ก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)

ก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)

ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ดำเนินธุรกิจโดยนำหลักการความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงได้แทรกซึมเข้าไปในภาคธุรกิจธนาคาร

ความยั่งยืนที่เราพูดถึงหมายถึงธุรกิจที่เติบโตไปได้โดยไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า สังคม หรือสิ่งแวดล้อมในอนาคต และสุดท้ายนำไปสู่การพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทยในระยะยาว (Financial Well-being)

แล้วการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนจะเข้าไปช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมดีขึ้นได้อย่างไร

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยภาคครัวเรือนยังคงมีหนี้ต่อรายได้สูง ในขณะที่บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันในระบบได้ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังคงมีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อทำให้ไม่สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้เต็มที่

การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนเป็นการเชื่อมโยงในหลายมิติ โดยในมุมของภาคครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับ การเข้าถึงบริการทางการเงิน และการให้ความรู้ทางการเงิน

มิติการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือนครอบคลุมหรือไม่ จากข้อมูลในปัจจุบันการเข้าถึงบริการทางการเงินทั้งในส่วนของการออมและการเข้าถึงสินเชื่อของคนไทย พบว่ายังมีบางส่วนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เช่น หากพิจารณาจากจำนวนตู้ ATM จากการศึกษาของสถาบันป๋วย ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าจำนวน ATM ต่อประชากรของไทยมีเพียง 34 : 100,000 คน และในแง่การกระจายตัว พบว่า ตู้ ATM กว่า 80% ตั้งกระจุกอยู่ในรัศมีเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น เช่นเดียวกับการเข้าถึงสินเชื่อก็ยังไม่ครอบคลุมมากนัก โดยจากรายงานผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน ปี 2559 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเกือบ 25% ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งมีสาเหตุจากทั้งโดนธนาคารปฏิเสธ คิดว่าคุณสมบัติของตัวเองไม่เพียงพอจึงไม่มากู้ ในขณะที่บางส่วนก็ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขอสินเชื่อ

ในส่วนของมิติการให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงินก็ยังมีช่องว่างให้เติมเต็ม จากผลสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD พบว่าทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ของคนไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในด้านความรู้ทางการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการออมที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม โดยจากการวิเคราะห์ของ TMB Analytics อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนกว่า 80% มีเงินเก็บไม่พอที่จะใช้จ่ายไปอีก 6 เดือน แล้วที่สำคัญส่วนเก็บออมยังเป็นการออมผิดที่อีก สะท้อนจากกว่า 80% ของสินทรัพย์ทางการเงินของคนไทยฝากไว้ในบัญชีธนาคารที่ได้ดอกเบี้ยต่ำ เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ มีสินทรัพย์ทางการเงินในรูปของเงินสดและฝากธนาคารเพียง 14% เท่านั้น ถ้าดูในมุมของสินเชื่อก็พบว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ที่คนไทยกู้ก็เป็นสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายมากกว่าสินเชื่อเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยเป็นสินเชื่อบ้านเพียง 33% แต่เป็นสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อเครดิตการ์ด สินเชื่อส่วนบุคคล รวมแล้วกว่า 48% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด เทียบกับสหรัฐฯที่ยอดสินเชื่อกว่า 51% เป็นสินเชื่อบ้าน ในขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นสัดส่วนแค่ 17% เท่านั้น

สมาคมธนาคารไทยตอบโจทย์การยกระดับ Financial Literacy โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งในปีนี้ได้มีโครงการนำร่อง “คนไทยยุคใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน” เพื่อให้ความรู้ทางการเงินแก่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย กระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสมในอนาคต

สำหรับการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนในมุมของภาคธุรกิจ ก็มาติดตามกันในฉบับหน้านะครับ