AI (ความฝัน VS ความจริง)

AI (ความฝัน VS ความจริง)

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในระยะที่ผ่านมา

ทั้งในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆด้านอย่างก้าวกระโดด พร้อมๆไปกับความกลัวที่มนุษย์จะสูญเสียตำแหน่งงานให้กับ AI ไปในอนาคต

จริงๆแล้ว AI ในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้นั้นมีศักยภาพมากเท่าที่เราเข้าใจกันอยู่หรือไม่ หรือเป็นเพียงความฝันที่ยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกลกว่าที่คิดกว่าจะถึงจุดหมาย

Apoorv Saxena หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของ Google ได้ให้ความเห็นว่า แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ AI จะถูกพัฒนาจนก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญที่มีมาตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ การเข้าใจภาพ และเสียงพูด โดยการแยกแยะเสียงพูดของ AI นั้น มีความซับซ้อนเหนือกว่ามนุษย์ไปแล้ว แต่ AI ก็ยังคงมีข้อจำกัดในการที่จะถูกฝึกฝนอยู่ดีเมื่อเทียบกับมนุษย์ โดยมนุษย์นั้นไม่ได้จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยการเห็นรูปภาพถึง 40,000 รูป เพื่อให้แยกแยะได้ว่าภาพไหนคือ “แมว” ในขณะที่เด็กเล็กๆสามารถเรียนรู้ได้เพียงจากการเห็นแมว 2 ตัว ก็สามารถทราบได้ว่าตัวไหนคือ “แมว” และตัวไหน คือ “สุนัข”

แม้ว่าความสามารถของ AI ในเรื่องเฉพาะส่วนจะเหนือกว่ามนุษย์ไปแล้ว แต่ในเรื่องทั่วๆไปที่ต้องใช้เหตุผล ความเข้าใจ และ การหาเหตุที่จะให้ได้ผลลัพธ์ดังที่ต้องการ ยังคงเป็นเรื่องที่ AI ยังไม่สามารถสู้กับเด็กอายุ 5 ขวบได้ นั่นคือ AI นั้นยังไม่มีความสามารถที่ดีพอที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองโดยปราศจากมนุษย์ หรือเรียนรู้ภายใต้ข้อมูลที่จำกัดได้ และยังไม่มีพัฒนาการใดๆในช่วงที่ผ่านมา ที่บ่งบอกว่า AI จะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับรถยนตร์ไร้คนขับ (Self – Driving Car) นั้น Vijay Kumarคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ University of Pennsylvania มองว่า การผลิตรถยนตร์ไร้คนขับ ที่สามารถใช้งานได้จริงเป็นการทั่วไปนั้น ต้องใช้ “ข้อเท็จจริง และตัวเลข”(Data)จำนวนมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ข้อมูล”(Information)ก่อนที่จะกลายมาเป็น “ความรู้”(Knowledge)ในที่สุด ซึ่งข้อเท็จจริงและตัวเลขขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ในโลกแห่งการปฏิบัติจริงนั้น จะต้องมีจำนวนมากมายมหาศาล มากกว่านิยามของ “Big Data” ที่คนทั่วไปเข้าใจกันอยู่

และแม้ว่าทุกวันนี้ซอฟท์แวร์การจดจำและแยกแยะวัตถุ ทั้งที่เป็นภาพนิ่ง หรือ ภาพเคลื่อนไหว (Object Recognition) ใน Facebook จะมีความแม่นยำสูงถึง 90% แต่การเพิ่มความแม่นยำขึ้นเป็น 99% นั้น ต้องใช้ Dataเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และการเพิ่มความแม่นยำขึ้นเป็น 99.9% นั้น ต้องใช้ Data ที่มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งการที่รถยนตร์ไร้คนขับจะมีความแม่นยำเพียง 90% หรือแม้กระทั่ง 99% ก็ถือว่ายังไม่ปลอดภัยพอ หากมีชีวิตคนเป็นเดิมพัน ดังนั้น กว่าที่เราจะรู้สึกมั่นใจได้ว่ารถยนตร์ดังกล่าวจะขับขี่อย่างปลอดภัยได้จริงๆ ก็จะต้องใช้เวลาอีกนานมาก มิใช่เพียงแค่ปีสองปีอย่างที่คาดกัน

แล้วการที่ AI จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์โดยสิ้นเชิง มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด Nicolas Aguzin ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ของ J.P. Morgan ได้ให้ความเห็นว่าการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่าง Blockchain นั้น มีโอกาสสูงที่จะทำให้สถาบันการเงินไม่ต้องจ้างบุคคลที่สามมาสอบยันข้อมูลอีกต่อไป ซึ่งตำแหน่งงานที่น่าจะหายไปนั้น เป็นตำแหน่งงานที่ไม่ได้ใช้แรงงานสูง คือเป็นตำแหน่งงานในระดับกลางๆนั่นเอง

แล้วตำแหน่งงานอะไรบ้างที่มีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วย AI น้อยที่สุด จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะพบว่างานบริหารที่ต้องใช้เหตุผล การตัดสินใจอย่างรอบด้าน และความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นนั้น ความสามารถของ AI ยังคงห่างไกลจากมนุษย์อยู่มาก ในขณะเดียวกันงานที่ใช้แรงงานสูง เช่น งานทำความสะอาดบ้าน เสิร์ฟอาหาร ฯลฯ นั้นก็ยากที่จะพัฒนาให้มีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับมนุษย์

ดูเหมือนว่ามนุษย์ยังมีเวลาที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง โดย AI นั้นยังไม่น่าจะเป็นเหมือนในหนังฮอลลีวู้ดที่เคยเห็นกัน อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของเรานี้