กับดัก Skills Mismatch และความท้าทายสู่ Education 4.0

กับดัก Skills Mismatch และความท้าทายสู่ Education 4.0

ในอีก 20 ข้างหน้า ในปี 2579 ไทยจะมีสัดส่วนของคนสูงอายุถึงร้อยละ 30 ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลงเหลือ14% และ 56% ตามลำดับ

 การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อโลก ธุรกิจและรูปแบบการสร้างงานที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรม ส่งผลให้งานหลายงานจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร รวมทั้งเกิดอาชีพใหม่ๆ ล้วนเป็นความท้าทาย บทความนี้จะประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในมิติของทักษะแรงงานว่าอยู่ที่ไหน และแรงงานจะมีผลิตภาพสูงขึ้นปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างไร และการศึกษาและการฝึกอบรมจะมามีบทบาทอย่างไรที่ช่วยยกระดับศักยภาพทุนมนุษย์ของไทยให้พร้อมต่อ Thailand 4.0 ได้

1.Skills Mismatch คือความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะของแรงงานกับทักษะที่ต้องใช้ในโลกการทำงาน มีได้หลายรูปแบบ แต่งานศึกษา OECD (2014) แบ่งไว้ 3 รูปแบบ1) Qualification Mismatch คือ แรงงานมีระดับวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับทักษะที่จำเป็นต่องานที่กำลังทำอยู่2) Field of Study Mismatch คือ แรงงานจบการศึกษาในสาขาที่ไม่ตรงกับงานที่ทำ และ 3) Skills Mismatch คือ แรงงานมีความสามารถไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ซึ่งรูปแบบสุดท้ายวัดได้ยากสุดเนื่องจากขาดการรวบรวมข้อมูลทักษะของแรงงาน

2.กับดัก Skills Mismatch: เรียนสูง ทำไมยังตกงานจากที่คนไทยเชื่อกันมานานในเรื่องของการศึกษาว่าเรียนให้สูงไว้ จะได้หางานได้และมีรายได้ดี แต่จากตัวเลข สำนักงานสถิติ ณ พ.ค. 2561 ที่ชี้ว่า แรงงานที่มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไปว่างงานถึง 1.7 แสนคน หรือ 43% ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 4.0 แสนคน ขณะที่แรงงานที่ไม่มีการศึกษาว่างงานเพียง 3 พันคนเท่านั้น หรือถ้าเรานำข้อมูลจำแนกตามระดับการศึกษาของคนทำงานปัจจุบัน ความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ (Demand Side) และแรงงานจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน (Supply Side) มาวิเคราะห์พร้อมกัน ชี้ว่าตลาดแรงงานไทยมีปัญหาความไม่สอดคล้องด้าน “Qualification Mismatch” คือ สัดส่วนความต้องการแรงงานที่จบวุฒิปริญญาตรีมีน้อยกว่าจำนวนแรงงานจบใหม่ที่มีวุฒิปริญญาตรี ในภาพรวม 

ปัจจุบันมีคนทำงาน 37.5 ล้านคน กว่า 80% กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีการศึกษาน้อย และมีเพียง 16% เท่านั้นที่มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป และสัดส่วนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนักจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) (รูป 1)

กับดัก Skills Mismatch และความท้าทายสู่ Education 4.0

สอดคล้องกับภาพด้าน Demand Side พบว่าสัดส่วนความต้องการแรงงานวุฒิปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 15 ขณะที่สัดส่วนความต้องการแรงงานที่จบ ปวช. ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 51 ความต้องการแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการศึกษาระดับต่ำสะท้อนว่าระดับเทคโนโลยีการผลิตของไทยยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยไทยเป็นเพียงผู้รับเท คโนโลยีมาใช้งานและไม่ได้เป็นผู้พัฒนาเองจึงทำให้กลุ่มแรงงานที่ต้องการนั้นเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักรอุปกรณ์และใช้นวัตกรรมเท่านั้น แต่มีข้อสังเกตว่า สัดส่วนของความต้องการแรงงานประเภทไม่จำกัดวุฒิสูงขึ้นถึงหนึ่งในสี่ของทั้งหมด สะท้อนว่าบริษัทอาจต้องการพัฒนาฝึกฝนทักษะที่จำเป็นให้แก่แรงงานเอง

อย่างไรก็ตาม สถิตินี้กลับสวนทางกับด้าน Supply Side ซึ่งแรงงานจบใหม่วุฒิปริญญาตรีขึ้นไปมีอยู่ถึงประมาณร้อยละ 60 โดยมีค่านิยมของผู้ปกครองและนักเรียน รวมทั้งความต้องการแรงงานการศึกษาสูงในอดีต นโยบายการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และนโยบายจบปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาท เป็นแรงผลักดันให้มีความต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาตรีมากขึ้น (ปวีณวัฒน์และเวชบรรยงรัตน์ (2558, 2560)) เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาสูงไม่สามารถหางานที่ตรงกับวุฒิได้ ส่งผลให้สัดส่วนผู้ว่างงานที่มีวุฒิปริญญาตรีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ งานวิจัยยัง ชี้ว่าประมาณร้อยละ 60 ของแรงงานวุฒิปริญญาตรีที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่หลังปี 2533 ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษา (Overeducation) เทียบกับร้อยละ 20 ของแรงงานกลุ่มเดียวกันที่เข้าสู่ตลาดในช่วงก่อนปี 2523 ซึ่งมีนัยต่อระดับรายได้ที่แรงงานได้รับในช่วงการทำงาน

