อนาคตสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

อนาคตสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

จะเป็นอย่างไร หากในอนาคตธนาคารกลางจะออกเงินในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มอีกประเภท โดยสามารถนำไปใช้ได้ไม่ต่างจากเงินสดที่ใช้ในปัจจุบัน

เป็นที่ทราบกันดี การใช้เงินสดแบบปัจจุบัน มีข้อเสียหลายประการ เช่น มีต้นทุนในการผลิตเหรียญกษาปณ์และการพิมพ์ธนบัตร มีต้นทุนในการพกพาและเสี่ยงถูกโจรกรรม รวมถึงสามารถใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมายโดยไม่มีหลักฐานได้ ดังนั้น จึงมีแนวคิดว่าหากประชาชนสามารถใช้เงินดิจิทัลในรูปแบบคล้ายกับ Bitcoin แต่ออกโดยธนาคารกลาง น่าจะได้ประโยชน์ทั้งจากความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางผู้ออกสกุลเงิน และจากการเป็นสังคมที่ไร้เงินสด (Cashless Society) ที่ทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ลดลง บทความนี้จึงขออธิบายถึงสกุลเงินดิจิตัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies : CBDC) รวมถึงคาดการณ์อนาคตของ CBDC ดังนี้

CBDC คือ อะไร

CBDC คือ เงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ออกโดยธนาคารกลาง โดยกำหนดให้มีมูลค่าไม่ต่างจากเงินสดที่ใช้ในปัจจุบัน หรืออาจกำหนดให้นำไปใช้ในวงจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ในทางทฤษฎีธนาคารกลางสามารถออกแบบ CBDC ในหลายลักษณะ เช่น แบบ Wholesale ที่ใช้สำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงระหว่างสถาบัน เช่น การทำ Interbank payment/Settlement system เท่านั้น คนทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ และแบบ Retail สำหรับธุรกรรมรายย่อย หรือแบบที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้

CBDC ในลักษณะหลังนี้ย่อมสามารถกำหนดให้ดอกเบี้ยได้ไม่ต่างจากเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) (อาจจะต่างตรงที่เงินสดหากไม่ฝากไว้กับ ธพ. ก็เท่ากับไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ย แต่ CBDC อาจไม่จำเป็นต้องมีธพ. แต่ระบบจะจ่ายดอกเบี้ยให้ได้ตามนโยบายของธนาคารกลาง)

ดังนั้น CBDC จึงมีลักษณะแตกต่างจาก Crypto ที่เอกชนเป็นผู้ออก เช่น Bitcoin และ Ripple โดย Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกในลักษณะที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ออกได้ โดยให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกหรือกระบวนการขุด ส่วน Ripple เป็นการออกโดยองค์กรธุรกิจหรือภาคเอกชนที่สามารถระบุตัวผู้ออกได้ชัดเจน

CBDC ไม่ใช่ e-Money

ขณะที่ CBDC คือ เงินสกุลใหม่ที่ธนาคารกลางประสงค์จะจัดทำในแบบดิจิทัล แต่ e-Money คือ มูลค่าเงินที่บันทึกหรือเก็บไว้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรพลาสติก หรือ e-Wallet (โดยยังเป็นเงินสกุลท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่) โดยผู้ใช้บริการได้ชำระเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้ให้บริการ e-Money ดังนั้น e-Money จึงมีลักษณะเก็บมูลค่าของเงินที่เราใส่เข้าไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการซื้อสินค้าหรือบริการ (Stored Value)

ธนาคารพาณิชย์จะถูกลดบทบาทลง หากมีการจัดทำ CBDC แบบที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้?

ใช่ และยังเป็นการเพิ่มบทบาทให้ธนาคารกลางด้วย เนื่องจากการจัดทำ CBDC จะใช้ BlockChain/Distributed Ledger Technology (DLT) ที่จะทำให้ทุกคนในระบบเชื่อมถึงกันแบบ peer-to-peer และระบบสามารถจดบันทึกธุรกรรมการโอน (Record & Timestamp) ของผู้ถือเหรียญแต่ละคนในระบบ (Nodes) ได้อย่างถูกต้องและโปร่งใส ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องมี ธพ. ในฐานะผู้ทำหน้าที่รับ/โอนเงิน ปรับยอดบัญชี หรือจดแจ้งการโอนจึงหมดไป โดยระบบ DLT จะจดแจ้งการโอนในลักษณะกลุ่ม ซึ่งทุกคนในระบบจะจดแจ้งการโอนไปพร้อม ๆ กัน โดยข้อมูลต่าง ๆ จะถูกรวมศูนย์ที่ธนาคารกลาง ซึ่งเท่ากับว่า ธนาคารกลางจะอยู่ใน Platform เดียวกันกับทุกคนในระบบ และอาจตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเงินดิจิทัลทั้งระบบได้

การเปิดบัญชีจำเป็นต้องเปิดกับธนาคารกลางเท่านั้นหรือไม่?

