Future Lab กับปฏิบัติการสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์

Future Lab กับปฏิบัติการสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์

ทุกคนรู้ดีว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน โลกอนาคตจึงอาจเป็นไปได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนต่างๆ และเหตุการณ์ความไม่แน่นอน

เพื่อเข้าใจโลกอนาคตมากยิ่งขึ้น การสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Foresight) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อสำรวจความไม่แน่นอนของโลกอนาคตที่อาจเกิดขึ้น  และนำไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์อนาคต

ตัวอย่างการจัดทำภาพอนาคตหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ภาพโลกอนาคตปี ค.ศ. 2035” หรืออีกประมาณ 17 ปีข้างหน้า จัดทำขึ้นโดย สภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาในปีที่ผ่านมา โดยมองว่าในปี 2035 ความสำเร็จของยุคอุตสาหกรรมและข้อมูล (industrial and information ages) จะนำไปสู่การสร้างโลกที่มั่งคั่งร่ำรวยยิ่งขึ้น ด้วยโอกาสที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็เป็นโลกที่อันตรายยิ่งขึ้นด้วย โดยอาจเกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศ ดังนั้น ภาพอนาคตจึงอาจจะเป็นได้ทั้งภาพที่สดใส หรืออาจเป็นภาพอนาคตที่มืดมน

 “ความเสี่ยง” หลัก 3 เรื่องที่อาจจะส่งผลต่อโลกในปี 2035 ได้แก่ พลวัตภายในประเทศ ความแตกต่างระหว่างประเทศ และการเลือกระหว่างผลประโยชน์ระยะยาวกับผลประโยชน์ระยะสั้น ซึ่งจะนำมาซึ่งการแข่งขันหรือความร่วมมือกันในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ดังนั้น โลกภาพอนาคตปี 2035 จึงอาจเกิดฉากทัศน์ที่แตกต่างกันได้ 3 ภาพ คือ ภาพอนาคตที่ 1 ประเทศต่างๆ อยู่กันในลักษณะของ “เกาะ” (Islands) ภาพอนาคตที่ 2 ประเทศต่างๆ มีความสัมพันธ์ในรูปแบบ “วงโคจร” (Orbits) และ ภาพอนาคตที่ 3 ประเทศต่างๆ อยู่กันแบบเป็น “ชุมชน” (Communities)

GUr0XlBn.jpg

 

ภาพฉากทัศน์อนาคตที่ 1 ประเทศต่างๆ อยู่กันในลักษณะของ เกาะ” (Islands) สะท้อนถึงอนาคตที่ต่างคนต่างอยู่ เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างช้าๆ มีการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ การแพร่กระจายของปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอัตโนมัติมากขึ้น รูปแบบการค้าเปลี่ยนไป รัฐบาลประเทศต่างๆ นิยมใช้กลุ่มการค้าในภูมิภาคและข้อตกลงทางการค้าทวิภาคี จีนและอินเดียยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง สหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้นโยบายการปกป้องประเทศเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ การรวมกันของเหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่การป้องกันมากขึ้น ประเทศต่างๆ จะกังวลใจ และพยายามสร้างกำแพง ทำให้เกิดการแยกตัวเองออกจากความท้าทายภายนอกเปรียบเสมือนภาพ เกาะในทะเลของความผันผวน

ภาพอนาคตที่ 2 ประเทศต่างๆ มีความสัมพันธ์ในรูปแบบ วงโคจร” (Orbits) ภาพอนาคตนี้เป็นการสะท้อนอนาคตที่ค่อนข้างตึงเครียด โดยมีการแข่งขันทางอำนาจเพื่อสร้างอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในขณะที่พยายามรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ  มีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยม เกิดความขัดแย้งรูปแบบใหม่ เกิดการพลิกผันของเทคโนโลยีป่วนโลก (Disruptive technology) ความร่วมมือระดับโลกจึงอาจลดลง เพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างรัฐ 

