กฎหมายกับความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายกับความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์

ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีได้ทำให้สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

มันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กฎหมายควรมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาพสังคมเพื่อธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขโดยส่วนรวมของสมาชิกในสังคม

เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปมากในช่วงระยะเวลาที่กล่าวถึง ประชาชนมีและใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาก วิธีประกอบอาชญากรรมสลับซับซ้อนมากขึ้น ผลประโยชน์จากการกระทำความผิดมีจำนวนมากมายมหาศาล แต่การจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายเป็นไปด้วยความยากลำบากจากปัจจัยหลายประการ เช่น หลายกรณีเป็นการกระทำความผิดโดยใช้เครื่องมือสื่อสาร บางครั้งผู้กระทำความผิดอยู่ต่างประเทศ ผู้เสียหายยากที่จะทราบถึงตัวตนของผู้กระทำความผิด ไม่สามารถระบุรูปพรรณสัณฐานของผู้กระทำความผิด ไม่รู้ว่าผู้กระทำความผิดอยู่ที่ใด การกระทำความผิดทำเป็นขบวนการซับซ้อน การจับกุมผู้กระทำความผิด การติดตามเอาทรัพย์สินคืนแก่ผู้เสียหายเป็นไปได้ยาก จึงเกิดคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นอยู่ปัจจุบันเหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอาชญากรรมเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพียงใด

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (14) ได้ให้ความหมาย และแบ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ออกเป็น 3 ชนิด คือ

(ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใด ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

(ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ

(ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ 

ดังนั้น บัตรอิเล็กทรอนิกส์ไม่จำเป็นต้องมีสภาพเป็นบัตรเท่านั้น แต่อาจเป็นวัตถุลักษณะอื่นที่มีการบันทึกข้อมูลโดยประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่มีสภาพเป็นวัตถุเลยแต่เป็นข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ หรืออาจเป็นสิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อระบุตัวบุคคลก็ได้ ดังนั้นบัตรเครดิต บัตร ATM บัตรประจำตัวประชาชน บัตรที่บันทึกข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซิมการ์ดที่ใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ รหัสบัตร ATM รวมถึง Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ตลอดจนลายนิ้วมือ ลักษณะม่านตาที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เป็นต้น เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของกฎหมายอาญา บัตรอิเล็กทรอนิกส์ข้างต้นนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่ใช้ประโยชน์ทั่วไปไม่เกี่ยวกับการเงิน และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่น แทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด

ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้หลายประการ เช่น การปลอมหรือแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ การทำหรือมีเครื่องมือ หรือวัตถุในการปลอมแปลง หรือเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการปลอมแปลงบัตร การนำเข้า ส่งออกซึ่งบัตรที่ปลอมแปลง หรือการทำ การมีเครื่องมือ หรือวัตถุในการปลอมแปลง หรือเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการปลอมแปลงบัตร การจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งบัตรปลอม การใช้หรือการมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรของผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สลับซับซ้อนมากขึ้น จึงควรพิจารณาว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นอยู่เหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมาย สามารถป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิด นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองบุคคลอื่นให้ปลอดภัยและไม่ต้องเสียหายจากการกระทำความผิด การดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Ideology in criminal procedure) ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของผู้เกี่ยวข้องบางประการ ทั้งนี้รัฐที่ปกครองโดยเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามหลักนิติรัฐ (Legal state) แต่การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เพียงใดเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย มีแนวความคิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 2 แนวทางคือ 

1.แนวความคิดตามทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) เป็นรูปแบบที่เน้นประสิทธิภาพในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นหลัก ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมให้กระทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนบางประการ โดยให้น้ำหนักเพื่อมุ่งป้องกัน ระงับ ควบคุม และปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีประสิทธิภาพสูงป้องกันการกระทำความผิดและสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

2.แนวความคิดตามทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม หรือทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process Model) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มุ่งเน้นคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ความสำคัญกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายเป็นหลักสำคัญ การดำเนินการหรือพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายไม่สามารถใช้ในกระบวนการพิสูจน์ความผิดทางอาญาได้ ในสภาพการณ์ที่การกระทำความผิดอาญาไม่รุนแรงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาพึงมุ่งเน้นแนวความคิดทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม หรือทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process Model) แต่หากสภาพการณ์มีปัญหาการกระทำความผิดอาญารุนแรงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาควรปรับไปมุ่งเน้นแนวความคิดทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) ซึ่งเน้นประสิทธิภาพในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นหลัก แต่ต้องให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ด้วย

ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพสังคม เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อสร้างสมดุลของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การป้องกันการกระทำความผิด และการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่การปรับเปลี่ยนกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ทุก ๆ คนควรได้ร่วมคิด ได้ร่วมไตร่ตรองและร่วมกันกำหนด เพื่อให้กฎหมายทันสมัย เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นปกติธรรมดาด้วย

โดย... 

ธรรมรักษ์ จิตตะเสโน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์