การเข้าถึงน้ำสะอาดของชาวอาเซียน

การเข้าถึงน้ำสะอาดของชาวอาเซียน

การเข้าถึงน้ำสะอาดถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนบนโลกใบนี้ แต่ปัจจุบันยังพบว่าผู้คนในส่วนต่างๆ ของโลกกลับยังประสบความยากลำบาก

ในการเข้าถึงน้ำสะอาดด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเพราะอัตราจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การใช้น้ำทางการเกษตร การตัดไม้ทำลายป่าอันนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความแห้งแล้ง ตลอดจนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษตกค้างในหลายพื้นที่

เมื่อไมนานมานี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของกัมพูชารายงานว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกระแจะ(Kratie) และมณฑลคีรี (Mondulkiri) จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเสียชีวิตกว่า 10 ราย และนอกจากนั้นยังมีอาการหายใจไม่ออก เวียนหัว อาเจียน และแน่นหน้าอกอีกกว่านับร้อยคน หลังจากที่พวกเขานำน้ำในแม่น้ำเป๊กเต (Prek Te) มาประกอบอาหารและบริโภค โดยพบว่าแหล่งน้ำในละแวกใกล้เคียงมีสารเคมีตกค้างจากการเกษตรที่ใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้นอยู่เป็นจำนวนมาก และนอกจากนั้นยังมีอาการหายใจไม่ออก เวียนหัว อาเจียน และแน่นหน้าอกอีกกว่านับร้อยคน หลังจากที่พวกเขานำน้ำในแม่น้ำเป๊กเต (Prek Te) มาประกอบอาหารและบริโภค โดยพบว่าแหล่งน้ำในละแวกใกล้เคียงมีสารเคมีตกค้างจากการเกษตรที่ใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้นอยู่เป็นจำนวนมาก

ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบสารพิษตกค้าง และจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่คนในพื้นที่ พร้อมนำผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนได้ออกมาแสดงความกังวลว่า หากน้ำสะอาดที่รัฐจัดหาให้หมดลง พวกเขาอาจต้องกลับไปพึ่งพาแหล่งน้ำที่มีสารพิษปนเปื้อนอีก พร้อมร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐจัดหามาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดในระยะยาวได้

นอกจากสารเคมีตกค้างในแม่น้ำเป๊กเตแล้ว แหล่งน้ำอื่นๆ ที่ชาวกัมพูชาใช้ในการดำรงชีวิตก็ประสบปัญหาเช่นกัน อาทิ ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำโขงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำในฤดูฝนได้ เนื่องจากบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงน้ำหลากจะเต็มไปด้วยของเสียและมลพิษจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับชาวกัมพูชาอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้สาบโตนเลสซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ไม่อาจใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำดังกล่าวได้มากนัก เนื่องจากระบบการจัดการด้านสุขาภิบาลที่ยังขาดประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เปิดเผยว่า ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 140 ล้านคน ต่างก็ประสบกับปัญหาดังกล่าว เช่น ประชาชนทางภาคเหนือของลาวจำนวนมากมีอาการท้องร่วง เพราะพวกเขาใช้น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสารเคมีตกค้างจากอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงชุมชนบางแห่งในเวียดนาม แม้จะสามารถเข้าถึงน้ำประปาได้ แต่ก็พบว่าผู้ใช้น้ำจำนวนหนึ่งมีผื่นขึ้นตามตัว เนื่องจากเครื่องบำบัดน้ำของโรงงานผลิตน้ำประปาไม่สามารถบำบัดสารพิษที่เจือปนมากับน้ำได้

สำหรับประเด็นการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลนั้น องค์การอาเซียนได้ตระหนักว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชากรอาเซียน ตามที่ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ได้ระบุไว้ในมาตรา 28(e) ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration: AHRD) โดยในปี 2560 ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ออกมาเน้นย้ำว่า ผู้คนจำนวนมากในอาเซียน โดยเฉพาะผู้ลี้ภัย ชนกลุ่มน้อย ชาวพื้นเมือง และบุคคลไร้รัฐยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มและสุขาภิบาลได้ พร้อมคาดหวังว่าชาติสมาชิกอาเซียนจะร่วมผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและเพียงพอต่อความต้องการให้ได้ภายในปี 2573 เพื่อสอดคล้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) ว่าด้วยการจัดการน้ำและสุขาภิบาล

ทั้งนี้ ในปี 2553 สหประชาชาติโดยสมัชชาใหญ่องค์กรสหประชาชาติได้ยกระดับความสำคัญของปัญหาดังกล่าวขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ ผ่านความเห็นชอบในมติ 64/292 ระบุให้การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (human right to water and sanitation) พร้อมสนับสนุนให้รัฐและองค์กรระหว่างประเทศดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านการจัดหาน้ำดื่มสะอาดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเพียงพอต่อความต้องการตามที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้อยู่ที่ 50-100 ลิตร/คน/วัน

 โดย...  

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) สกว.ฝ่าย1