“ขี้ขึ้นสมอง” กับเขื่อน

“ขี้ขึ้นสมอง” กับเขื่อน

สิ่งที่มี “คุณอนันต์ (ย่อมมี) โทษมหันต์” เช่น ไฟ ถ้าไม่มีไฟ คนเราย่อมอยู่กันอย่างมนุษย์ถ้ำ ถ้าไม่มีน้ำ ก็คงอดตายไปตามๆ กัน

มนุษยชาติจะมีพัฒนาก็ต่อเมื่อรู้จักดัดแปลงธรรมชาติ ไม่ใช่ให้ธรรมชาติเป็นใหญ่ ไม่เช่นนั้นก็คงงมงายเรื่องฟ้าร้องฟ้าแลบว่าเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2561 เขื่อนดินย่อยส่วน D ของ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย” แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ลาว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแตก มวลน้ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ไหลทะลักออกไปทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ศพ (อาจมากกว่านี้) มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 6,631 คน จาก 6 หมู่บ้าน (รวมทั้งประชาชนบางส่วนในกัมพูชาอีกด้วย) อย่างไรก็ตาม บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ยืนยันว่าไม่กระทบกับเขื่อนหลัก และไม่มีผลต่อการเริ่มจ่ายไฟฟ้าเดือน ก.พ. 2562 (https://bit.ly/2LwNWab)

เหตุการณ์นี้ทำให้พวกกลัวเขื่อนและต้านเขื่อน จน “ขี้ขึ้นสมอง” ออกมาให้ทบทวนการสร้างเขื่อนกันใหญ่ ทั้งที่เขื่อนมีคุณอนันต์ แต่การแตกนั้น อาจเป็นเพราะธรรมชาติผสมกับปัจจัยอื่น ในมลรัฐมิสซูรี เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ชื่อ Taum Sauk ซึ่งก่อสร้างเป็นรูปหัวใจ ก็เคยแตกมาครั้งหนึ่ง น้ำไหลทะลักจนป่าไม้โดยรอบพังทลายไปในพริบตา บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำพัดพังเสียหาย แต่ในที่สุดก็ได้ก่อสร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเก่า (https://bit.ly/2LwAmDx) นี่ถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คงถูกสาปส่งไปแล้ว แต่ในประเทศตะวันตก เขามุ่งเอาชนะธรรมชาติ

ลาว มีนโยบายให้ประเทศเป็น แบตเตอรี่แห่งเอเชีย ทำให้ลาวผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ข้อมูลปี 2560 ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าแล้ว 42 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 90 แห่งในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยลูกค้าหลักก็คือไทยและเวียดนาม และต่อไปจะขายไปถึงสิงคโปร์อีกด้วย (https://bit.ly/2Lv09fu) สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของลาวก็คือกระแสไฟฟ้าซึ่งสูงถึง 19% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2559 (https://bit.ly/2AeZMz0)

เพราะน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและน้ำไหลทิ้งโดยไร้ประโยชน์ เราจึงควรสร้างเขื่อนให้มากๆ แม้บางบริเวณไม่มีภูเขาให้สร้าง ก็ก่อเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เช่นในมลรัฐมิสซูรี ก็มีพวกค้านเขื่อนบางคนบอกว่า ไทยเราจะมีเขื่อนมากๆ ไม่ได้เพราะเดี๋ยวแผ่นดินไหวจะตายกันหมด คงคิดแบบเดียวกับ “พ่อของเด็กชายปลาบู่” ที่เคยทำนายว่าเขื่อนภูมิพลจะแตก แต่ความจริงก็คือ แม้ในญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในแนวแผ่นดินไหวใหญ่ของโลก เขาสร้างเขื่อนมากมายถึง 550 แห่ง (https://bit.ly/2NQg3ha)

ผมไปสอนนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ที่นั่นบนภูเขาก็เต็มไปด้วยเขื่อน นครเซียะเหมิน มีภูเขาใหญ่น้อยเต็มไปหมด ถ้าดูจากแผนที่จะพบว่าบนภูเขา เขาได้ทำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไว้เต็มไปหมดเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ คนเราต้องดัดแปลงธรรมชาติเพื่อความผาสุกของสังคม การดัดแปลงเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ ยิ่งมีเขื่อนมาก ยิ่งทำให้สัตว์ ป่า และคนได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นนั่นเอง (https://bit.ly/2K5v4cK)

ที่ผ่านมามีโปสเตอร์ “โฆษณาชวนเชื่อ” ของพวกเอ็นจีโอต้านเขื่อนบอกว่า “เขื่อนกำลังเอาท์ ไม่มีใครเอาแล้ว” แต่นั่นคือการ “แหกตา” คนไทยโดยแท้ ณ สิ้นปี 2559 มีเขื่อนใหม่อีก 242 กำลังก่อสร้างในสหรัฐด้วยกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3.25 GW เขื่อนที่ทุบทำลายไปเพราะเก่าแล้ว ยังน้อยกว่าเขื่อนที่สร้างขึ้นใหม่ๆ ด้วยซ้ำไป (https://bit.ly/2AfkWOS)

ในสหรัฐยังมีเขื่อนถึง 9,265 แห่งเพื่อการชลประทานและอื่นๆ กล่าวได้ว่าพลังงานไฟฟ้าของสหรัฐนั้นส่วนใหญ่ได้จากโรงผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมัน-แก๊ส 75% และจากพลังงานปรมาณูอีก 10% ส่วนของไทยนั้นมาจากน้ำมัน-แก๊สถึง 89% และประเทศไทยไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณู ขืนประเทศไทยไม่มีเขื่อนเพิ่มขึ้น ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากทางอื่นที่ยั่งยืน ประเทศไทยอาจยิ่งพึ่งพาต่างชาติมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงควรสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกได้ เลี้ยวกลับหลังหันครั้งใหญ่ ด้วยการผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะเล็งเห็นว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะในอาฟริกา เอเซียใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ประธานและรองประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ที่แล้วมาการค้านเขื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เป็น “Wrong Message” แต่ตอนนี้เราได้กลับมาคิดใหม่แล้ว “This is now. We are back”. (https://wapo.st/2AmcjlS)

สำหรับภาพรวมอันดับประเทศที่มีเขื่อนมากที่สุดได้แก่ จีน 23,841แห่ง สหรัฐ 9,265 แห่ง อินเดีย 5,100 แห่ง ญี่ปุ่น 3,118 แห่ง บราซิล 1,364 แห่ง เกาหลีใต้ 1,338 แคนาดา 1,169 อาฟริกาใต้ 1,112 แห่ง สเปน 1,063 แห่ง (https://bit.ly/2KaN59n) ดังนั้นที่ว่ามีการยกเลิกเขื่อนไป 3 แห่งในฝรั่งเศส 2 แห่งในเยอรมนี และ 1 แห่งในญี่ปุ่น จึงถือเอามาเป็นสาระไม่ได้เลย นอกจากจะเป็นการบิดเบือนเพื่อลวงให้คนไม่รู้ร่วมต้านเขื่อนเท่านั้น

“ขี้ขึ้นสมอง” กับเขื่อน

ภาพ: โรงงานผลิตไฟฟ้าของเขื่อน Cirata จ.ชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย

ผมเคยไปประเมินมูลค่าเขื่อน Cirata ให้กับทางการอินโดนีเซีย ปรากฏว่า เขื่อนของเขามีอายุประมาณ 236 ปี หรืออย่างแย่ที่สุด ถ้าตะกอนตื้นเขินก็ราว 109 ปี ซึ่งก็ถือว่าเกินคุ้มแล้ว เขื่อนนี้ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,428 กิกะวัตต์ต่อ ต้นทุนในการก่อสร้างเขื่อนนี้เป็นเงิน 769 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2531 (http://bit.ly/1m9z4x7) เมื่อคิดถึงความคุ้มค่า ก็คงพอๆ กับเขื่อนภูมิพลของไทย ที่ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา (2507-2557) ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 27 ล้านคน ผลิตไฟฟ้าเป็นมูลค่าถึง 342,418.46 ล้านบาท หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรรวมมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านบาท ฯลฯ ดังนั้น การสร้างเขื่อนจึงคุ้มค่ามากในระยะยาว (http://bit.ly/1MQw3bG)

เราต้องไม่ให้ใครหลอกให้กลัวการสร้างเขื่อน เขื่อนแห่งแรกในโลกชื่อ Jawa อยู่ในประเทศจอร์แดน มีอายุประมาณ 5,000 ปี เขื่อนโบราณ Sadd-el-Kafara ในยุคอียิปต์ ก็มีอายุ 4,600-4,800 ปีมาแล้ว ในอินเดียก็มีการสร้างเขื่อนมาหลายพันปี สำหรับในประเทศจีน มีเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งคือ “ตูเจียงเยี่ยน” โดยเป็นเขื่อนโบราณอายุราว 2,200 ปี เขื่อนนี้อยู่ในมณฑลเสฉวน เขื่อนนี้ถือเป็นการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก (https://goo.gl/b2UYkL)

  ชาวจีนมีคำพูดว่า ผู้ใดกำหนดน้ำได้ ผู้นั้นปกครองประเทศได้แต่สำหรับประเทศไทย กลับมีกระแสที่พยายามไม่ให้ฝืนธรรมชาติ ยอมเป็นทาสธรรมชาติ!?! เพื่อความเจริญของชาติ ต้องสร้างเขื่อนอีกมากนัก