ตลาดหุ้นสะท้อนสังคม

ตลาดหุ้นสะท้อนสังคม

ความลำบากยากเข็ญกลายเป็นดราม่าเรื่องของบุญกรรม

หนึ่งในหนังสือที่ผมมุ่งมั่นทุ่มเทแปลที่สุดในชีวิต คือ Requiem for the American Dream ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ โนม ชอมสกี้ หรือชื่อไทยคือ '10 หลักแห่งการรวบอำนาจ'

เดิมทีผมอยากใช้ชื่อ '10 หลักกินรวบประเทศ' ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องของการผูกขาดอำนาจและความมั่งคั่ง แต่ด้วยสำนักพิมพ์เกรงจะแรงเกินไปจึงต้องปรับให้เบาลง

แม้ตั้งชื่อหนังสือราวกับจะสั่งสอนวิชามารให้ใคร เจตนาแท้จริงคือการ 'ล้อเลียน' สภาพความเป็นจริงของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ที่อำนาจและเงินทองถูกผูกขาดโดยอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆ หรือพวก '1 เปอร์เซ็นต์' ขณะที่คนอีก '99 เปอร์เซ็นต์' ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตกเป็นเบี้ยล่างไม่สิ้นสุด

โนม ชอมสกี้ เล่าว่า พ่อของเขาอพยพจากหมู่บ้านอันยากจนในยุโรปตะวันออกเข้ามายังสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1913 และสามารถเล่าเรียนจนจบปริญญาเอก สุดท้ายจึงมีโอกาสได้ใช้ชีวิตเหมือนคนชั้นกลางทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า 'ความฝันแบบอเมริกัน'

ไอเดียของมันก็คือ หากคุณมีความมุ่งมาดปรารถนา มีพลัง ไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน คุณสามารถไต่เต้ายกระดับฐานะจนได้ใช้ชีวิตในฝัน มีบ้านหลังงาม มีสวนสวยอยู่หน้าบ้าน มีรถขับ ส่งลูกไปโรงเรียนดีๆ ทั้งหมดนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีเสมอเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ การ 'เลื่อนชนชั้น' เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้วในสหรัฐอเมริกา

ความฝันแบบอเมริกันดูเหมือนจะจบสิ้นลงโดยสมบูรณ์

มิพักต้องพูดถึงสังคมไทย ที่ความเท่าเทียมเป็นสภาวะอันหาได้ยากดุจน้ำจืดกลางมหาสมุทร เราอยู่ในสังคมแห่งมหาพีระมิด ที่ไม่เพียงความเหลื่อมล้ำอยุติธรรมดำรงลึกอยู่ หากแต่มันได้ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นความถูกต้อง

ชาวบ้านตาดำๆ ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ โดนกระทำย่ำยี ทั้งยังถูกสั่งสอนให้จำนนต่อโชคชะตา ความลำบากยากเข็ญกลายเป็นดราม่าเรื่องของบุญกรรม ทั้งที่จริงมันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของผู้ปกครองและนายทุน ที่กินรวบทรัพยากรชาติทุกอย่างไว้กับพวกตน

แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็น 'สนามแข่งขัน' ของนักลงทุนอย่างเราๆ หุ้นตัวใหญ่เกือบทั้งหมดยังกลายเป็นหุ้นผูกขาด หุ้นรัฐวิสาหกิจ หรือไม่ก็บริษัทยักษ์ใหญ่ของตระกูลเก่าแก่ที่ผูกโยงกับระบบอุปถัมภ์ ต่างจากสหรัฐฯ ที่หุ้น Big Cap จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Apple, Google, Facebook และอื่นๆ ล้วนเกิดจากคนธรรมดาที่สร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยหนึ่งสมองและสองมือโดยไม่ต้องมีซุปเปอร์คอนเน็คชั่นที่ไหน

สังคมอเมริกันแม้จะมีปัญหา แต่ยังเหลือพื้นที่ให้พวก 'Outlier' หรือยอดมนุษย์มือเปล่าๆ ได้สร้างฝัน แต่สำหรับสังคมไทย เรื่องเช่นนั้นดูจะยากเย็นขึ้นอีกทบเท่าพันทวี