คำตอบคือ แล้วแต่ธนาคารกลางผู้ออก โดยหากใช่ หมายความว่าธนาคารกลางมีหน้าที่ใน การทำกระบวนการในการรู้จักลูกค้า (Know-Your-Customer: KYC) และอาจมีหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงินและกฎหมายภาษี เช่น หักเงินได้ ณ ที่จ่าย ของผู้ถือ CBDC เพื่อนำส่งสรรพากร (ในกรณีที่มีการจ่ายดอกเบี้ย) ซึ่งภาระเหล่านี้จะเพิ่มบทบาทและค่าใช้จ่ายให้กับธนาคารกลางเป็นอย่างมาก แต่ หากไม่ใช่  ธนาคารกลางก็อาจสูญเสียอำนาจในการกำกับตรวจสอบไป

การใช้ CBDC จะทำให้ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้ใช้หมดไปหรือไม่

ประเด็นดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการกำหนดค่าการปกปิดข้อมูล (Anonymous) ของระบบ โดยสกุลเงินดิจิทัลบางสกุล สามารถกำหนดรูปแบบให้ปกปิดข้อมูลบางอย่างในธุรกรรมได้ กล่าวคือ Blockchain/DLT ทำให้ทุกคนในระบบเชื่อมถึงกันและมีการจดบันทึกที่โปร่งใสแบบ Real-time แต่สิ่งที่ทุกคนในระบบเห็นอาจเป็นเพียงชุดข้อมูลที่แสดงถึงบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบ (Nodes) แต่ไม่ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของ User แต่ละคน ดังนั้น ธุรกรรมจึงอาจไม่ผ่าน KYC ก่อนเข้าระบบ ซึ่งลักษณะนี้อาจขัดแย้งกับกลไกการตรวจสอบของภาครัฐ ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า CBDC ไม่ควรตั้งค่าให้มีลักษณะขัดแย้งกับกลไกกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ความเป็นไปได้ของ CBDC

ผู้เขียนเชื่อว่า แนวคิดเรื่อง CBDC เกิดขึ้น เพราะผู้กำกับตัวสอบเล็งเห็นในประโยชน์ของ Blockchain/DLT แต่สำหรับ Crypto ที่ออกโดยเอกชนนั้น รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ยังไม่ยอมรับให้เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal tender) แต่เมื่อไม่สามารถระงับการเกิดของ Crypto ได้ การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทจึงจำเป็นต้องกำกับผ่านผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวกลาง หรือธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแทน เช่น การกำกับ Exchanges หรือ Dealers ของ พ.ร.ก. ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เป็นต้น

ในปัจจุบันหากพิจารณาจากทิศทางของผู้กำกับตรวจสอบทั่วโลก พบว่าการออก CBDC ในแบบใช้แทนเงินสดยังมีประเด็นข้อโต้แย้งอยู่มาก โดยทั้งกลุ่ม G20 และ รัฐบาลสหรัฐไม่มีทีท่าสนับสนุนการจัดทำ CBDC หรือแม้แต่ประเทศเอกวาดอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยทำ CBDC ในรูปแบบการมีบัญชีที่ธนาคารกลาง ก็ได้ยกเลิกระบบดังกล่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากประสบปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชน

 ในขณะที่ Wholesale CBDC เพื่อใช้ Settlement ระหว่างสถาบันมีความเป็นไปได้สูงในการนำไปใช้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งได้แก่โครงการอินทนนท์-คริปโตบาท

ท้ายที่สุด การจัดทำ CBDC ไม่ว่าจะในรูปแบบใด การวางสมดุลที่เหมาะสมในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของระบบ การพิสูจน์ตัวตน และกลไกของกฎหมายกำกับดูแล เป็นเรื่องที่ผู้กำกับตรวจสอบไม่อาจมองข้ามได้

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน