ทำไมคนห่วงเศรษฐกิจโลกจะเกิดวิกฤต

ทำไมคนห่วงเศรษฐกิจโลกจะเกิดวิกฤต

จากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้ 3 เรื่อง คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรป

 เริ่มมีการพูดถึงว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งความเห็นนี้แตกต่างจากนักวิเคราะห์ในตลาดการเงินส่วนใหญ่ที่มองว่าความเสี่ยงที่มีอยู่ น่าจะเพียงทำให้เศรษฐกิจชะลอลง แต่ไม่ถึงกับเกิดเป็นวิกฤติ 

ในความเห็นของผม ความห่วงใยว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเกิดวิกฤตินั้นเป็นข้อสังเกตที่ประมาทไม่ได้ เพราะปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนแอหลายอย่างที่อาจผลักดันตัวเองเข้าไปในสถานการณ์นั้นได้ โดยเฉพาะถ้าการทำนโยบายประมาทและไม่ระมัดระวัง วันนี้เลยอยากเขียนเรื่องนี้ เพื่อให้เข้าใจว่าความห่วงใยในเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรและมีเหตุมีผลหรือไม่ 

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือ วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997/98 และวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ปี 2008/09 เกิดห่างกันเพียง 10 ปี ซึ่งแต่ละครั้งจะสร้างความเสียหายมาก และใช้เวลาแก้ไขนาน ซึ่งถ้าศึกษาจาก 2 วิกฤตินี้จะพบว่าในทั้ง 2 มีหลายอย่างที่คล้ายกัน จนทำให้เราเรียนรู้ถึงลักษณะความอ่อนแอที่อาจนำไปสู่การเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้ ลักษณะเหล่านี้ก็คือ

1.วิกฤติจะมีสาเหตุหลักมาจากความเป็นหนี้ในระบบเศรษฐกิจที่มีมากจนเกิดปัญหาชำระหนี้ เป็นชนวนไปสู่การเกิดวิกฤติ หนี้จะเกิดจากการกู้ยืมโดยภาครัฐและเอกชนเพื่อนำมาใช้จ่ายและลงทุนจนเศรษฐกิจใช้จ่ายเกินตัว เงินกู้เหล่านี้จะทำผ่านระบบธนาคารที่ได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ที่เป็นต้นทางของเงินที่นำมาปล่อยกู้ กล่าวคือ เงินทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นหรือลงทุน คนที่ขายหุ้นหรือสินทรัพย์ก็จะนำเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารก็นำเงินฝากนี้ไปปล่อยกู้ต่อให้กับภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนหรือภาครัฐ ผลคือ ความเป็นหนี้ในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น ประเทศใช้จ่ายมากขึ้น เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการคลัง สร้างความไม่สมดุลและความอ่อนแอให้กับเศรษฐกิจ 

  1. หนี้ที่สูงขึ้นมีภาระต้องชำระคืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นปกติความสามารถในการชำระหนี้จะมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและต้นทุนอัตราดอกเบี้ย คือ ถ้าเศรษฐกิจดี อัตราดอกเบี้ยต่ำ คนที่กู้เงินจะมีรายได้ และจะสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่มีปัญหา แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ขยายตัวต่ำ อัตราดอกเบี้ยตลาดปรับสูงขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ก็จะถูกกระทบ คือ อาจไม่มีรายได้พอชำระหนี้ และภาระหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอ และวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้จะถูกกระทบ ทำให้ผู้กู้บางรายอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ เกิดการผิดนัดชำระหนี้ สร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้เพิ่มขึ้น กระทบฐานะของธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญ การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศที่มักจะมากับวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ก็จะทำให้ค่าเงินของประเทศที่มีหนี้และมีเงินไหลออกอ่อนค่าลง สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับลูกหนี้ที่กู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศ เหล่านี้เป็นความเปราะบางที่จะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจที่มีหนี้มาก เมื่อความสามารถในการชำระหนี้ถูกกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ย แต่ความเปราะบางเหล่านี้ยังไม่เกิดเป็นวิกฤต เพราะการผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นเป็นรายๆ ไม่ได้เป็นปัญหาของทั้งระบบหรือของลูกหนี้ส่วนใหญ่ ผู้ให้กู้ยังมีความมั่นใจกับเศรษฐกิจ 
  2. ความเปราะบางจะกลายเป็นวิกฤตก็ต่อเมื่อมีตัว Trigger เข้ามากระทบทำให้เกิดความไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งระบบเศรษฐกิจ จนนักลงทุนเฮโลขายทรัพย์สินที่ลงทุนอยู่ทิ้ง เพื่อนำเงินกลับเพื่อความปลอดภัย เกิดเงินทุนไหลออกรุนแรง ค่าเงินอ่อนลงต่อเนื่อง เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้น ลูกหนี้ไม่สามารถต่อสัญญาเงินกู้ได้ ธนาคารลดการปล่อยกู้จนธุรกิจขาดสภาพคล่อง และเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด ตัว Trigger นี้อาจเป็นการเปลี่ยนนโยบายสำคัญ เช่น การลดค่าเงินหรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน หรือการล้มของธนาคารพาณิชย์ อย่างกรณีวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 ที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อระบบเศรษฐกิจ และต่อความสามารถในการชำระหนี้จนเกิดเป็นวิกฤติ

นี่คือ 3 ลักษณะที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจวิเคราะห์จากช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโลกก็มีลักษณะดังกล่าวอย่างน้อย 2 ใน 3 ลักษณะให้เห็น ทำให้การดำเนินนโยบายของประเทศที่มีหนี้มากจากนี้ไปต้องไม่ประมาท กล่าวคือ 

  1. ความเป็นหนี้ในระบบเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นวงเงินรวมประมาณ 240 ล้านล้านดอลล่าร์ โดยประมาณ61 ล้านล้านเป็นหนี้ของรัฐบาลอัตราส่วนระหว่างหนี้ต่อรายได้ประชาชาติของรัฐบาลสหรัฐขณะนี้อยู่ที่ 105%  ขณะที่บางประเทศในกลุ่มยุโรป เช่น อิตาลี อัตราส่วนเดียวกันจะสูงถึง 130% ที่สำคัญ 40% ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นที่เอเชีย โดยเฉพาะจีน ทำให้ปัญหาความเป็นหนี้เกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศหลักของโลก นอกจากนี้ คุณภาพของหนี้ก็ค่อนข้างต่ำ คือ มีเพียงหนี้ของ 11 รัฐบาล และหนี้เอกชน 2 บริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในความสามารถชำระหนี้ระดับดีเลิศ แสดงว่าความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ส่วนใหญ่ ทั้งในภาครัฐและเอกชนไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สูง 
  2. ปัจจุบันวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกกำลังเป็นขาขึ้น จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อภาระการชำระหนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากนี้ไป จากผลของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับสูงขึ้น รวมถึงผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งจะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและรายได้ของประเทศที่มีหนี้ ดังนั้น ทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยและทิศทางเศรษฐกิจจากนี้ไปจะไม่เอื้อต่อการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้มากต่อปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอกชนและฐานะของสถาบันการเงิน กดดันเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ จากความเปราะบางที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่ ถ้าการบริหารจัดการในประเทศที่มีหนี้มากไม่ระมัดระวังพอ จนเกิดเหตุการณ์ที่ trigger หรือทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความสามารถในการชำระหนี้ของเศรษฐกิจ ความเปราะบางที่มีอยู่ก็อาจพลิกผันเป็นสถานการณ์แบบวิกฤตได้ ทำให้ความห่วงใยที่พูดถึงในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้