หนี้ครู หนี้โลก (แตก)

หนี้ครู หนี้โลก (แตก)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องหนี้สินก่อให้เกิดเหตุการณ์น่าสนใจทั้งในระดับบุคคลและในระดับโลก เหตุการณ์ระดับบุคคลได้แก่หนี้สินของครูซึ่งตอนนี้

คงเป็นที่รับรู้กันอย่างทั่วถึง หลังจากครูกลุ่มใหญ่ออกแถลงการณ์ ปฏิญญามหาสารคาม เพื่อกดดันให้เจ้าหนี้ผ่อนปรน หากเจ้าหนี้ไม่ทำตาม พวกเขาจะงดชำระหนี้ สำหรับในระดับโลก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ” (Institute of International Finance) แถลงว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หนี้สินของชาวโลกซึ่งรวมหนี้ทุกระดับจากของบุคคลไปจนถึงของรัฐเพิ่มขึ้นอีก 8 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 247 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 318% ขอผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีของชาวโลก

จากมุมมองของผู้มีภูมิหลังทางด้านการเรียนครู เศรษฐศาสตร์และการพัฒนา เหตุการณ์ทั้ง 2 อาจมองได้ว่ามีความแตกต่างกันมากเนื่องจากปัจจัยอันหลากหลาย หรืออาจมองได้ว่าเกิดจากปัจจัยเดียวกัน นั่นคือ ความมักง่ายทั้งในระดับบุคคลและในระดับรัฐ

ตามปกติ ทุกสังคมมีผู้ที่มีรายได้ที่ตนเองใช้ไม่หมดจึงเก็บไว้ในรูปใดรูปหนึ่งซึ่งอาจเรียกรวม ๆ ว่า “เงินออม” หลักเกณฑ์พื้นฐานมีอยู่ว่าถ้าเจ้าของยินยอม เงินออมนี้อาจมีผู้กู้ยืมไปใช้ทั้งในด้านการลงทุนและการสนับสนุนการกินอยู่ประจำวัน ซึ่งภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกรวมกันว่าการบริโภค ผู้กู้ยืมไปลงทุนจะต้องมั่นใจว่าการลงทุนจะก่อให้เกิดกำไรสำหรับนำไปใช้คืนตามจำนวนที่กู้ยืมมาพร้อมกับค่าตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ส่วนผู้กู้ไปบริโภคก็จะต้องมั่นใจว่าตนจะมีรายได้ในอนาคตสูงพอสำหรับทำเช่นเดียวกัน หลักเกณฑ์พื้นฐานยังคงเดิมแม้ในปัจจุบันนี้นับวันโลกจะมีกลไกสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นก็ตาม

การลงทุนอาจไม่ประสบผลสำเร็จตามคาดส่งผลให้ผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระหนี้ได้ สังคมมักมีทางออกให้ เช่น การประนอมหนี้ โดยทั่วไปอัตราของความไม่สำเร็จจะไม่สูง ผลกระทบของมันจึงอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ดี บางทีอาจมีผู้มักง่ายจำนวนมากกู้ยืมเพื่อนำไปใช้เก็งกำไรในนามของการลงทุน กรณีเช่นนี้มักมีผลกระทบร้ายแรงในแนวของเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในเมืองไทยและ “ความถดถอยครั้งใหญ่” ในอเมริกา รัฐมีหน้าที่ดูแลให้แน่ใจว่าการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางที่สร้างความเสียหายจะไม่เกิดขึ้น แต่ในหลาย ๆ กรณีรัฐมีปัญหาสาหัสทั้งจากความฉ้อฉลของคนของรัฐและจากแนวคิดที่ผิดเพี้ยน

ส่วนการยืมไปบริโภคนั้นตามหลักเกณฑ์พื้นฐานควรทำเป็นการชั่วคราว แต่นับร้อยปีหลักเกณฑ์นี้ถูกละเมิดซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวของรัฐ หนี้ของครูอนุมานได้ว่ามาจากการกู้ไปบริโภคเพราะครูมีอาชีพอยู่แล้วคงมีน้อยคนที่กู้ไปลงทุน เนื่องจากครูมีความรู้พื้นฐานถึงขั้นปริญญา ปัญหาหนี้สินของครูยากที่จะมองว่ามาจากนโยบายของฝ่ายรัฐ หากมาจากความมักง่ายของครูส่วนใหญ่ที่กู้ยืมไปใช้กินอยู่เกินฐานะของตน

อนึ่ง โดยทั่วไปรัฐกู้ยืมเงินออมไปใช้แบบแทบไม่ต่างกับบุคคลยกเว้นในด้านการเก็งกำไร รัฐอาจผิดพลาดได้จากปัจจัยหลายอย่าง นโยบายใช้เงินนำหน้าแก้ปัญหาและประชานิยมเป็นความมักง่าย นโยบายกระตุ้นการบริโภคต่าง ๆ รวมทั้งการทำงบประมาณขาดดุลในภาวะปกติด้วยความจงใจมักไม่เหมาะสม ส่วนความฉ้อฉลโดยคนของรัฐเป็นความมักง่ายที่ก่อให้เกิดมะเร็งในสังคม

หนี้สินจำนวนมากเป็นเสมือนตรวนล่ามขาทำให้การเดินไปข้าง หรือการพัฒนาเป็นไปได้ยาก ครูที่มีหนี้ท่วมท้นจนชำระไม่ได้คงขาดแรงใจในการสอนเด็กและพัฒนาตนเอง ครูที่ขู่ว่าจะ ชักดาบหรืองดชำระหนี้ย่อมเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่เด็ก บริษัทห้างร้านเลิกกิจการเพราะไม่สามารถกู้ยืมทุนหมุนเวียนได้ต่อไปอีก ภาครัฐขาดงบประมาณสำหรับสร้างปัจจัยพื้นฐานเพราะต้องกันรายรับมากขึ้นไว้ชำระหนี้ ปัญหานี้มีทางแก้อย่างไรคงถกเถียงกันแบบไม่รู้จบทำให้มองได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตก แต่ถ้ามองว่าต้นตอของปัญหามาจากความมักง่ายพร้อมกับจริงใจจะแก้ ทางแก้น่าจะมองเห็นได้ไม่ยากโดยเริ่มจากการลดความมักง่ายในรูปของการกินอยู่เกินฐานะ การเก็งกำไร นโยบายใช้เงินนำหน้าแก้ปัญหาและประชานิยม และความฉ้อฉลโดยคนของรัฐ