ตลาดแรงงานไทยมีความไม่สอดคล้องด้าน “Field of Study Mismatch” ด้วยเช่นกัน คือ คนไทยนิยมเรียนสายสังคมศาสตร์ โดยในระดับมัธยมเรามีนักเรียนในสายศิลป์อยู่ถึง 70% และอีก 30% อยู่ในสายวิทย์ สัดส่วนของสองสายนี้ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา จากข้อมูล สนง. คณะกรรมการการอุดมศึกษาชี้ว่าสัดส่วนผู้จบปริญญาตรีขึ้นไปในสาย STEM (Science, Technology, Engineer and Mathematics) ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนเนื่องจากเป็นสาขาที่เน้นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาประเทศ อยู่ที่ 21% ต่ำกว่า 27.6, 27.3 และ 26.7% ในฟินแลนด์ เยอรมนี และสวีเดน และสัดส่วนนี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการจากตลาดแรงงานซึ่งต้องการคนจบสาย STEM ถึง 41% (รูป2) 

กับดัก Skills Mismatch และความท้าทายสู่ Education 4.0

3.เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกกับ Education 4.0 ด้วยโครงข่าย Internet of Things เปลี่ยนโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการทำงาน เทคโนโลยีส่งผลให้งานที่ใช้ทักษะทำซ้ำเป็นประจำ (Middle Skills) มีแนวโน้มจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรขณะที่งานNon-routine Manual (Low Skills) ใช้ทักษะหลากหลายและต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและงานใช้ทักษะสูง (High Skills) ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงแนวโน้มการจ้างงานในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ที่เห็นการลดลงของสาขาอาชีพ เช่น งานสำนักงาน และงานการผลิตและโรงงาน และเห็นการเพิ่มขึ้นของสาขาอาชีพ เช่น งานบริหารธุรกิจและการเงิน งานคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ และสถาปนิกและวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

เทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้บ่งชี้ว่าเราควรกลับไปย้อนคิดว่า ”การศึกษาเพื่อสร้างทักษะแห่งอนาคตควรเป็นอย่างไร” นักการศึกษาให้วิสัยทัศน์ เป้าหมายของการศึกษา คือ การสร้างพลเมืองที่ดีของประเทศ สร้างโอกาสทำงาน สร้างความหมายของชีวิต เสริมสร้างสติปัญญา และสร้างความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การศึกษาเพื่ออนาคต (Education 4.0) จะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเรียนรู้ด้วย Project-based เน้นความคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทยอย่างมาก ดังคำกล่าวที่ว่า “We can’t educate today’s students for tomorrow’s world with yesterday’s schools”

      4.Lifelong Learning สร้างผลิตภาพจากคนทุกกลุ่มไทยต้องการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้โมเดล “Thailand 4.0” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม แต่การเข้าสู่สังคมสูงวัยมีคนทำงานน้อยลงทำให้ไทยต้องรีบออกจากกับดักSkills Mismatch เร่งสร้างผลิตภาพแรงงานจากคนทุกกลุ่มในสังคม ดังนี้

กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ควรเปลี่ยนทัศนคติ หันมาศึกษาในสิ่งที่ตนเองถนัดและตลาดต้องการ รวมทั้งฝึกฝนทักษะด้านคิดวิเคราะห์ เทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ กลุ่มคนทำงานและธุรกิจ ควรพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้ง Upskill และ Reskill เพิ่มผลิตภาพ กลุ่มประชาชนทั่วไป/ผู้สูงอายุ รัฐและเอกชนควรส่งเสริม Lifelong Learning ในทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการสร้างธุรกิจ คล้ายกับแนวโมเดลของรัฐบาลสิงคโปร์ นอกจากนี้รัฐควรมีนโยบายด้านค่าจ้างแก่กลุ่มผู้จบอาชีวศึกษาให้เหมาะสมกับทักษะ ส่งเสริม Credit Bank System ที่แรงงานสามารถสะสมความรู้ และประสบการณ์เพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป หากทำได้เช่นนี้เชื่อได้ว่าเราจะเป็นคนไทย 4.0 ได้ในไม่ช้า

“Education is not about filling a bucket but lighting a fire” Irish Poet, William Butler Yeats

______________________________

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความเห็นของผู้เขียนซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดย... 

ดร. เสาวณี จันทะพงษ์

นางสาวกานต์ชนิต เลิศเพียรธรรม