ภาพอนาคตที่ 3 ประเทศต่างๆ อยู่กันแบบเป็น ชุมชน (Communities) ภาพอนาคตนี้แสดงให้เห็นการเติบโตของความคาดหวังของสาธารณชน ในขณะที่ขีดความสามารถของรัฐบาลลดลง มีการเปิดพื้นที่สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นและเอกชน เทคโนโลยีสารสนเทศยังคงเป็นกุญแจสำคัญ นอกจากนี้ ภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นจะให้บริการตอบโจทย์ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกันในการวิจัย การศึกษา การฝึกอบรม การดูแลสุขภาพและการให้บริการข้อมูลแก่สังคม

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ต่อในเอกสารชิ้นสำคัญของสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐอเมริกานี้ (https://www.dni.gov/files/documents/nic/GT-Full-Report.pdf)

กลับมาที่ประเทศไทย ในระยะหลังนี้ เราจะพบว่าประเทศไทยเริ่มมีความตื่นตัวและคิดถึงเรื่องภาพอนาคตกันมากขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัด “Future Lab” ซึ่งเป็นกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ในมิติด้านความมั่นคงของประเทศ (National Security) มิติความมั่นคงของประเทศได้ครอบคลุมทั้งมิติความมั่นคงรูปแบบเดิม และความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

0tqxzeLb.JPG

กิจกรรมดังกล่าวมีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ที่หลากหลายให้ความสนใจและเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งมาก ผู้เข้าร่วมสะท้อนความสนใจและความหวังในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศร่วมกันผ่านการเรียนรู้จากกิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดวัน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เกิดความร่วมมือและเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่ได้ผสมผสานมุมมองหลายศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อจัดทำภาพอนาคตที่เกิดขึ้นได้ในรูปแบบที่หลากหลาย

 

 

ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ได้แบ่งกลุ่มย่อยทดลองจัดทำภาพอนาคต 20 ปีข้างหน้า ในที่นี้ขอยกตัวอย่างภาพอนาคตที่น่าสนใจ 3 ภาพที่มีการพูดคุยกันมาก ได้แก่

ภาพอนาคต โลกสีเทา ภาพอนาคตนี้สะท้อนภาวะที่โลกมีความขัดแย้ง กระทบต่อความมั่นคงของประเทศและคนในมิติต่างๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นโลกที่มีความขัดแย้งกัน แต่ผู้คนก็มีความสามารถปรับตัวได้ดี เช่น เจรจากันได้  

ภาพอนาคต โลกมืด” เป็นภาพอนาคตที่มีความขัดแย้ง พร้อมๆกันนั้นผู้คนก็ไม่สามารถปรับตัวได้ เกิดความชะงักงัน (disrupted) อาจเกิดภาวะสงคราม ความไม่สงบ ภัยพิบัติ ผู้คนหดหู่ และเป็นโรคซึมเศร้ากันมาก

ภาพอนาคต โลกในฝัน เป็นภาพอนาคตที่เกิดความกลมเกลียวในสังคม ผู้คนมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี นำไปสู่ความรุ่งเรือง มั่งคั่ง ประเทศมีความมั่นคง เกิดความเท่าเทียมในสังคม คนมีความสุขร่วมกัน

สำหรับภาพอนาคตที่คนอยากให้เกิดที่สุด คือ ภาพอนาคต โลกในฝันซึ่งเป็นภาพสังคมที่มีความกลมเกลียว แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ คนไทยมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดี  โดยยุทธศาสตร์หรือจุดคานงัดที่สำคัญจะทำให้สามารถก้าวไปสู่ โลกในฝันได้อยู่ที่พลังการเปลี่ยนแปลงของคน กระบวนทัศน์ Mindset และการร่วมลงมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างการสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) ที่ได้ภาพอนาคตที่แตกต่างกัน ซึ่งภาพอนาคตที่แตกต่างกันย่อมนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันด้วย ปฏิบัติการสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ทำให้เราสามารถจัดเตรียมยุทธศาสตร์ให้พร้อมรับกับความท้าทายในอนาคตได้ตั้งแต่วันนี้และสร้างอนาคตในรูปแบบที่เราพึงปรารถนาร่วมกันได้อย่างมีพลัง

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ และประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation