จุดชี้เป็นชี้ตายธุรกิจจีน

จุดชี้เป็นชี้ตายธุรกิจจีน

ใครๆ ในจีนตอนนี้ต่างก็กังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสงครามการค้าที่ร้อนระอุระหว่างจีนและสหรัฐฯ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ศ.สวี่เสี่ยวเหนียน อาจารย์ด้านบริหารธุรกิจชื่อดังของ China Europe International Business School (CEIB) กลับมาแหวกแนว โดยท่านให้ความเห็นว่า นักธุรกิจจีนควรกังวลเรื่องอื่นมากกว่า

เราอาจสรุปคำบรรยายของท่านเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจในระยะยาว ภาพใหญ่ในระยะสั้น และโอกาสที่ยังมีอยู่ในภาพเล็กในระดับธุรกิจ ซึ่งจะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายที่แท้จริงของธุรกิจจีน

ภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจในระยะยาว คือ จีนกำลังหมดยุคอุตสาหกรรม และเข้าสู่ยุคแห่งการบริโภค ปัจจุบัน รัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป สมัยก่อนในยุคอุตสาหกรรม รัฐบาลจีนสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ด้วยการลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ในช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินมหาศาลเพิ่มกำลังการผลิตและการก่อสร้าง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่วันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว ยิ่งอัดฉีดเงินลงทุนมาก ผลกลับทำให้ปัญหาการผลิตเกินตัว (overcapacity) ยิ่งรุนแรง นอกจากนั้น โครงการสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ก็แทบไม่มีเหลือให้ลงทุนแล้ว เพราะเทคอนกรีตสร้างถนน สะพาน อาคาร รถไฟความเร็วสูง กันเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของจีนสามารถเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ แต่มาวันนี้ การเพิ่มปริมาณเงินไม่มีผลดีอะไร เพราะสิ่งที่ขาดแคลนในตลาดไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นโครงการที่น่าสนใจที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี การอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ มีแต่จะสร้างผลเสียทำให้เงินเฟ้อยิ่งขึ้น

ภายใต้ภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ธุรกิจจีนจึงจำเป็นต้องปรับตัว จากเดิมขอเพียงมีความสามารถในการรวบรวมทรัพยากรก็พอ ดังเช่นธุรกิจจีนในอดีตที่รุ่งเรือง เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและสถาบันการเงิน ใช้ทรัพยากรของรัฐและเงินทุนในการพัฒนาสินค้าได้ แต่มาวันนี้ ตลาดเริ่มมีสินค้ามากมายแน่นตลาด ขณะที่ดีมานด์มีจำกัด ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าให้แตกต่าง เพื่อจะสามารถสร้างดีมานด์ใหม่สำหรับสินค้าของตนโดยเฉพาะ

ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจมือถือ วันนี้จะสำเร็จได้ ไม่เพียงต้องมีความสามารถในการหาที่ดิน หาทุนมาสร้างโรงงานจนผลิตมือถือออกมาได้ แต่ยังต้องมีการออกแบบมือถือที่ทันสมัย มีนวัตกรรมและลูกเล่น จนผู้บริโภคต้องการซื้อมือถือของแบรนด์นี้ ธุรกิจยุคใหม่จึงต้องคิดใหม่ ต้องสร้างตลาดและดีมานด์ใหม่ เพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างและโดนใจผู้บริโภค สภาพการเปลี่ยนแปลงของภาพใหญ่ของเศรษฐกิจจีนมีแต่จะกดดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองเพื่ออยู่รอด

สำหรับภาพใหญ่ในระยะสั้น เศรษฐกิจจีนเผชิญความท้าทาย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ปัญหาการผลิตเกินตัวและปัญหาหนี้ที่พอกพูนของธุรกิจ ส่วนอีกเรื่องคือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดย ศ.สวี่เสี่ยวเหนียนมองว่าทั้งสองเรื่องมีความไม่แน่นอนสูง อาจคลี่คลายไปในทางดีหรือเลวได้ทั้งนั้นตามตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไป และตามเกมการค้าของทั้งสองฝ่าย

