Think Buddy

Think Buddy

ยุคต่อไปจาก “การโค้ช” คือ “การคิด” Next practice beyond a Coach is a Think Buddy

เวลาคุณผู้อ่านมีไอเดีย “บ้าๆ” เกิดขึ้นในหัว เอาสิ่งนั้นไปแชร์กับใครครับ? หากเป็นตัวเลือกเหล่านี้ในองค์กร บทสนทนาที่ตามมาน่าจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้

You: “I have a crazy idea” หนูมีความคิดบ้าๆ อันนึง

Bad Boss: “I don’t have time” พี่ไม่มีเวลา

Good Boss: “Tell me how you are going to do it” จะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร

Co-worker: “Okay. Why don’t YOU do it first” เธอลองทำก่อนสิ

Mentor: “Don’t repeat these mistakes” อย่าทำเรื่องเหล่านี้ล่ะ

Coach: “How much have you been thinking about it?” คุณคิดถึงไอเดียนี้บ่อยแค่ไหน

มุมมองที่เสนอล้วนมีประโยชน์ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คุณมองหา คุณต้องการให้ใครสักคนรับฟังไอเดียที่มี ช่วยคิดต่อยอด ช่วยถามคำถามเปิดโอกาส ช่วยแชร์ความกระตือรือร้นที่คุณรู้สึก

คุณต้องการได้ยินแค่ “Great. I love crazy ideas. Let’s hear it.”

แต่ทำไมไม่มีใครพูดแบบนั้น? เพราะองค์กรในปัจจุบันยังไม่มีการสร้างระบบ Think Buddy ให้พนักงาน

การรีเสิร์ชเรื่อง Open Source Innovation ของผมพบว่า สาเหตุที่องค์กรขาดนวัตกรรมไม่ใช่เป็นเพราะเราขาดนวัตกร ทุกคนมีไอเดียบ้าๆ เกิดขึ้นในสมองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะตั้งใจคิดหรือเปล่า

ปัญหาคือในองค์กรทั่วไป เมื่อคนเกิดไอเดียนั้นแล้วไม่รู้จะไปแชร์กับใคร เมล็ดพันธุ์ของนวัตกรรมจึงฝ่อไปตามธรรมชาติ จนถึงจุดที่พนักงานบอกตัวเองว่าไม่รู้จะคิดไปเพื่ออะไร และสมองพวกเขาถูกสอนให้เลิกสนใจความสร้างสรรค์ที่เกิดในหัว

Chip and Dan Heath ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Switch: How to Change Things When Change Is Hard เล่าถึงบริษัทแห่งหนึ่งชื่อ Brasilata ทำบรรจุภัณฑ์ในประเทศบราซิล มีพนักงานประมาณ 900 คน สิ่งที่น่าทึ่งคือบริษัทสามารถดึงความคิดของคนเหล่านี้ออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในปี 2551 Brasilata ระดมไอเดียได้ถึง 134,846 ไอเดีย เฉลี่ยแล้ว 145.2 เรื่องต่อคน ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 อัตราความสร้างสรรค์นี้เติบโตไปถึงกว่า 200,000 ไอเดียต่อปี!

สิ่งที่ช่วยให้ความคิดของคนในองค์กรเติบโตคือ Think Buddy

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. What Is A Think Buddy? เขาคือคู่คิดที่มาช่วยทำให้ไอเดียเติบโต เค้าคือคนที่เวลาไอเดียบ้าๆ เกิดขึ้นในหัวคุณอยากวิ่งไปเล่าให้ฟัง เค้าคือคนที่ไม่สนใจว่าทำไมคุณถึงคิดมันขึ้นมา หรือไอเดียนี้เกี่ยวกับคุณแค่ไหน ไม่สนใจกระทั่งว่าเป็นไอเดียนี้เป็นไปได้หรือเปล่า สิ่งเดียวที่เขาโฟกัสคือทำอย่างไรให้มันดีขึ้น มีมุมไหนที่สามารถมองได้อีก จะเพิ่มเติมอย่างไรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยคิดว่ามีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังใดในการนำมันไปทำให้เป็นจริง

2. The Difference Is Focus ฟังเผินๆ นั่นไม่ใช่การโค้ชหรือ? ไม่ใช่ครับ ความต่างระหว่างโค้ชกับ Think Buddy คือโฟกัส หัวใจของโค้ชคือการเติบโตของโค้ชชี่ ฉะนั้นโค้ชจะโฟกัสที่บุคคลตรงหน้าเสมอไม่ว่าเรื่องที่คุยจะเป็นเรื่องใด แม้แต่คำถามของโค้ชก็จะวนเวียนอยู่กับการทำให้เจ้าตัวคิดเพื่อบรรลุคำตอบ แต่ Think Buddy โฟกัสที่ไอเดียล้วนๆ เขาไม่สนใจว่าคุณจะเติบโตหรือเปล่า เขาสนใจเพียงว่าไอเดียนั้นจะพัฒนาได้อย่างไร คิดให้เห็นภาพคือคนสองคนนั่งด้วยกัน มีไอเดียลองเคว้งอยู่ระหว่างกลาง ทั้งคู่ใช้พลังและความกระตือรือร้นที่มีในการทำให้ไอเดียนั้นเติบโตที่สุด

3. Birth of A New Practice การเป็น Think Buddy อาจฟังง่ายแต่ในชีวิตจริงยากกว่าที่คิด นั่นเพราะสมองมนุษย์มี Bias ตามธรรมชาติ มันตัดสินสิ่งต่างๆ จากองค์ประกอบไม่น้อยไปกว่าแก่นของเรื่อง เช่น ในองค์กรส่วนมาก “ใครพูด” สำคัญพอๆกับ(หรืออาจมากกว่า) “สิ่งที่พูด” ดังนั้นหากอยากให้มี Think Buddy เยอะๆ องค์กรก็ต้องลงทุนสร้าง จะสั่งสมองให้โฟกัสที่ไอเดียเพียงอย่างเดียวนั้นต้องฝึกฝน หลักสูตรการเป็น Think Buddy สอนทักษะที่สำคัญในการ “ช่วยคิด” เช่น ถามคำถามอย่างไรให้ไอเดียเติบโต จะเปลี่ยนโฟกัสอย่างไรสู่ objective, outcome, assumptions, และ perspectives ฯลฯ

หากอยากรู้ว่าองค์กรของคุณมีวัฒนธรรมการเป็น Think Buddy อยู่แล้วมากแค่ไหน ลองให้พนักงานตอบคำถามต่อไปนี้

1. คุณมีคนในองค์กรที่มักวิ่งไปแชร์ไอเดียบ้าๆ ในหัวหรือไม่? เขาคือใคร?

2. ไอเดียที่คุณมี มักจะพัฒนาเป็นผลลัพธ์ซึ่งนำไปทดลองปฏิบัติเสมอ ใช่หรือไม่?

3. ทุกๆ วันคุณตื่นเต้นและกระตือรือร้นกับการคิดอะไรใหม่ในที่ทำงาน ใช่หรือไม่?

หากคำตอบของพวกเขายังเอียงไปทาง “ไม่ใช่” ผู้นำควรเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิด Think Buddy มากขึ้นในองค์กรครับ