สถาบันสงฆ์-สังคมไทย : ข้อพิจารณาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์**

สถาบันสงฆ์-สังคมไทย :  ข้อพิจารณาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์**

กรณีที่เกิดกับคณะสงฆ์ไทยในขณะนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดกับคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น หากแต่สะท้อนถึงสภาพปัญหาของสังคมไทยอีกด้วย

ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอธรรมทัศน์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ได้นำเสนอประเด็นนี้ไว้ในธรรมนิพนธ์ของท่าน เพื่อเป็นแง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ในสังคมไทยสืบไป

สมเด็จพระพุทโฆษาจารย์มองว่า ศาสนานั้นผลแห่งความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม พระพุทธศาสนาเองก็มีหน้าที่ บทบาทเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ในความหมายที่แท้จริงนั้น พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเป็นสังคม ตัวอย่างที่มีการจัดระบบต่าง ๆ ทั้งในทางการปกครอง การเลี้ยงชีพ ชีวิตทางสังคม ตลอดจนการศึกษาอบรมทุกอย่าง โดยให้สมาชิกทุกคนมีสิทธิ และมีส่วนร่วมในกิจการและผลประโยชน์ต่างๆ ของสถาบันโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เคารพในคุณค่าของกันและกัน หรือที่เรียกตามหลักสมัยใหม่ว่า มีสมภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ

ภายใต้สถาบันสงฆ์นี้ สมาชิกสงฆ์ทุกคนจึงมีโอกาสพร้อมที่จะให้ความสามารถ คุณสมบัติต่างๆ ของตน ได้รับการฝึกอบรมเจริญก้าวหน้าโดยเต็มที่ ตามหลักไตรสิกขา ซึ่งเป็นหลักในการฝึกอบรมบุคคลใน 3 ด้าน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ งานหลักหรือภารกิจสำคัญของสถาบันสงฆ์ ก็คือ การศึกษา ระบบการต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในทางการปกครองก็ดี ทางการเลี้ยงชีพก็ดี ทางชีวิตสังคมก็ดี ล้วนมุ่งให้เป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนระบบการศึกษาอบรมทั้งสิ้น

โดยนัยนี้ การศึกษาจึงเป็นแก่นแท้หรือสาระสำคัญของพระพุทธศาสนา ผู้ที่เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาเพื่อเข้าถึงเป้าหมายในพระพุทธศาสนาจึงต้องฝึกอบรมหรือต้องศึกษาพัฒนาตนเอง จึงจะสามารถเข้าถึงเป้าหมายในพระพุทธศาสนาได้ บุคคลในอุดมคติทางพระพุทธศาสนา คือ พระสงฆ์ จึงผู้ที่ปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนครบถ้วนสมบูรณ์ มีจิตใจบริสุทธิ์เป็นอิสระ มองสิ่งทั้งหลายด้วยความเข้าใจตามที่เป็นจริง มีความปลอดโปร่งปราศจากเงื่อนปมภายในที่จะเป็นเหตุสร้างปัญหาชีวิตให้แก่ตนและผู้อื่น มีชีวิตอยู่ด้วยความสุข เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมความราบรื่น กลมกลืน ความสงบสุขของสังคม และพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นผลมาจากการฝึกฝนอบรมตามหลักไตรสิกขานั่นเอง

ต่อมา เมื่อคณะสงฆ์เริ่มขยายตัวจนเกิดเป็นสถาบัน คือ มีวัดเป็นหน่วยหรือสถาบันพื้นฐานในการให้การศึกษาแก่มวลชน ตามเจตนารมณ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศหลักการของพระพุทธองค์ตั้งแต่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเมื่อคราวส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และความเจริญก้าวหน้าของพระพุทธศาสนา จึงเป็นไปเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงเรียกลักษณะของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งว่า เป็นศาสนาแห่งการศึกษา (Religion of Education)

เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายเข้ามาสู่สังคมไทย และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรมไทยแล้ว สถาบันสงฆ์ คือ วัดและพระสงฆ์ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาเล่าเรียนของสังคมไทย วัดเองนอกจากจะเป็นสถานศึกษาแล้ว ก็ได้กลายเป็นทุกอย่างของสังคมไทย เช่น เป็นสถานสงเคราะห์ สถานพยาบาล เป็นที่พักคนเดินทาง เป็นสโมสรที่ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ เป็นสถานบันเทิงที่จัดงานเทศกาล เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม เป็นคลังพัสดุ เป็นศูนย์กลางการบริหารหรือปกครอง ตลอดจนเป็นที่ประกอบพิธีกรรม

บทบาทและฐานะเหล่านี้ของสถาบันสงฆ์ได้ดำเนินสืบเนื่องมาในสังคมไทยอย่างยาวนาน จนกระทั่งเมื่อสังคมไทยได้เริ่มรับเอาความเจริญสมัยใหม่หรือความเจริญแบบตะวันตกเข้ามา ฐานะและบทบาทของวัดและพระสงฆ์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงและสูญเสียไป เพราะมีสถาบันใหม่ ๆ มาทำหน้าที่แทนสถาบันสงฆ์และแทนพระสงฆ์ทั้งในด้านการศึกษาและสังคม และพระสงฆ์เองก็ขาดการปรับตัวในการที่จะเข้าไปรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จึงมีการปรารภและแสดงความเป็นห่วงสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนาตลอดมาว่า พระพุทธศาสนาซึ่งหมายถึงพระสงฆ์และวัดกำลังสูญสิ้นบทบาท ฐานะ และความหมายออกไปจากสังคมมากขึ้นทุกขณะ บางอย่างก็หมดไปแล้ว บางอย่างก็กำลังจะหมดไป และวัดเองก็มิได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกต่อไป

ในโลกยุคใหม่ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทยควรมีบทบาทและภารกิจอย่างไร ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ภายในคณะสงฆ์เองที่ต้องดำเนินไปภายใต้กรอบแห่งพระธรรมวินัย และความสัมพันธ์กับสังคมในส่วนรวมว่ามีขอบเขตมากน้อยเพียงใด

การที่จะดำรงสถาบันสงฆ์ให้คงอยู่ กลับมามีบทบาทและคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่นั้น พระสงฆ์และสถาบันสงฆ์จะต้องแสดงออกถึงบทบาท หน้าที่และภารกิจของสถาบันสงฆ์ให้ชัดเจน เป็นบทบาทที่จะสามารถนำพาชีวิตของผู้คนและสังคมในปัจจุบันไปสู่ความดีงามตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาได้ ดังเจ้าประคุณสมเด็จได้ให้แง่คิดข้อสังเกตไว้ว่า

สมัยใดพระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนและเป็นเครื่องปรากฏของพระพุทธศาสนา ดำรงมั่นในสมณปฏิบัติ ทั้งในส่วนอัตตัตถปฏิปทา (ส่วนตน) และในส่วนสมณกิจ อนุเคราะห์ชนหมู่มาก สามารถบำเพ็ญประโยชน์สนองความต้องการโดยธรรมแก่สังคมด้วยเมตตาธรรมตามหน้าที่ สมัยนั้นสังคมก็มองเห็นความจำเป็นของพระศาสนา พระสงฆ์ก็ได้รับความเคารพเทอดทูนบูชา พระศาสนาก็เจริญรุ่งเรื่อง เป็นส่วนประกอบอันขาดไม่ได้ของสังคม แต่สมัยใดพระสงฆ์ปฏิบัติเคลื่อนคลาด ไม่สามารถชักนำสังคมไปสู่ความสงบสุขและความเจริญโดยธรรมได้ สมัยนั้น ฐานะของพระสงฆ์ก็เสื่อมโทรมลง ศรัทธาในพระศาสนาก็เสื่อมถอย

 

*** ชื่อเต็ม: 

สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย :

ข้อพิจารณาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

โดย... 

ผศ.ธนภณ สมหวัง

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

[email protected]