ท่านให้ความเห็นว่า แทนที่ธุรกิจจะวิตกกังวลเกี่ยวกับภาพใหญ่ในระยะสั้น ควรมองไปที่โอกาสที่ยังมีอยู่ในภาพเล็กในระดับธุรกิจจะเป็นประโยชน์มากกว่า นี่จะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายที่แท้จริงของธุรกิจจีน โดยโอกาสในภาพเล็กมี 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การรวมธุรกิจเพื่อความแข็งแกร่ง ศ.สวี่เสี่ยวเหนียนมองว่าธุรกิจในแต่ละภาคการผลิตของจีนมีลักษณะกระจัดกระจายมากเกินไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการรวมและจัดธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อให้สายการผลิต การทำ R&D และการบุกตลาดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน จีนมีบริษัทรถยนต์มากกว่า 70 บริษัท ในขณะที่ในสหรัฐฯ มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ดังนั้น การประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนจึงสู้ของสหรัฐฯ ไม่ได้ และยังทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์จีนทุ่มให้กับ R&D ได้น้อยกว่าในสหรัฐฯ เพราะเงินทุนการทำ R&D ก็แตกกระจายไปด้วย

เรื่องที่สอง คือ การยกระดับการบริโภค คนจีนมีแนวโน้มจะเลือกซื้อสินค้าราคาสูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น มีลูกเล่นมากขึ้น เทรนด์ในวงธุรกิจของจีนที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น ธุรกิจด้านรักษาสุขภาพ รักษาพยาบาล การชะลอวัย ซึ่งตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งเทรนด์ธุรกิจบันเทิง กิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งตอบโจทย์คนเมืองและวัยรุ่นยุคใหม่

เรื่องสุดท้าย คือ การยกระดับเทคโนโลยี ซึ่งมี 2 ลู่ทาง ลู่ทางแรก คือ การพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ หัวเหว่ย ซึ่งให้ความสำคัญกับ R&D อย่างมาก ส่วนอีกลู่ทางหนึ่งก็คือ ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วที่อื่นในโลกมาพัฒนาสินค้าของตน

ศ.สวี่เสี่ยวเหนียน ย้ำเน้นว่า 3 เรื่องข้างต้นคือโอกาสของธุรกิจจีน ธุรกิจใดคว้าโอกาสเหล่านี้ไว้ได้ กล่าวคือ เดินหน้าควบรวมกับกิจการใกล้เคียงเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เดินหน้ายกระดับสินค้าเพื่อตอบเทรนด์การบริโภคยุคใหม่ และเดินหน้ายกระดับเทคโนโลยี ย่อมสามารถอยู่รอดได้แม้ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจในภาพใหญ่

นักธุรกิจไม่ควรกังวลกับสภาพเศรษฐกิจในภาพใหญ่มากจนเกินไป เพราะเศรษฐกิจภาพใหญ่จะรุ่งหรือร่วงล้วนกระทบทุกคนเท่าเทียมกัน สิ่งที่ควรใส่ใจคือ จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์และดึงดูดผู้บริโภคให้ได้

ท่านสรุปว่า ถ้าถามว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมใดจะไปรุ่ง ท่านจะตอบว่า ทุกภาคอุตสาหกรรมล้วนรุ่งโรจน์ต่อไปได้ทั้งนั้น ในโลกนี้ไม่มี Sunset industry หรืออุตสาหกรรมที่กำลังร่วงโรยหรอกครับ จะมีก็แต่ Sunset company คือบริษัทที่กำลังร่วงโรยเพราะไม่ปรับตัว

ไม่ว่าในภาคอุตสาหกรรมใดก็มีทั้งบริษัทที่กำลังร่วงโรยและบริษัทที่สามารถปรับตัวต่อเนื่องจนรุ่งโรจน์ได้ครับ