามกันค่ะ

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม (University of Notre Dame) ในสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานชื่อ “Higher Highs and Lower Lows: The Role of Corporate Social Responsibility in CEO Dismissal” ที่วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของความรับผิดชอบต่อสังคมที่อาจมีผลต่อการ “ปลดออกจากตำแหน่ง” ของผู้นำองค์กรหรือซีอีโอ

โดยผลการศึกษาพบว่า หากองค์กรที่มีการลงทุนใน CSR ในระดับสูง และต่อมาองค์กรมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดี ก็มีแนวโน้มว่าซีอีโอองค์กรนั้นจะถูกปลดออกมากกว่า แต่ในทางตรงกันข้าม หากองค์กรมีการลงทุนใน CSR และองค์กรมีผลการดำเนินงานที่ดี อัตรการปลดซีอีโอออกก็จะน้อยกว่ามากด้วยเช่นกัน

ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนใน CSR นั้นเปรียบเสมือน ดาบสองคมที่สามารถปกป้องคุ้มครองผู้บริหารองค์กรได้มากกว่า หากผู้นำนั้นสามารถสร้างผลการดำเนินงานให้องค์กรได้ดี แต่หากผู้บริหารมีผลงานที่ไม่ดีการลงทุนใน CSR ก็สามารถทำให้คุณหลุดจากตำแหน่งได้มากกว่าเช่นกัน และยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการลงทุนด้าน CSR ในอดีตที่ยังคงมีความสำคัญและส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้อีกด้วย

ทิม ฮับบาร์ด ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม ซึ่งเป็นคณะผู้จัดทำรายงานนี้กล่าวว่า “ผู้บริหารขององค์กรที่มีการลงทุนและมีแนวทางการปฏิบัติด้าน CSR ในระดับสูงจะมีโอกาสถูกปลดออกมากกว่าถึง 84% เมื่อองค์กรนั้นมีผลการดำเนินงานออกมาไม่ดี เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ ที่ไม่มีการลงทุนหรือมีนโยบาย CSR ที่เข้มข้นเท่า อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังพบว่าการลงทุนใน CSR ที่ทำมาตั้งแต่ในอดีต จะช่วยคุ้มครองไม่ให้ผู้บริหารองค์กรต้องถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยลดลงถึง 53% หากองค์กรนั้นๆ มีผลการดำเนินงานหรือผลกำไรที่ดีขึ้น”

รายงานดังกล่าวนี้เป็นผลที่ได้รวบรวมมาจากการเปลี่ยนแปลงซีอีโอขององค์กรชั้นนำของโลกใน Fortune 500 ตั้งแต่ปี 2003 ถึงปี 2008 โดยดูจากการออกจากตำแหน่งของซีอีโอว่าเป็นการออกโดยสมัครใจหรือการถูกปลดออกและศึกษาลงไปถึงกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมในอดีตขององค์กรนั้นๆ โดยอิงจากการประเมินของหน่วยงานภายนอก รวมถึงการประเมินผลการดำเนินงาน จากนั้นจึงพิจารณาว่า CSR และตัวเลขผลการดำเนินงานหรือผลตอบแทนทางการเงินนั้นมีผลอย่างไรต่อการปลดซีอีโอรายนั้นๆ ออกจากตำแหน่ง

“โดยทั่วไป กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายขององค์กรที่สนใจอยากเห็นกิจกรรม CSR ที่เพิ่มขึ้น ควรเข้าใจว่าการที่ผู้นำองค์กรหรือซีอีโอลงทุนใน CSR ยิ่งมากเท่าไหร่นั้นยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงส่วนตัวขึ้นด้วยเช่นกัน และเราควรเข้าใจถึงผลที่อาจจะตามมาที่ซีอีโอต้องเผชิญเมื่อลงทุนใน CSR

จริงอยู่ที่การลงทุนใน CSR นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นองค์ประกอบหรือกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กรสมัยใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน การลงทุนใน CSR อาจไม่ได้กำไรกลับมาเสมอไป ซึ่งนี่เองคือประเด็นที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาผลการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมายังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดด้วยซ้ำว่า “การลงทุนใน CSR”และ “ผลกำไรขององค์กร” นั้นมีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนในด้าน CSR นั้นจึงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงประเด็นในด้านต่างๆ” ทิม ฮับบาร์ด กล่าว

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า หน้าที่ขององค์กรคือการสร้างผลกำไร แต่การสร้างผลกำไรให้ได้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นก็เป็นสิ่งที่ยอมรับโดยทั่วกัน หากผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัทคาดหวังให้ซีอีโอต้องดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ควรมีมาตรการต่างๆ อาทิการจูงใจหรือรูปแบบผลตอบแทนที่มีวิธีการป้องกันซีอีโอเอาไว้แล้ว ซึ่งการมีวิธีป้องกันนี่เองที่จะทำให้ซีอีโอสามารถตัดสินใจได้อย่างปลอดโปร่งมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนทางด้าน CSR ใดๆ ต่อไป 

ถือเป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยค่ะ