Over-the-Top (OTT) กับการกำกับดูแล

Over-the-Top (OTT) กับการกำกับดูแล

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

รวมทั้งการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาการบริการในรูปแบบใหม่ที่ส่งผลให้การนำเสนอสื่อในรูปแบบเดิม (โทรทัศน์ ภาพยนตร์และวิทยุ) ค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า Over-the-Top (OTT) หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเองซึ่งถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน รูปแบบการให้บริการ OTT นั้นสามารถแบ่งประเภทได้พอสังเขปดังนี้ 

(1) OTT ทางด้านบริการการสื่อสาร (communication service) คือ การสื่อสารทางเสียงผ่านอินเตอร์เน็ตในกลุ่ม VoIP, LINE, WhatsApp เป็นต้น (2) OTT ทางด้านเนื้อหา เช่น LINE TV, YouTube, Apple TV, Netflix เป็นต้น และ (3) OTT ในรูปแบบโปรเเกรมประยุกต์ เช่น Twitter, Facebook เป็นต้น ซึ่งจากรูปแบบการให้บริการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ามีการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลางหรือเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารโดยมีการส่งต่อเนื้อหาและข้อมูลเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ให้บริการ OTT มีต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่าผู้ให้บริการในลักษณะเดียวกัน เช่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุ เป็นต้น เนื่องจากผู้ให้บริการ OTT ไม่ได้มีการลงทุนทางด้านการบริหารโครงข่ายหรือผลิตเนื้อหารายการของตัวเองเพื่อแพร่ภาพหรือ แพร่เสียงแต่อย่างใด

สำหรับรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ให้บริการ OTT นั้นสามารถแบ่งได้เป็น (1) รูปแบบการหารายได้จากการเก็บค่าสมาชิก (Subscription Video on Demand : SVoD) (2) รูปแบบการหารายได้จากการเก็บค่าบริการเป็นรายครั้ง (Transactional Video on Demand : TVoD) (3) รูปแบบการหารายได้จากการโฆษณา (Advertising-Based Video on Demand : AVoD) คือจะไม่เก็บค่าบริการจากผู้ใช้ปลายทางแต่จะคิดค่าบริการจากเจ้าของสินค้าและบริการ (4) รูปแบบการหารายได้จากการเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากบริการเสริม (Freemium) คือ จะเก็บจากผู้ใช้บริการต่อเมื่อผู้ใช้บริการต้องการใช้บริการเสริมที่ไม่เกี่ยวกับการใช้บริการปกติ และ (5) การให้บริการแบบไม่หารายได้ (As a Feature) เพื่อเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าของตนเข้าถึงบริการ OTT ของตนได้มากขึ้นเพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าของตนเอง

จากที่กล่าวมาข้างต้น การให้บริการ OTT นั้น ทำให้ผู้ประกอบการ OTT มีโอกาสในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ประกอบการด้านการสื่อสารรูปแบบเดิม เนื่องจาก OTT มีจุดเด่นในแง่ของการที่ผู้ชมสามารถเลือกรับชมเนื้อหาตามความต้องการ (video on demand) และสามารถใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา โดยผ่านอุปกรณ์ชนิดใดก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจดังกล่าวได้เติบโตขึ้น 10% ซึ่งทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงขึ้นและส่งผลให้เกิดปัญหาการเเย่งใช้งานสัญญาณอินเตอร์เน็ตส่งผลทำให้อินเตอร์เน็ตช้าลง เนื่องจากบริการ OTT นั้นให้บริการผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นหลักดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้ให้บริการโครงข่ายหลักต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องคุณภาพของสัญญาน ในขณะที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าว

เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ลงทุนติดตั้งโครงข่าย อีกทั้งผู้ให้บริการ OTT ก็ไม่ได้เป็นผู้ลงทุนผลิตรายการ หรือทำสถานีโทรทัศน์แต่อย่างใด ผู้ให้บริการ OTT เป็นแต่เพียงผู้รวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาเท่านั้น จึงทำให้มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการช่องทางหลักต่าง ๆ ไม่เพียงแค่นั้นผู้ให้บริการ OTT ยังไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการประมูลใบอนุญาต ไม่มีการกำกับดูแลในเรื่องราคาเช่นเดียวกับผู้ประกอบการหลัก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลักในแง่ลิขสิทธิ์ และส่งผลต่อผู้บริโภคเพราะไม่ทราบหลักแหล่งของผู้ให้บริการอีกด้วย จากที่กล่าวมาจึงทำให้เกิดคำถามได้ว่าควรมีการกำกับดูแลธุรกิจ OTT หรือไม่ อย่างไร

สำหรับการกำกับดูแลธุรกิจ OTT เราอาจศึกษาได้จากแนวทางการกำกับดูแล OTT ในต่างประเทศ สหภาพยุโรปได้อนุมัติกฎเกณฑ์ในเดือน เม.ย.2557 เพื่อให้บริษัทและบุคคลทั่วไปเข้าถึงการให้บริการออนไลน์อย่างเท่าเทียมกันและปฏิบัติตามกฎการข้ามพรมแดนของประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเพื่อสร้างตลาดยุโรปแบบครบวงจร เช่น ฝรั่งเศสและสเปนได้บล็อกผู้ให้บริการ OTT เมื่อนำเสนอบริการด้านเสียงที่เชื่อมต่อกับ Public Switched Telephone Network (PSTN) ในเกาหลีใต้ คณะกรรมการว่าด้วยการสื่อสาร (Korea Communications Commission : KCC) ได้ประกาศแนวทางความเป็นกลางในการบริหารโครงข่ายอินเตอร์เน็ต Net Neutrality (NN) อันเป็นแนวคิดในการใช้งานอินเตอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน และแนวทางการจัดการจราจรทางอินเทอร์เน็ต ในปี 2554 ในชิลีเองก็เช่นกัน ในเดือน ก.ค.2553 ได้มีการนำหลัก Net Neutrality มาใช้ในพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งชาติ 

สำหรับในประเทศไทยนั้น OTT ยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม หน่วยงานของรัฐ เช่น กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีการทำงานที่คาบเกี่ยวกันเนื่องจากการให้บริการ OTT นั้นถือเป็นทั้งการให้บริการแพร่ภาพและเสียง ในขณะที่การใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตเป็น platform จึงทำให้การกำกับดูแลต้องเป็นไปในรูปแบบของการหลอมรวมสื่อ (convergence regulation) ซึ่งในปัจจุบันไทยได้เริ่มมีนโยบายนำ OTT เข้าสู่ระบบการแสดงตัวตนแล้ว กล่าวคือ ต้องมีการยื่นแจ้งแบบการให้บริการหรือโครงข่าย OTT อีกทั้งแนวทางการใช้หลัก Net Neutrality ยังถือเป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจที่สมควรนำมาพิจารณาในอนาคตอีกด้วย.

 โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์