อนาคตยูโรและยุโรป (14)

อนาคตยูโรและยุโรป (14)

ประธานาธิบดีทรัมป์มองประเทศที่ได้ดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ทุกประเทศเป็นอริ คงไม่น่าแปลกใจถ้าเขาเลือกจีนหรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น

เพราะ 2 ประเทศนี้ อเมริกาขาดดุลจำนวนมหาศาล จีนอาจจะมาทีหลัง แต่ก็มีขนาดใหญ่ ญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องพูดถึง เกินดุลติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 90 หรือเกือบ 30 ปีแล้ว ยุโรปหรือ EU เกินดุลกับสหรัฐ ฯ ก็จริง แต่เพิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ที่สำคัญ กรณีของยุโรป EU ทรัมป์บอกว่าเป็นคู่อริสำคัญ เหมือนเอาเปรียบสหรัฐ ฯ มาตลอด จริง ๆ แล้ว ใน EU เป็นเยอรมันที่เกินดุลกับสหรัฐ ฯ ค่อนข้างมาก ถ้าตัดเยอรมันออกไปก็จะขาดดุลไม่มาก อเมริกาขาดดุลกับเอเชียและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แต่จีน เยอรมัน และ ญี่ปุ่นนั้น ครองส่วนแบ่งไปค่อนข้างมาก

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์เราอดที่จะต้องถามว่า ประเทศที่ขาดดุลการค้าต่อเนื่อง มีหนี้สินกับต่างประเทศ จริง ๆ มันเป็นเครื่องชี้ว่าประเทศถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือว่าประเทศเสื่อมถอย หรือ stagnant ในทางเศรษฐกิจ มันถูกต้องแล้วหรือ ที่เราไปมองเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการขาดดุลการค้าจนไม่ดูปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่า การขาดดุลของอเมริกานั้น มาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยประเทศคู่ค้าใช่หรือไม่ ผู้เขียนคิดว่า ทรัมป์เกาไม่ถูกที่คัน เขาหาเสียงโดยเอาประเด็นเรื่องพวกนี้ขึ้นมาเพื่อหาคะแนน ทรัมป์ไม่ใช่ข้อยกเว้น เราเห็นผู้นำอเมริกาในอดีตและที่อื่นของโลกล้วนเอาความรู้สึกรักชาติ ความเป็นชาตินิยม มาเป็นข้ออ้าง ที่มาของปัญหาของชาติโดยซุกไว้ใต้พรมปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ สิ่งที่ทรัมป์ทำจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เขามุทะลุดุดัน ใช้ความรู้สึกและอารมณ์มากกว่าการไตร่ตรองด้วยเหตุและผล อเมริกาเคยขาดดุลเรื้อรังต่อเนื่องกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 90 ญี่ปุ่นก็ถูกรังแก ถูกจับเป็นแพะ โดยผู้นำอเมริกันมาแล้วทั้งสิ้น ญี่ปุ่นต้องยอมปรับนโยบาย ปรับยุทธศาสตร์

สิ่งที่ทรัมป์ทำและส่งผลแก่โลกมันเป็น zero sum game แม้ดุลการค้าอเมริกาสมมติว่าดีขึ้น แต่สิ่งที่มองไม่เห็นชัดก็คือมันฉุดเศรษฐกิจไปในทางลบ มีผู้ได้ประโยชน์จากกำแพงภาษีที่สูงขึ้น แต่ก็มีผู้เสียประโยชน์มากมาย ทั้งบริษัทที่ส่งออกและนำเข้า ไม่พูดถึงผู้บริโภค เพราะโครงสร้างการผลิตและการค้า มันเป็นโครงสร้างที่เกี่ยวโยงกันในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตระดับโลก หรือที่เรียกว่า Global value chain ยังไม่พูดถึงการที่จีนหรือยุโรป อาจตอบโต้สหรัฐ ฯ ด้วยมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น บริษัทสหรัฐ ฯ ที่จะไปลงทุนในจีน จีนอาจจะเพิ่มกฎเกณฑ์ เช่น การถือครองหุ้น ยังไม่พูดถึงประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เขาก็อาจจะจับมือเป็นพันธมิตรทางการค้ามากขึ้นกว่าเดิม เช่น ยุโรปกับจีน หรือ ญี่ปุ่นกับจีนและยุโรป เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบที่เกิดจากนโยบายของทรัมป์ ทรัมป์ลืมไปว่าบทบาทของอเมริกาในทางเศรษฐกิจ และสัดส่วนการค้าในโลกได้ลดลงไปมาก ทรัมป์น่าจะได้เห็นแล้วว่าการถอนตัวจากข้อตกลง TPP นั้นไม่สามารถหยุดยั้งการเดินหน้าต่อไปของข้อตกลงนี้ จนทรัมป์เองอาจจะต้องเปลี่ยนจุดยืน

