ท่องเที่ยวไทย: สุขาไม่โดนใจ

ท่องเที่ยวไทย: สุขาไม่โดนใจ

ผู้เขียนตัดสินใจอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้หรือไม่ เพราะคิดว่าเป็นหัวข้อที่ใครๆ อาจจะไม่อยากฟัง แต่เป็นเรื่องที่จะเรียกว่า

เรื่องใหญ่ที่สุดของการท่องเที่ยวก็ว่าได้ ทั้งในด้านของความสะอาด ความสะดวกสบายและความปลอดภัยของสุขา นักท่องเที่ยววัยเก๋าที่พูดคุยด้วยก็บ่นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่อยากไปเที่ยวเมืองรองนอกกรุงเทพฯ

ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะขึ้นมาตามลำดับ แต่การพัฒนานี้เป็นฝีมือของภาคเอกชน คือ พัฒนาโดยปั๊มน้ำมันและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ในระยะหลังศูนย์การค้าขนาดใหญ่มีบทบาทมาก ในการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการห้องน้ำสาธารณะที่สะอาด สะดวก และปลอดภัย ที่ว่าปลอดภัยนี้ หมายถึงว่าปลอดภัยจากโจรขโมย รวมทั้งพวกแอบถ่ายคลิปขณะทำธุระส่วนตัว เพราะถ้าห้องน้ำอยู่ในที่ลับตาคนหรืออยู่ในที่มืดๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสตรีได้

ห้องน้ำสาธารณะของไทยมีปัญหาอยู่หลายข้อด้วยกันคือ ข้อแรกก็คงเป็นเรื่องของความสะอาด และแน่นอนเป็นเรื่องนักท่องเที่ยวนานาชาติมักจะบ่นว่าเป็นปัญหาใหญ่ของการมาท่องเที่ยวประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งแต่เดิมนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเมืองจีนได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ถึงห้องน้ำในเมืองจีนว่าไม่สะอาด แต่ในปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าห้องน้ำที่ประเทศจีนทันสมัย ใหม่ และสะอาดกว่าประเทศไทยในหลายแห่ง ประเทศไทยกลับเป็นประเทศท่องเที่ยวที่มีความล้าหลังในด้านห้องน้ำ โดยเฉพาะหากไม่ใช่ห้องน้ำในศูนย์การค้าขนาดใหญ่

สาเหตุหนึ่งที่ห้องน้ำไม่ค่อยสะอาดโดยเฉพาะในปั๊มน้ำมัน คือเป็นห้องน้ำระบบเปียกซึ่งมีการราดน้ำตลอดเวลาแล้ว ในขณะที่ผู้ใช้ห้องน้ำก็สวมรองเท้าเหยียบย่ำเข้าไป ทำให้เปื้อนสกปรกเลอะเทอะซึ่งเป็นจุดอ่อนของห้องน้ำของปั๊มน้ำมัน ซึ่งหากมีผู้ดูแลความสะอาดอยู่ทุกๆ 15 นาทีก็ยังพอยอมรับได้ แต่ถ้าไม่มีผู้ทำความสะอาดตลอดเวลา นอกจากจะเปื้อนเปรอะเลอะเทอะแล้ว และยังเป็นที่เพาะเชื้อโรคอีกด้วย แล้วยังมีปัญหาของความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดจากการลื่นล้มในห้องน้ำของผู้สูงอายุ

แหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดมักมีปัญหาในเรื่องของ concept ของการจัดการห้องน้ำ หลายแห่งมีคนเก็บเงินค่าบริการใช้ห้องน้ำ 5 บาทหรือ 10 บาท แต่ปรากฏว่าไม่มีการทำความสะอาด บ่อยครั้งมีความทำความสะอาดกันแค่ตอนเช้าและตอนเย็น ในขณะที่มีคนนั่งเก็บเงินอยู่ทั้งวัน กระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับห้องน้ำเหล่านี้

ปัญหาหลักอีกประการหนึ่งคือ ระบบห้องน้ำเรามักเกิดการอุดตัน จึงมักนิยมให้ผู้ใช้ทิ้งกระดาษชำระในถัง ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคมากขึ้น ระบบระบายน้ำหลายแห่งไม่ดีมีปัญหากลิ่น และปัญหาห้องน้ำผู้พิการสกปรกกว่าห้องน้ำทั่วไป

2.จำนวนห้องน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางซึ่งเป็นผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันนี้สัดส่วนของนักเดินทางที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและผู้หญิงจะใช้ห้องน้ำบ่อยกว่าและใช้เวลาในห้องน้ำนานกว่าผู้ชายแต่การออกแบบมักจะออกแบบให้จำนวนห้องน้ำของชายและหญิงมีจำนวนเท่ากัน และห้องน้ำในสนามบินบางทีก็แคบเกินกว่าจะเอากระเป๋าเดินทางเข้าด้วยโดยสะดวก ซึ่งข้อนี้ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบในอนาคต

3.ท่านผู้เดินทางหรือผู้อ่านเคยแปลกใจเหมือนผู้เขียนไหมว่า ทำไมสุขภัณฑ์ในห้องน้ำสาธารณะในสถานที่สำคัญๆ เช่น สนามบินจึงดูเหมือนเป็นสุขภัณฑ์ประเภทที่ไปซื้อสินค้าเลหลังมา ทั้งๆ ที่สนามบินเป็นด่านแรกของการสร้างความประทับใจในการเดินทางให้นักท่องเที่ยวเมื่อมาถึงประเทศไทย สุขภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำสาธารณะที่สนามบินหลายแห่งความสูงไม่ได้มาตรฐานคือเตี้ยเกินไป เป็นไปได้ว่าน่าเป็นสุขภัณฑ์รุ่นแรกๆ ที่โรงงานขายให้ในราคาถูกๆ ถัดมา ที่รองนั่งก็มักจะแคบกว่า วงตัวโถที่รองรับทำให้สกปรกง่าย ระบบชักโครกที่เป็นอัตโนมัติ กระแสน้ำก็มักจะอ่อน ไม่มีกำลังในการชะล้าง ทำให้การชักโครกเป็นไปอย่างไม่สะดวกและสะอาดเพียงพอ ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าอาจมีระบบเงินทอนเกิดขึ้นในการเลือกซื้อสุขภัณฑ์สาธารณะห้องน้ำที่ส่วนราชการดูแลก็มักจะเริ่มชำรุดเร็ว ทั้งๆ ที่เพิ่งจะทำเสร็จ และใช้เวลาในการแก้ไขให้ใช้งานได้ดังเดิม

4.ห้องน้ำสำหรับกลุ่มเฉพาะ ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะมีมาจากต่างชาติต่างภาษานักท่องเที่ยวที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีความต้องการใช้อุปกรณ์ในห้องน้ำที่แตกต่างกันออกไป จึงควรจะมีห้องน้ำพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้รวมทั้งมีพื้นที่พิเศษเพื่อให้ทำการละหมาดได้

5.การบริหารจัดการ ในขณะนี้หน่วยราชการหลายแห่งก็มีหน้าที่ดูแลแหล่งท่องเที่ยวและมีหน้าที่ดูแลห้องน้ำด้วย ซึ่งในหน่วยราชการที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ห้องน้ำหญิงส่วนใหญ่มักจะสกปรก หลายแห่งไม่มีน้ำ ทั้งๆ ที่มีการเก็บค่าเข้าชมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าพื้นที่จากชาวต่างชาติในอัตราสูงมาก แต่ห้องน้ำไม่สะอาดและยังมีการปล่อยน้ำเสียลงไปในทะเล เป็นที่อับอายนานาชาติ ส่วนในอุทยานประวัติศาสตร์ซึ่งข้าราชการผู้หญิงมักจะเป็นผู้มีอำนาจ ห้องน้ำหญิงก็จะสะอาดพอเป็นหน้าเป็นตาของกระทรวงฯได้

ในเมืองที่ไม่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ห้องน้ำเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะเป็นธุระเป็นพิเศษ ศาลากลางจังหวัดก็น่าจะมีคนดูแลให้ห้องน้ำสะอาดเอี่ยมเพื่อบริการประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วย

กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็น่าจะมีการบริการห้องน้ำด้วยสำหรับนักท่องเที่ยว โดยมีส่วนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณาให้สัมปทานเรื่องห้องน้ำกับภาคเอกชน และให้เอกชนสามารถเก็บค่าบริการการใช้ห้องน้ำ รวมทั้งให้ค่าอุดหนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือกระทรวงสาธารณสุขเพื่อบริการห้องน้ำสาธารณะ

หากหน่วยราชการต้องการดูงานห้องน้ำในต่างประเทศก็ควรจะไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งห้องน้ำสะอาดเอี่ยมไม่มีกลิ่นทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือห่างไกลเมืองสักเท่าใดก็ตาม

หากประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยวที่แท้จริง ก็ไม่มีทางเลือกใด นอกจากจะทำให้ห้องน้ำของไทยอารยะมากกว่านี้ กรณีหมูป่าได้ยกระดับประเทศไทยว่ามีความอารยะด้านจิตใจในสายตาของชาวโลก ขอให้หน่วยราชการของไทยร่วมมือกันยกระดับห้องน้ำของหน่วยงานโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะและนานาชาติให้อารยะขึ้นด้วย!