เดินหน้าให้ผลงานดี กลายเป็นดีเลิศ

เดินหน้าให้ผลงานดี กลายเป็นดีเลิศ

เราไม่ควรติดอยู่กับความสำเร็จของวันวาน แล้วปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้ทำอะไร มากไปกว่าการปรับแต่งเล็ก ๆน้อย ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

เพราะคิดว่าที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว จะหาเรื่องลำบากเปลี่ยนแปลงอะไร ไปเพื่ออะไร ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นกระต่ายเดินผิวปาก ให้เต่าติดจรวดวิ่งแซงไป ความสำเร็จของวันวาน ทำให้เราอยู่แค่ ดีเท่าที่เคยเป็นมา จะไปดีเลิศไม่ได้

วิธีก้าวจากดีเป็นดีเลิศแบบหนึ่งคือ ทุบหม้อข้าวหม้อแกงเก่า แล้วตั้งหน้าตั้งตาไปหาวิธีทำใหม่ ๆ เพื่อไปสู่ความสำเร็จที่มากกว่า หมายถึงใครคนไหน วิธีการแบบใด ที่เดินหน้ากันแบบใหม่ไม่ได้ ก็ต้องบอกเลิกกันไป มีการเจ็บปวดทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลง เล่ากันว่าที่ตอนที่สิงคโปร์ กับมาเลเซีย คิดจะยกมหาวิทยาลัย จากดีให้กลายเป็นดีเลิศก็ใช้วิธีโละอาจารย์ไปสักครึ่งหนึ่ง อาจารย์จำนวนหนึ่งในสมัยนั้น ก็แตกกระจายไปสอนในบ้านเมืองอื่น รวมทั้งมาบ้านเราก็หลายคน ทั้ง 2 ประเทศเลยโตวันโตคืนในลำดับมหาวิทยาลัยโลก แต่ถ้าใช้วิธีเดียวกันนี้ในบ้านเรา มีหวังวงแตก การยกระดับจากดี เป็นดีเด่น ดีเลิศนั้น จึงต้องมีหนทางที่ต่างไปจากที่อื่น

ในตอนเริ่มต้นของหน่วยงานหนึ่ง สามารถสร้างความสำเร็จได้แค่ในระดับจังหวัด แต่ด้วยการนำของผู้บริหาร 4-5 คน ในช่วงเวลา 20-30 สิบปี หน่วยงานนั้นสามารถสร้างความสำเร็จได้ในระดับโลก เวลาอาจดูนาน แต่ถ้าเทียบกับหน่วยงานที่อายุใกล้ๆ กัน หลายหน่วยงานก็ยังอยู่ที่เดิมๆ ดังนั้น หากมั่นใจว่า เราได้เดินก้าวหน้ามาจริงๆ ไม่ใช่มโนไปเองว่า มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น ให้ศึกษาให้ดีว่า ภาวะผู้นำ และวิธีการนำ ของหน่วยงานของเราเป็นอย่างไร ต้องถามดังๆ ว่า การนำองค์กรที่ผ่านมานั้น ใช้แนวทางอย่างไร แนวคิดอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องไปลงรายละเอียด ของระบบการนำของผู้บริหารระดับสูง แต่ต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าที่ผู้นำกำหนดวิสัยทัศน์ที่ผ่านมานั้น ทำมากันอย่างไร ถ่ายทอดเป็นกลยุทธ์ เป็นแผนปฏิบัติการกันอย่างไร จัดคนทำงานกันอย่างไร สื่อสารกันอย่างไร จูงใจบุคลากรกันอย่างไร และควบคุมการทำงานไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางกันได้อย่างไร ดูให้รู้ว่าที่ผ่านมานั้น ทำให้ดีได้อย่างไร แต่ที่ยากเย็นคือรู้แล้ว เอามาใช้ตรง ๆต่อไปไม่ได้ เพราะแต่ก่อนคนทำงานแทบทั้งหมด เป็นผู้คนในยุคเดียวกัน จึงสื่อสารกันได้ง่าย กำกับ และจูงใจได้โดยวิธีการคล้ายๆ กัน แต่วันนี้ในหน่วยงานหนึ่ง มีคนต่างยุคต่างสมัย แยกได้เป็น 4-5 กลุ่ม ที่คิด ที่ทำ ที่มีความเชื่อแตกต่างกัน จึงยากต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ และสื่อสารให้คน 5 ยุค 5 สมัย มองเห็นในภาพอนาคตเป็นแบบเดียวกัน มีหลักคิดคล้ายๆ กัน หลักที่ใช้ตัดสินใจคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะรุ่นหลาน หรือรุ่นปู่ แต่ต้องหาทางทำให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่ใช่การบังคับให้คิดเห็นเหมือนกัน

ขั้นต่อไปคือการหาหนทางใช้ประโยชน์ จากคนเก่งในหน่วยงาน ให้ได้ผลมากที่สุด จะขึ้นสู่ความสำเร็จที่สูงขึ้นได้ ต้องให้คนเก่งยอมช่วยกันทำงาน ทำงานกันมานานๆ ก็มีเลือกที่รักมักที่ชังกันมาบ้าง แต่ถ้าอยากก้าวไกล วันนี้ต้องเลิกเส้นสาย แต่ใช้ฝีมือมาแทน บางประเทศจึงใช้วิธีเลิกจ้างคนเก่าไปบางส่วน โดยเฉพาะคนเก่งที่ช่วยคนอื่นทำงานไม่เป็น แล้วไปจ้างคนใหม่ ที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนเดิม โดยไม่ต้องเสียเวลาจูงใจให้มีการเปลี่ยนแปลง

สร้างความสำเร็จกันมานานๆ กระบวนการทำงานที่ทำกันมาจนคุ้นเคย ย่อมมีส่วนเกินอย่างนั้น อย่างนี้กันอยู่บ้าง จะขึ้นไปดีเลิศได้ ต้องย้อนคิดวิเคราะห์ดูกันว่า บริการทุกอย่าง ขั้นตอนการทำงานทุกกระบวนการที่กำลังทำอยู่นั้น มีส่วนใดบ้างที่วกวนเกินเลยที่ควรจะเป็น คิดใหม่ว่าจะออกแบบ จะจัดการ และจะปรับปรุงให้ดีขึ้น กันอย่างไร วันนี้มีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีใหม่ใดบ้างที่มาช่วยลดทอนขั้นตอน ที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาได้บ้าง

อยากขยับจากดี เป็นดีเลิศ แบบไม่หักโค่นของเดิม อย่าทิ้งระบบการนำที่เคยใช้ได้ผลมาแต่ดั่งเดิม อย่าละเลยความเก่งที่มีอยู่ในผู้คนดั่งเดิม แต่ให้คิดวิเคราะห์ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานทุกขั้นตอน ให้สร้างรอยยิ้มขึ้นมาได้กับทั้งตนเองและคนอื่นได้ในที่สุด