สำหรับอเมริกา การที่ทรัมป์เป็นนักธุรกิจคิดว่าตัวเองเป็นนักเจรจา และให้ความสำคัญกับเรื่องการเจรจาต่อรองนั้น โดยตัวมันเองก็เป็นปัญหา การไม่เชื่อนักเศรษฐศาสตร์จะเป็นต้นทุนในระยะยาวต่อสหรัฐ ฯ แน่นอน ทรัมป์ขาดความเข้าใจว่า การขาดดุลการค้าไม่จำเป็นเสมอไปว่าประเทศกำลังถดถอยหรือมีปัญหาในทางเศรษฐกิจ เขาไม่เข้าใจว่า ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจที่แท้จริง และสิ่งที่จะทำให้อเมริกามีขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น ไม่ได้เกิดจากนโยบายปกป้องการค้า ความแข็งแกร่งของประเทศขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของคนในประเทศในการออม การลงทุนในการสร้างทุนมนุษย์ ความรู้และการทำนวัตกรรมใหม่ ๆ จนในที่สุด มีผลต่อการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและผลิตภาพรวม ( Total factors productivity ) การเติบโตของผลิตภาพของอเมริกาไม่แพ้กลุ่ม EU

ทรัมป์ไม่เข้าใจว่า การขาดดุลการค้าเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจมหภาค ปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่คนอเมริกันบริโภคเกินตัว และการที่สหรัฐ ฯ สามารถรักษามาตรฐานการครองชีพของคนอเมริกันได้อย่างดีมาตลอดนั้น ส่วนสำคัญมาจากการที่สหรัฐ ฯ สามารถสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ สามารถกู้เงินโดยใช้เงินสกุลของตัวเองจากต่างประเทศ ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ทำได้เพราะเงินดอลล่าร์นั้นโลกยังให้ความไว้ใจเชื่อถือ การที่สหรัฐ ฯ มีอภิสิทธ์สำคัญเช่นนี้ ส่วนสำคัญเกิดจากการที่สหรัฐ ฯ มีตลาดเงินและตลาดทุนและสถาบันการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ( แต่ทรัมป์กำลังทำลายกระบวนการและสถาบันประชาธิปไตยของอเมริกาอย่างช้า ๆ แต่อันตราย ) ได้รับการยอมรับและให้ความไว้วางใจจากชาวโลกจากทุกประเทศที่อเมริกาขาดดุลด้วย แต่ทั้งหมดนี้เป็นดาบสองคม การที่คนอเมริกันเข้าถึงแหล่งการเงินได้ง่าย ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ เป็นสังคมแห่งการบริโภค ล้วนมีส่วนที่ทำให้สังคมอเมริกามีวัฒนธรรมของการบริโภคสูง ออมน้อยเพื่ออนาคต ระบบภาษีในปัจจุบันก็เป็นระบบที่เอื้อคนรวยมากกว่าคนจน อเมริกาขณะนี้เป็นอันดับ 1 ของโลกที่คน 1 เปอร์เซ็นต์ครองส่วนแบ่งรายได้และทรัพย์สินสูงสุด ค่าจ้างและรายได้ของคนชั้นกลางแทบไม่เพิ่ม ( และนี่เป็นสาเหตุที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง เพราะเขาไม่พอใจกับสถานภาพเดิม ๆ เขาต้องการผู้นำประชานิยมอย่างทรัมป์ ) ซึ่งสามารถฉวยโอกาสสร้างภาพและสัญญาอะไรที่เมื่อเวลาผ่านมาถึงขณะนี้ เขาไม่ได้หยิบยื่นให้คนระดับล่างเลย คนระดับล่างมีชีวิตที่เลวลงแน่นอน ในยุคโอบามา คนอเมริกันมีประกันสุขภาพในสัดส่วนสูงที่สุด ซึ่งทรัมป์ได้ทำลายลง ทำลายสวัสดิภาพของคนจน คนจนไม่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างภาษีที่เขาได้ลดให้กับคนรวย นี่เป็นเพียงบางตัวอย่าง เพราะฉะนั้นที่ทรัมป์ทำเรื่องนโยบายการค้าเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

ทรัมป์เอานโยบายชาตินิยมมาหาเสียง แต่เราต้องยอมรับว่า ในขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะระบบทุนนิยมโลกและกระบวนการโลกานุวัตน์ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศเท่านั้น แต่ระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเคยเป็นเสาหลักของอารยธรรมตะวันตกกำลังเกิดปัญหา ทั้งในสหรัฐ ฯ และยุโรปกำลังอยู่ในยุคถดถอย ประชาชนแบ่งแยกความคิดและนโยบายแบบสุดขั้ว การผงาดขึ้นของกระบวนการขวาจัด รวมทั้งผู้นำแนวฟาสซิสม์ เช่น ในเวเนซุเอลา รัสเซีย ตุรกี ฮังการี โปแลนด์ และกำลังมาที่อเมริกาสะท้อนออกมาจากผู้นำสไตล์ทรัมป์ กระบวนการโลกานุวัตน์ที่ผ่านมาได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาใช่หรือไม่ เราจะวิเคราะห์เรื่องนี้ในครั้งต่อไป