อำนาจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

อำนาจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

การคาดหวังให้ผลของคดีเป็นไปตามที่ตนเองต้องการเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวพ่อโดดตึกศาลอาญาฆ่าตัวตายจากการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แทงบุตรชายของตนถึงแก่ความตายเมื่อหลายปีก่อน

แต่ในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับการนำผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษนั้น การพิพากษายกฟ้องจำเลยไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตามหลักกฎหมายศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง โดยไม่มีข้อสงสัยที่สมเหตุสมผลใดๆ หลงเหลืออยู่ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องยกฟ้องเพราะความยุติธรรมนั้นต้องให้ทั้งโจทก์และจำเลย คนสุจริตต้องไม่กลายเป็นแพะและคนผิดต้องถูกลงโทษ

ข่าวที่เกิดขึ้นนี้ผมคิดว่าควรจะเข้าใจได้ว่าคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดี ทั้งโจทก์จำเลยรวมทั้งญาติพี่น้องต่างมีความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ของบุคคลากรในระบบยุติธรรม

แต่การคาดหวังให้ผลของคดีเป็นไปตามที่ตนเองต้องการเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนการคาดหวังให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ และตำรวจต่างต้องปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถและด้วยความสุจริตนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรยิ่ง

ในการสอนกรรมการบริษัทมหาชนในหลักสูตร 'บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ' ให้แก่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งผมสอนมาเกือบ 20 ปี และเพิ่งขอเลิกไปในปีนี้เนื่องจากไม่มีเวลานั้น ผมจะจบการสอนด้วยการบอกให้กรรมการทราบถึงความรับผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาในกรณีที่กรรมการไม่ทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวังและสุจริต ซึ่งเมื่อมีคำถามว่าทำไมต้องมีบทลงโทษรุนแรง ผมก็จะตอบว่าเพราะกฎหมายถือว่าการทำหน้าที่ของกรรมการให้ถูกต้องนั้นสำคัญมาก ถือเป็นหลักค้ำจุนความน่าเชื่อถือของระบบบริษัท เมื่อกรรมการได้อำนาจในการบริหารจัดการบริษัท ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น กรรมการก็จะต้องเอาความรับผิดชอบในการทำหน้าที่นี้ให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ไปด้วย และถ้าคิดว่าไม่อยากแบกความรับผิดชอบก็อย่ารับอำนาจไม่ต้องรับเป็นกรรมการ ไม่มีใครบังคับให้ต้องมาทำหน้าที่

แนวคิดแบบนี้ทำให้กรรมการการบริษัทต้องทำงานในหน้าที่ของตนแบบ 'พร้อมรับการตรวจสอบ' ซึ่งแนวคิดนี้ไม่เคยใช้ได้เลยกับบุคลลากรในระบบยุติธรรม แต่โดยผลของ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมานั้น การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกภาคส่วนรวมทั้งในระบบยุติธรรม ซึ่งรวมถึงผู้พิพากษาด้วย ก็จะต้องเป็นไปตามแบบ 'พร้อมรับการตรวจสอบ' เช่นเดียวกับที่กรรมการบริษัทได้ทำมาเนิ่นนานแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมถึงการกระทำการหรือละเว้นกระทำการในหน้าที่ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังไม่เข้าข่ายเป็นทุจริตด้วย เพราะถือเป็นการประพฤติมิชอบ

สังคมที่จะสงบสุขต้องมีความยุติธรรมดังนั้น การได้ทำหน้าในส่วนนี้จึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงและนอกจากจะเป็นหน้าที่แล้วยังถือเป็นอำนาจที่ให้คุณให้โทษแก่ประชาชนได้ด้วย การที่บุคคลใดจะรับอำนาจนี้จึงต้องพร้อมที่จะรับเอาความรับผิดชอบอย่างสูงที่จะต้องทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ทุ่มเททำงานเต็มกำลังความรู้ความสารถ

ก็เป็นไปตามที่ Uncle Ben คุณลุงของพระเอกได้พูดเอาไว้ในหนัง Spiderman และกลายเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ่งถึงขนาดถูกนำไปใช้ในคำพิพากษาของศาลคดีหนึ่งในสหรัฐอเมริกาด้วย

With Great Power, Comes great Responsibility

www.facebook/Weerawong: Wonderful Ways