ท่วมซ้ำ2554?

ท่วมซ้ำ2554?

เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว แตกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 แน่นอนเรื่อง “มาตรฐานความแข็งแรง”

 ฝ่ายเอกชนไทย และเกาหลีใต้ ซึ่งร่วมหุ้นกันต้องแจกแจงหลังน้ำลดและเก็บกู้เศษซากปรักหักพัง รวมทั้งค่าชดเชยความเสียหายที่ยังไม่อาจประเมินได้

อีกสาเหตุหนึ่ง คือเรื่อง “ธรรมชาติ ลองย้อนกลับไปก่อนเขื่อนจะแตก ได้มี “พายุไต้ฝุ่นเซินติญ” (#9:Son-tinh) เป็นพายุลูกที่ 9 ของปีนี้ ขึ้นฝั่งที่นครฮานอย เมื่อวันที่ 17 ก.ค. เคลื่อนที่ผ่านประเทศลาวในวันที่ 18-19 ก.ค. แล้วถูก “พายุอ็อมปืล” ดึง กลับไป รวมตัวกันเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำอีกกลุ่มหนึ่งที่เกาะไหหลำ ในช่วง 23-24 ก.ค. แล้วเคลื่อนกลับมาผ่านนครฮานอย ประเทศเวียดนาม ผ่าน หลวงพระบาง และ หลวงน้ำทา ประเทศลาว ผ่านเชียงรุ้งประเทศพม่า และไปสลายตัวในประเทศพม่า ในวันที่ 27 ก.ค.นี้

ส่วน “พายุไต้ฝุ่นอ็อมปีล” (#10:Ampli) เป็นพายุลูกที่ 10 ของปีนี้ ขึ้นฝั่งในวันที่ 22 ก.ค. ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ แล้ว เคลื่อนที่ต่อเนื่องไปสลายตัวที่ มณฑลเหอหนาน เมื่อประมาณวันที่ 26 ก.ค.

พายุโซนร้อนลูกที่ 13 (#13) จะขึ้นฝั่งที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อประมาณวันที่ 24 ก.ค. แล้วสลายตัวไป

พายุโซนร้อนเซินติญ อ็อมปืล และพายุลูกที่ 13 จะทำให้เกิดฝนตกหนักที่ หนานหนิง คุณหมิง เซี่ยงไฮ้ มณฑลเหอหนาน ซานตุง เทียนจิน และฉางชุน ของประเทศจีนในระหว่างวันที่ 22-26 ก.ค. 2561

อิทธิพลของพายุทำให้จีน สปป.ลาว และพม่า เผชิญกับปัญหาฝนตกหนัก ต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน และประเทศที่ต้องรับมวลน้ำโขงอย่างไทย จึงมีภาวะที่น้ำมีระดับสูงขึ้น ประกอบกับลมมรสุมกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือของไทย มีฝนตกหนัก

คนไทยในพื้นที่ลุ่ม ยังหวาดผวากับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ยิ่งติดตามข่าวเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก กอปรกับมวลน้ำจากจีน และเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่พม่า ยิ่งทำให้ขวัญผวาเกรงว่า “จะเอาไม่อยู่”